Self Declaration “ไม้” ช่วยสร้างเศรษฐกิจชุมชนได้อย่างไร?

Self Declaration การรับรองแหล่งที่มาของไม้ที่ปลูก โดยใช้เทคโนโลยีซอฟต์แวร์บันทึกข้อมูลหลักฐานเกี่ยวกับไม้ที่ปลูก ช่วยให้หน่วยงานรัฐตรวจสอบความถูกต้องได้ ทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยไม้ในชุมชนประสบความสำเร็จ สร้างรายได้ให้เกษตรกรที่ปลูกสวนป่า

ธนพล ต่อสิทธิเดชกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท บิสซิเนส คอมเพ็ดทิทีฟ อินเทลลิเจนซ์ จำกัด และอุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย กล่าวว่า Self Declaration คือการที่เราสามารถที่จะนำ หรือบันทึกข้อมูลแหล่งที่มาของไม้ที่เราปลูก หรือตัดเพื่อขาย ให้เจ้าหน้าที่รัฐ หรือผู้ซื้อในกรณีส่งออก ว่าไม้ของเราได้มาอย่างถูกต้อง คือ ตัดในพื้นที่ที่เป็นที่ดินเอกชน ไม่ใช่ป่าไม้ หลังจากมีการยกเลิกมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 คือยกเลิกการตัดไม้หวงห้ามในที่ดินของตัวเอง

ธนพล ต่อสิทธิเดชกุล

แล้วมีมาตราใหม่ เรียกว่ามาตรา 18/1 คือสามารถตัดไม้ของตนเองที่อยู่ในที่ดินกรรมสิทธิ์ของตนเองได้ โดยที่เราจะนำข้อมูลที่เราจะตัด แจ้งต่อกรมป่าไม้เลยหรือยังไม่แจ้งก็ได้ ซึ่งเรียกว่าภาคสมัครใจ และเราก็มีสิทธิที่จะบันทึกและเก็บข้อมูลไม้ของเราไว้เป็นหลักฐาน ถ้าถูกหน่วยงานรัฐตรวจสอบ เราก็นำข้อมูลต้นตอของไม้ที่เรานำไปขายมาแสดงให้เจ้าหน้าที่ดู

ในการนำเทคโนโลยีมาใช้หรือมาช่วยในส่วนของการทำ Self Declaration ก็คือการทำแอปพลิเคชันขึ้นมา ให้บันทึกลักษณะพันธุ์พืช ชนิดพันธุ์ เริ่มปลูกเมื่อไร อยู่ตรงไหนผ่านกูเกิลแมพ ในส่วนของพื้นที่ ส.ป.ก. อีกไม่นานคงมีข่าวดี สามารถที่จะทำ Self Declaration ได้ ซึ่งไม้เป็นสิ่งมีค่าเหมือนเป็นสินทรัพย์ ธ.ก.ส.ก็มีโครงการธนาคารต้นไม้ ภาคเอกชนก็มีทำเรื่องพวกนี้ ถือเป็นการสร้างเศรษฐกิจชุมชนในอีกมิติหนึ่ง

 

 

ในส่วนของระบบเทคโนโลยี เราสามารถใช้แอปพลิเคชัน หรือซอฟต์แวร์ในการที่จะระบุไม้ท่อน หรือผลิตภัณฑ์จากไม้ แล้วใส่รายละเอียดของไม้ หรือผลิตภัณฑ์จากไม้ของเราทั้งหมดเข้าไปในระบบคิวอาร์โค้ด เมื่อมีการสแกนคิวอาร์โค้ด ก็จะบอกถึงแหล่งที่มาของไม้ว่ามาจากไหน เมื่อมีการสงสัย หรือมีการสวมตอ ก็ติดต่อเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบได้เลย ซึ่งเรื่องนี้ตรวจสอบได้ด้วยความรวดเร็ว ข้อมูลทั้งหมดสามารถสแกนดูผ่านมือถือได้เลย ต่างจากกระบวนการภาครัฐที่จะมีขั้นตอนมากกว่า ทำให้การค้าขายล่าช้า

ส่วนเรื่องการรับรองไม้ ตอนนี้ทางกรมป่าไม้พยายามผลักดันมาตรา 18/3 คือการที่กรมป่าไม้อาจจะรับรองหน่วยงาน หรือสถาบันอื่นๆ เข้ามาช่วยงานกรมป่าไม้ในการรับรองไม้ เพื่อให้การรับรองไม้สะดวกขึ้น ซึ่งกรมป่าไม้พยายามเร่งให้เกิดมาตรานี้อยู่

ธนพล กล่าวว่า ตอนนี้เราทำซอฟต์แวร์ในภาคใต้ ให้ชาวสวนยางพาราที่จะส่งไม้ยางพาราให้กับโรงเลื่อย และจะมีโครงการเกิดขึ้นอีกภายในเดือนนี้ที่ จ.ชลบุรี ทำวนเกษตร ทำทะเบียนไม้หวงห้าม และไม้ความเสี่ยงสูง จะทำให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นในเรื่องการยืนยันตัวตน หรือแหล่งที่มาของไม้ให้กับเกษตรกร ส่วนผู้ที่รับซื้อไม้ หากยังมีข้อกังวลเรื่องซอฟต์แวร์นี้ ก็สามารถดับเบิลเช็กเรื่องเอกสารต่างๆ กับภาครัฐได้ ทั้งใบขออนุญาตตัด และใบนำเคลื่อน

ในอนาคตเรากำลังผลักดันและรอคอยที่จะร่วมมือกับกรมป่าไม้ คือ ตัวซอฟต์แวร์ที่เราทำ เราอยากให้ข้อมูลของเราลิงก์ตรงไปยังระบบฐานข้อมูลที่กรมป่าไม้ ถ้าข้อมูลที่เกษตรกรที่ปลูกไม้ยิงตรงเข้าไปขออนุญาต ตรงกับกรมป่าไม้ และกรมป่าไม้มีระบบตรวจสอบ และ Auto Approve ได้ ตรงนี้จบเลย เพราะจะเป็นข้อมูลเดียวกันแล้ว ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมไม้แบบไหน ถ้าข้อมูลเชื่อมต่อกับระบบฐานข้อมูลที่กรมป่าไม้ผ่านอินเตอร์เน็ตได้ก็จะสบายเลย การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยไม้ก็จะประสบความสำเร็จ และสร้างรายได้ให้เกษตรกรที่เลือกจะทำเรื่องสวนป่า

เรื่อง Self Declaration ปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้จัก ยังต้องมีการประชาสัมพันธ์อีกเยอะ ซึ่งเรื่องนี้ต้องเป็นความร่วมมือของทุกหน่วยงาน เพราะเป็นงานใหญ่ เป็นการสนับสนุนการปลูกไม้ทั้งประเทศ และมีการแบ่งไม้มาสร้างรายได้เพื่อเลี้ยงตัวเองที่อยู่ในชุมชน ทั้งนี้ มาตรา 18/1 , 18/2 เพิ่งเกิด การประชาสัมพันธ์เพิ่งเริ่มต้น ก็คงต้องเร่งดำเนินการต่อไป เพื่อให้ชาวบ้านที่เลือกอาชีพนี้ได้รู้ว่าเขาทำอะไรได้บ้างที่จะเป็นประโยชน์กับตัวเอง ในสิ่งที่เขาลงทุนไปเมื่อหลายสิบปีก่อน

ธนพล กล่าวว่า ตอนนี้ประเทศไทยมีปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งที่กระทบมาก่อนหน้านี้ และถูกซ้ำเติมด้วยโควิด-19 มีการเลิกจ้าง ชาวบ้านที่เคยทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมก็ต้องกลับชนบท ขณะเดียวกันเรามีกลุ่มอนุรักษ์อยู่ทั่วประเทศ เป็นอาสาสมัครในรูปแบบต่างๆ ที่จะรักษาป่า ปลูกป่า แต่ถ้าวันนี้เขาไม่มีรายได้เลยจากพิษเศรษฐกิจ โอกาสจากที่เขาเป็นผู้ดูแลหรือผู้อนุรักษ์ เขาอาจมีความจำเป็นบางอย่างที่ต้องตัดไม้ขึ้น

ถ้าเรานำเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ที่จะไปนำผลิตภัณฑ์จากป่า ซึ่งมีเยอะมาก ทั้งสมุนไพร น้ำผึ้ง เห็ด ไปขายได้ แต่การขายต้องมีกลยุทธ์ เพราะพวกนี้เป็นของสด อยู่ได้ไม่นาน ถ้ามีกระบวนการเพิ่ม Value เพิ่มคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์จากสวนป่าของชุมชน ก็จะทำให้การกระจายสินค้าง่ายขึ้น เพราะสามารถเก็บได้นานขึ้น

ถ้าเราแปรรูปใส่ Value เข้าไปหลายๆ วิธี เราก็จะเพิ่ม Value และมีเวลาที่จะกระจายสินค้าไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่การจะกระจายสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศนั้น จะต้องทำข้อมูลให้ถูกต้องและไว้ใจได้ ไม่อย่างนั้นผู้บริโภคก็จะไม่กล้าซื้อ ถ้าเราเอาระบบสารสนเทศ หรือเทคโนโลยี ไปจับในกระบวนการแปรรูปได้ ก็จะผ่านมาตรฐานต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นที่จะซื้อสินค้า  @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *