เศรษฐกิจในยุค AI ประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมอย่างไร? ไม่ตกขบวน

การทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมเรื่อง AI ต้องเป็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ บริษัท ประชาชน รวมทั้งมหาวิทยาลัย ที่จะต้องสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้เทคโนโลยีด้านนี้ และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ

ผศ.ดร.จิรพล สังข์โพธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ อาจารย์ประจำหลักสูตรปริญญาตรีนวัตกรรมและการแปรรูปทางดิจิทัล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ เอไอ (AI) หมายถึงความฉลาดเทียมที่สร้างขึ้นให้กับสิ่งที่ไม่มีชีวิต ซึ่ง AI เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่เพิ่งมาก้าวหน้าในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมานี้ ด้วยเรื่องของคอมพิวเตอร์ที่เร็วขึ้น มีการประมวลผลได้ดีขึ้น ทำให้ AI ก้าวหน้าไปไกลมาก

ผศ.ดร.จิรพล สังข์โพธิ์

ความก้าวหน้าของ AI ปัจจุบัน แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก AI ที่ตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมได้ เช่น จำหน้าเราได้ เข้าใจสิ่งที่เราพูด และเก่งกว่ามนุษย์ไปแล้วในบางเรื่อง เช่น เกมหมากรุก เกมหมากล้อม กลุ่มที่สอง AI ที่คิดแทนเราได้แล้ว เช่น การวิเคราะห์หุ้น การวิเคราะห์สินเชื่อของธนาคาร

กลุ่มที่สาม AI ที่แอคติ้งได้ เช่น หุ่นยนต์ รถยนต์ไร้คนขับ ซึ่งเริ่มเข้ามาแล้ว แต่ยังไม่ได้แพร่หลายมาก ยังไม่ใช้ในระดับผู้บริโภค เป็นกลุ่มที่อยู่ในช่วงกำลังพัฒนาและดีขึ้นเรื่อยๆ ส่วน 2 กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่เก่งมากแล้ว

ปัจจุบันเกือบทุกอุตสาหกรรมมีการศึกษาว่าจะเอา AI มาใช้อย่างไร เช่น ในทางการแพทย์ ใช้ AI วิเคราะห์อาการของคนไข้ว่าเป็นโรคอะไร หรืออ่านฟิล์มเอ็กซเรย์ เรื่องของไฟแนนซ์ ใช้ AI วิเคราะห์เงินกู้ หรือใช้ตรวจจับบริษัทบัตรเครดิต ที่มีการฉ้อโกง เรื่องอุตสาหกรรม เช่น การขายปลีก ใช้ AI ในการวิเคราะห์ลูกค้า ส่วนภาครัฐก็เอา AI มาใช้เยอะ เช่น ใช้วิเคราะห์เรื่องภาษี

 

AI จะมีส่วนช่วยในการสร้างงานใหม่ๆ หรือเอาคนเข้ามาทำงานทางด้าน AI ส่วนที่คนมองว่า AI ทำให้คนตกงานมากขึ้นนั้น ที่คนตกงานไม่ใช่เพราะงานหายไป แต่เพราะตัวงานถูกยกระดับด้วยเทคโนโลยี ซึ่งคนที่ไม่พัฒนาตัวเองจะตกงานแน่นอน

ส่วนคนที่จะไม่ตกงาน ต้องมีสกิลเยอะๆ ต้องมีความรู้ ต้องตามให้ทัน สามารถใช้เทคโนโลยีช่วยในการทำงานได้ นอกจากนี้ AI ยังช่วยในเรื่องของโปรดักส์ใหม่ๆ หรืออินโนเวชั่นที่เกิดใหม่ ที่เราได้ยินคำว่าสมาร์ตทั้งหลาย เช่น สมาร์ตคาร์ สมาร์ตซิตี้

การทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมเรื่อง AI นั้น ไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง แต่จะต้องเป็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐที่ต้องช่วยสนับสนุนเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ส่วนประชาชนจะต้องไม่หยุดที่จะเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง ขณะที่บริษัทต่างๆ ต้องพยายามมองหาโอกาสในการใช้ AI มาพัฒนาธุรกิจตัวเอง และพัฒนาคนเพื่อให้สามารถนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ได้ และมหาวิทยาลัยจะต้องผลิตหลักสูตรให้ทันสมัย พัฒนาคนให้ทันกับความต้องการของภาครัฐและเอกชน

การทำให้ AI มีความพร้อมในประเทศไทยนั้น ในส่วนของภาครัฐดำเนินการอยู่แล้ว หลายกระทรวงได้ให้ความสำคัญและสนับสนุนเรื่องนี้ ที่สำคัญคือคนไทยทุกคนจะต้องมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต ต้องใฝ่รู้ ต้องมีแรงจูงใจในตัวเอง ต้องมีระเบียบ ต้องมีความอดทนที่จะเรียนรู้ ต้องมีความคิดใหม่ๆ

เมื่องานหายไป ก็ต้องรู้จักสร้างงานใหม่ๆ ขึ้นมา อย่าหยุดอยู่กับที่ อย่ารอทุกอย่างประเคนมาให้เอง ทั้งนี้ ภาครัฐมีส่วนสำคัญที่จะทำอย่างไรให้คนส่วนใหญ่รู้จักที่จะปรับตัวเอง โดยภาครัฐอาจมีรางวัลบางอย่างให้กับประชาชนที่มีการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจ  @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น