“ATSI Channel” แหล่งความรู้โลกดิจิทัล

ภาพจาก Facebook : ATSI – The Association of Thai software Industry

สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยเตรียมเปิด ATSI Channel ช่วงปลายเดือน ต.ค. หรือเดือน พ.ย.นี้ เพื่อสื่อสารถึงประชาชนให้มีความเข้าใจและใช้ประโยชน์จากดิจิทัลได้มากขึ้น สามารถรับชมผ่านช่องทางดิจิทัล ทั้งยูทูป เฟซบุ๊ก และเว็บไซต์ของ ATSI

ทินกร เหล่าเราวิโรจน์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (ATSI) กล่าวว่า แนวคิดการทำช่อง ATSI Channel มาจากอดีตนายก ATSI สมพร มณีรัตนะกูล ที่เห็นว่าเมื่อเกิดวิกฤติไวรัสโควิด-19 การที่ประชาชนจะเข้าถึงสื่อหรือเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะข้อมูลด้านดิจิทัลเป็นเรื่องสำคัญ จึงมีแนวคิดที่จะเปิดช่องที่เรียกว่า ATSI Channel โดยมีจุดประสงค์เพื่อสื่อสารกับประชาชนมากขึ้น บ่อยขึ้น เพื่อให้คนเข้าใจและใช้ประโยชน์จากดิจิทัลได้มากขึ้น

ทินกร เหล่าเราวิโรจน์

โดยได้ผู้ที่มาช่วยให้คำแนะนำ คือ ไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว อดีตผู้บริหารของสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซีป้า (SIPA) ที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า (DEPA) และได้ วิชัย วรธานีวงศ์ ผู้จัดรายการวิทยุ และสื่อมวลชนสายไอที มาเป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นผู้จัดการโครงการนี้ด้วยซ้ำ

รายการแรกที่ ATSI Channel จะทำชื่อว่า “ไอทีดีเบต” คอนเซ็ปต์ก็คือ การนำหัวข้อที่คนสนใจและมีผลกระทบกับเขามาถกกันอย่างถึงพริกถึงขิง เช่น เรื่องของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ซึ่งเป็นประเด็นร้อน เพราะเรื่องนี้จะเป็นกฎหมายที่เข้ามาบังคับประชาชนทุกคนในประเทศจะต้องไม่ปฏิบัติผิดกฎหมายเรื่องของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลคือข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวเรา ทั้งชื่อเรา เบอร์โทร ที่อยู่ ซึ่งมีอยู่ในธุรกิจและธุรกรรมต่างๆ ต่อไปสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นข้อมูลที่ขอกันไม่ได้ง่ายๆ อีกแล้ว จะต้องมีขั้นตอน วิธีการ

ทินกร กล่าวว่า ในรายการ “ไอทีดีเบต” วิชัยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ มีทั้งทนายความ ผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล มาถกกันว่าธุรกิจต่างๆ จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ถ้าเกิดความเสียหายขึ้นมาจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ถ้าเกิดความผิดพลาดขึ้นแล้ว ความเสียหายจะเป็นอย่างไร จะต้องถูกฟ้องร้องหรือถูกดำเนินการอย่างไร

“สิ่งที่เรากลัวกันก็คือนี่เป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่เรื่องดิจิทัลมีผลกับคนอย่างมาก เรากลัวว่าถ้าเราปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง ธุรกิจต่างๆ อาจจะถูกฟ้องร้องจนถึงขนาดต้องล้มละลาย เพราะค่าปรับเคสละเป็นล้านบาท ถ้ามีหลายๆ เคส จะเสียค่าปรับไหวหรือไม่ เคสนี้เราถ่ายทำไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้นำออกเผยแพร่”

ทินกร กล่าวว่า ATSI Channel ตั้งใจจะเผยแพร่ในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ หรือเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้ง โดยจะใช้ช่องทางใหม่ๆ เป็นช่องทางดิจิทัล ทั้งยูทูป เฟซบุ๊ก ให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด รวมทั้งเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของสมาคม คือ atsi.or.th เป็นการทำหลายๆ แพลตฟอร์มในเวลาเดียวกัน   @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น