จาก Health Tech startup พลิกชีวิตสู่วิถีเกษตรโลกใหม่!!

ภาพจาก Facebook : เขาไม้แก้ว ฟาร์มสเตย์ ปราจีนบุรี

จากธุรกิจ Startup สาย Health Tech มุ่งสู่การทำเกษตรอินทรีย์ที่ชุมชนเขาไม้แก้ว จ.ปราจีนบุรี ใช้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ไปต่อยอดสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ ด้วยการทำโฮมสเตย์ ท่องเที่ยวเชิงการเกษตร แปรรูปสินค้า ช่วยทำแพ็กเกจจิ้ง

วลัยพรรณ ฉันท์มิตรกุล ประธานฝ่ายบริหาร ZeekDoc เริ่มต้นทำธุรกิจ Startup ด้วยการทำแพลตฟอร์ม ZeekDoc เมื่อช่วง 5 ปีที่แล้ว โดยมีทั้งเว็บไซต์ ZeekDoc.com และแอปพลิเคชั่น ZeekDoc ที่ช่วยในการค้นหาแพทย์ใกล้บ้าน นัดหมายออนไลน์ เป็นระบบที่ช่วยให้คนไข้ช่วยเลือกแพทย์เฉพาะ สามารถเจาะถึงระดับอนุสาขาได้ แต่ก่อนจะเริ่มทำ ZeekDoc วลัยพรรณ มีแนวคิดที่อยากจะทำเกษตร แต่ช่วง 5 ปีที่แล้ว ตอนนั้นอายุ 29 ปี เกรงว่าจะเร็วเกินไปที่จะเริ่มทำเกษตร เลยทำ ZeekDoc ก่อน

วลัยพรรณ ฉันท์มิตรกุล

จุดเริ่มต้นที่ทำให้วลัยพรรณสนใจทำเกษตร เนื่องจากเห็นคนเป็นโรคมะเร็งมากขึ้น และพบในผู้ป่วยที่อายุน้อยลง แม้กระทั่งเด็กเพิ่งเกิดก็เป็นมะเร็ง และพบว่าการป้องกันหรือชะลอโรคนี้ก็คือการทานอาหารปลอดภัยที่ไม่มีสารเคมี

จึงเริ่มปลูกผัก และเลี้ยงไก่ 2 ตัว ที่บ้านในกรุงเทพฯ แต่รู้สึกว่าพื้นที่ในบ้านเล็กเกินไป อยากได้ฟาร์มใหญ่ๆ จึงตัดสินใจซื้อที่ที่ จ.ปราจีนบุรี เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ที่ ต.นาแขม ซึ่งแถวนั้นไม่ค่อยมีชุมชน หาแรงงานยาก ตอนนั้นขับรถไปเสาร์อาทิตย์ ไปปลูกต้นไม้ ไปดูต้นไม้ ผ่านไป 1 ปี ไม่มีความคืบหน้าเท่าไร

ต่อมาได้รู้จักพี่พยาบาลที่โรงพยาบาลกบินทร์บุรี เขาทำเกษตรที่เขาไม้แก้วและชวนไปเที่ยวที่บ้าน เมื่อไปเที่ยวบ้านเขาก็รู้สึกชอบ ติดใจบรรยากาศ ซึ่งบริเวณนั้นมีวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์เขาไม้แก้ว เป็นชุมชนที่ทำเกษตรอินทรีย์ มีตลาดขายส่งเลมอนฟาร์ม ขายส่งตามโรงพยาบาล พี่เขาชวนมาอยู่ที่เขาไม้แก้ว ซึ่งเราก็อยากเป็นสมาชิกของที่นี่ จึงขอซื้อพื้นที่เล็กๆ ของเขา แล้วมาสร้างบ้านอยู่

ตัดสินใจสร้างบ้านเดือนเมษายน แต่สั่งไปตั้งแต่เดือนมกราคม ตอนนั้นโควิด-19 ยังไม่มา เมื่อโควิด-19 มา จึงเป็นเวลาที่เหมาะสมในการสร้างบ้านแบบ Full time ไม่มีความกังวลเรื่องต้องเดินทางไปๆ มาๆ ก็มาปักหลักสร้างบ้านตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา สร้างบ้านเสร็จใน 4 วัน เนื่องจากเป็นบ้านน็อคดาวน์ แล้วได้มาเรียนรู้การทำเกษตรจากวิสาหกิจชุมชนที่เขาไม้แก้วไปด้วย

วลัยพรรณ กล่าวว่า เมื่อก่อนอยากมีโคกหนองนาโมเดลเป็นของตัวเอง แต่พบว่าทำคนเดียวไม่ไหว แรงงานหายาก เลยกลับมาคิดใหม่ว่าเรามีความเชี่ยวชาญทำการเกษตรหรือเปล่า หรือเชี่ยวชาญด้านอื่นมากกว่า ที่วิสาหกิจชุมชนเขาไม้แก้ว เขามีทุกอย่างพร้อม มีคนทำเกษตรอินทรีย์ มีตลาดขายส่งอยู่แล้ว แต่เรื่องการสื่อสาร การประชาสัมพันธ์ การเพิ่มมูลค่าของเกษตรในพื้นที่ ซึ่งเขามีความเข้มแข็งและมีศักยภาพมาก เหมาะจะเป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยว และเหมาะที่จะทำสินค้าแปรรูป แต่เขาอาจขาดแรงงานของคนรุ่นใหม่ หรือคนที่จะทำการตลาดแล้วสื่อสารให้กับคนเมืองที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลักได้เข้าใจ

เรากลับมาคิดใหม่แทนที่จะทำโคกหนองนาเอง 3 ปีกว่าถึงจะเสร็จ เรามาช่วยเขาต่อยอดดีกว่า เราก็เลยมาช่วยเขา เขามีแพลนจะทำโฮมสเตย์อยู่แล้ว แต่ยังขาดช่องทางสื่อสาร เราก็เลยมาคิดโมเดลใหม่ เรามาเป็นฝ่ายการตลาดให้เขา เป็นฝ่ายขาย ส่วนเขาก็ทำแบบเดิมต่อไป ช่วยทำให้เขามีรายได้หลายๆ ช่องทางมากขึ้น

ก็เลยลองเปิดเพจเขาไม้แก้วฟาร์มสเตย์ปราจีนบุรี เพื่อลองตลาดดู ลองยิงโฆษณา ลองทำกราฟิก ลองหาทาร์เก็ตว่าลูกค้าประเภทไหนที่จะสนใจการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ก็พบว่ากลุ่มคนที่ชอบเกษตรก็คือกลุ่มแม่และเด็กที่อยากจะพาลูกมาเรียนรู้วิถีชีวิตแบบธรรมชาติ และลูกจะได้ลดและเลี่ยงการจับหน้าจอโทรศัพท์ด้วย

วลัยพรรณ กล่าวว่า เมื่อทำการตลาด ก็เริ่มมีคนทักเข้ามาทางเพจ เราก็เริ่มมีกิจกรรม เริ่มมีการทำ Retreat เริ่มมีหน่วยงานต่างๆ มานอนพักค้างคืน เรามีกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับการเกษตรให้ทำ มีผักพื้นบ้านสดๆ ให้ทาน ซึ่งการมาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ รู้สึกว่าเป็นการเติมเต็มชีวิตมาก ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ แล้วชีวิตก็ดีขึ้น ได้นอนหลับ Deep Sleep ดีขึ้น ไม่เครียด เนื่องจากสภาพแวดล้อมมีแต่สีเขียว เราตามหาวิถีชีวิตแบบนี้มานานแล้วและได้มาอยู่แบบนี้ เราสามารถสร้างประโยชน์ให้กับคนในชุมชนได้ด้วย สร้างธุรกิจใหม่ สร้างงานใหม่ สร้างรายได้ใหม่ให้เขาได้ด้วย

“โมเดลนี้คนรุ่นใหม่สามารถนำไปปรับใช้ได้ คือคนรุ่นใหม่หลายคนก็อยากทำเกษตร แต่เขาไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร แล้วทำคนเดียวไม่ไหว มันต้องมีชุมชนช่วยเหลือกัน ถ้าเรามีทักษะอะไรที่เขาไม่มี ที่เขาขาด เราก็ช่วยเติมเต็มให้เขา เช่น เราไปดูว่าเขามีผลิตภัณฑ์อะไรบ้างในตลาด แล้วปกติเขาขายอย่างไร เราสามารถช่วยเขาแปรรูปได้หรือไม่ ทำแพ็กเกจจิ้งให้สวย แล้วทำกราฟิก แล้วเราก็อาจรับสินค้าจากเขามาช่วยขายต่อผ่านช่องทางออนไลน์”

@

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น