ธุรกิจโรงแรมไทย..จะไปต่อ ต้องบริหารจัดการ อย่างไร?

 วิกฤติโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบไปทั่วโลก โดยเฉพาะผลกระทบกับเศรษฐกิจ ธุรกิจใหญ่เล็กไม่มียกเว้น จนทำให้หลายธุรกิจประสบปัญหาผลประกอบการทรุดหนัก อาทิ ธุรกิจการท่องเที่ยว และโรงแรม เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประทศไทย ซึ่งโรงแรมเป็นธุรกิจที่มีค่าใช้จ่ายคงที่สูงมาก จะต้องมีอัตราการเข้าพักประมาณ 40% จึงจะคุ้มค่าต่อการลงทุน แต่ขณะนี้อัตราการเข้าพักบางโรงแรมในเมืองท่องเที่ยว ยกตัวอย่าง ที่ จ. ภูเก็ต อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 10-20% เท่านั้น

ภาวะเช่นนี้ ถ้าผู้ประกอบการไม่เปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการภายใน ไม่ปรับเปลี่ยนการบริหารด้านการเงิน ธุรกิจก็จะดำเนินต่อไปได้อย่างยากลำบากแน่นอน เพราะวิกฤติครั้งนี้ยังไม่รู้จุดจบ แม้ว่ามีความหวังจากการมีวัคซีน แต่ก็ยังอยู่ในขั้นทดลอง จึงขอแนะนำให้ผู้ประกอบการที่มีจำนวนห้องพักจำนวนมากๆ ควรจัดการแบ่งเป็นส่วนๆ เปิดเป็นชั้นๆ หรือ เปิดเป็นพื้นที่ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับขนาดของอุปสงค์ คือ ความต้องการที่ลดน้อยลง

ดังนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องบริหารจัดการทรัพย์สินใหม่ หรือแผนการดำเนินงานในส่วนของพนักงานที่จะต้องสลับการทำงานกันในแต่ละหน้าที่ ให้สอดคล้องกับแผนธุรกิจ ที่กำลังจะเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ ในเรื่องของอาหารที่ให้บริการ หรือ บริการอื่นๆ ก็ต้องเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับสถานการณ์ด้วย เพราะผู้ที่มาเที่ยว มาใช้บริการในห้วงเวลาเช่นนี้ ส่วนใหญ่ คือ คนไทย สำหรับผู้ที่จะมาพักระยะยาว อาหารการกินก็อาจต้องเปลี่ยนไปตามเชื้อชาติ ศาสนา หรือวิถีชีวิต ที่บุคคลดังกล่าวเชื่อถือ

ส่วนผู้ประกอบการโรงแรมที่ขาดแคลนเงินทุนอย่างหนัก ไม่มีกระแสเงินสดพอที่จะประคองธุรกิจ ถึงขั้นต้องขายกิจการนั้น ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำลังออกกฎระเบียบว่าด้วยการจัดตั้งกองทุนเพื่ออสังหาริมทรัพย์ หรือ ไพรเวท อิควิตี้ ฟันด์ (Private Equity Fund)

ซึ่งเป็นกองทุนที่ระดมเงินทุนจากผู้ลงทุนสถาบัน มีหลายบริษัทจัดการกองทุนรวมกำลังจะก่อตั้งกองทุนเหล่านี้ขึ้นมา เพื่อซื้อสินทรัพย์โรงแรม เข้าใส่ในกองทุนฯ และมีเงื่อนไขให้เจ้าของโรงแรมมีสิทธิซื้อคืนภายหลังจากวิกฤติโควิด-19 คลี่คลาย คาดว่าเดือนตุลาคมนี้ น่าจะมีการดำเนินการเรื่องนี้ได้ และประมาณเดือนธันวาคม น่าจะเห็นผลในหลายโครงการ

นอกจากนี้ ในด้านการบริหารการเงิน ต้องไปเจรจากับธนาคารเจ้าหนี้ เพื่อขอประนอมหนี้ ขยายเวลาการผ่อนชำระหนี้ พักชำระเงินต้น อาจขอพักเป็นเวลาประมาณ 2 ปี รอเศรษฐกิจฟื้น โดยขอจ่ายดอกเบี้ยอย่างเดียวไปก่อน หรือ จ่ายบางส่วน ที่เหลือก็แขวนหนี้ไว้ รอสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย เพราะตอนนี้ยังไม่รู้ว่าโควิด-19 จะจบเมื่อไร และจบอย่างไร!!!

@

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น