นวัตกรรมการเกษตร “ตัวช่วย” เกษตรกรก้าวสู่ Smart Farmer

ภาพจาก Facebook : Tevadacorp

NIA ตั้ง ABC Center ช่วยเกษตรกรก้าวสู่การเป็น Smart Farmer ปรับเปลี่ยนการเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่เกษตรบริการ โดยใช้เทคโนโลยี สร้างนวัตกรรม แก้ปัญหาการเกษตร ให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้น

มณฑา ไก่หิรัญ ผู้จัดการส่งเสริมนวัตกรรม ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) กล่าวว่า NIA มีหน้าที่หลักในการส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรม โดยจะมี Groom, Grant และ Growth คือ การบ่มเพาะ เงินทุน และการเติบโต ซึ่งเรื่องการเกษตรถือว่ามีความสำคัญ NIA จึงมุ่งสร้างผู้ประกอบการที่สามารถสร้างเทคโนโลยี และมีรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่จะแก้ปัญหาทางการเกษตร

มณฑา ไก่หิรัญ

NIA มีศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร หรือ ABC Center (Agro Business Creative Center) ที่มีเป้าหมายหลักสำคัญ คือทำอย่างไรให้การเกษตรเปลี่ยนจากการเกษตรดั้งเดิมไปสู่เกษตรบริการ มีเทคโนโลยีเข้ามาใช้ควบคุมคุณภาพ ส่วนด้านเศรษฐกิจ ก็เปลี่ยนจากการมีพ่อค้าคนกลาง เป็นทำอย่างไรที่จะให้เกษตรกรสร้างรายได้ด้วยตนเอง

ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การทำนาบ้านเราที่ใช้น้ำมาก มีฟางเหลือเยอะ ทำอย่างไรจะให้เกิดความคุ้มค่า หรือด้านการตลาด ตอนนี้ทุนขนาดใหญ่เป็นผู้ครองตลาดการเกษตร ทำอย่างไรที่จะเกิดการกระจายตลาดอย่างเท่าเทียมกัน และสุดท้าย อยากเห็นประเทศไทยเป็นผู้นำเทคโนโลยีนวัตกรรมทางด้านการเกษตร

เราต้องการสร้างผู้ประกอบการที่มีแนวคิดใหม่ๆ ที่จะแก้ปัญหาทางการเกษตรได้ ที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางการเกษตร ซึ่งตอนนี้มีสตาร์ทอัพหลายรายที่ทำเรื่องนี้อยู่ เช่น เทวดา คอร์ป เป็นสตาร์ทอัพไทย ที่ใช้“โดรน” มาช่วยในการปลูกข้าว รวมทั้งเรื่องการบริหารจัดการต่างๆ ให้ปุ๋ย ให้น้ำ รวมทั้งดูเรื่องดินฟ้าอากาศด้วย มีการทดลองแถวบางคล้า พบว่าผลผลิตเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า

มณฑา กล่าวว่า กลุ่มคนที่จะสร้างนวัตกรรมขึ้นมานั้นมีอยู่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เป็น Smart Farmer เป็นคนที่ใช้งาน ใช้เทคโนโลยีอยู่แล้ว กับกลุ่มคนที่ตอนนี้อาจเป็นวิศวกรตกงาน เมื่อเห็นปัญหาก็อาจมีโอกาสที่จะคิดสร้างนวัตกรรมขึ้นมา แล้วนวัตกรรมนี้ไม่ได้คิดขึ้นมาแล้วใช้ในสวนของตัวเอง แต่สามารถใช้ในสวนต่างๆ ได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ NIA ที่จะสร้างคนกลุ่มนี้ แล้วเอานวัตกรรมไปแก้ปัญหาให้เกษตรกรได้

ส่วนเรื่องทุนของ NIA มี 2 ส่วน ส่วนแรก เป็นงานที่เพิ่งผ่านการทดลองเบื้องต้น ถ้าอยากทำขยายมากขึ้น เราจะมีทุนให้เปล่า โดยให้ทุนสูงสุด 1.5 ล้านบาท แต่เราไม่ได้ให้ 100% สูงสุดคือ 75% เรียกว่าเหมือนทำต้นแบบ ซึ่งขอย้ำว่า NIA จะไม่ได้ให้ทุนวิจัยโดยตรง แต่จะต้องต่อยอดจากผลงานวิจัยที่มีการทดลองแล้วเท่านั้น

ส่วนที่สอง เมื่อมั่นใจในผลงานแล้วต้องการที่จะลงทุนทำเป็นธุรกิจ NIA ร่วมกับ ธ.ก.ส. ช่วยสนับสนุนเรื่องดอกเบี้ยเงินกู้ โดยถ้ามีนวัตกรรม NIA จะจ่ายดอกเบี้ยให้ 3 ปี สูงสุดถึง 5 ล้านบาท

“สำหรับเกษตรกรรุ่นเก่าก็พร้อมที่จะใช้เทคโนโลยี ถ้ามีเทคโนโลยีที่เหมาะสมให้ มีโครงการหนึ่ง คุณตาอายุเกือบ 80 ปี ยังทำนวัตกรรมอยู่เลย ส่วนคนรุ่นใหม่ก็ต้องมองว่าการเกษตรมีความสำคัญ เพราะทุกคนต้องกินข้าว ต้องกินอาหาร ดังนั้น ถ้าเราสร้างอาหารก็ไม่ต้องกลัวเลย ถ้าเรามีช่องทาง เราเข้าใจเทคโนโลยี เข้าใจตลาด ก็จะมีช่องทางไปของมันได้อยู่แล้ว อย่างที่บอก มี 2 วิธี ถ้าคุณไม่พัฒนาเทคโนโลยี คุณก็อาจต้องเลือกเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในงานเกษตรคุณ เพื่อให้ได้ผลผลิตดีขึ้น และลดต้นทุนได้ดีขึ้น”

สำหรับผู้สนใจขอรับการสนับสนุนนวัตกรรม หรือต้องการขอทุน สามารถโทรติดต่อได้ที่หมายเลข 02 017 5555 หรือเข้าไปดูข้อมูลได้ในเว็บไซต์ nia.or.th   @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น