ทิศทางใหม่ สสว. “ปั้น SMEs” อย่างไร? ในยุค New Normal

บอร์ดชุดใหม่ สสว.ยุค New normal บริหารแบบบูรณาการ ภาครัฐ เอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิ มุ่งมั่นให้ผู้ประกอบการรายเล็ก รายย่อย มีความเข้มแข็งเข้าถึงเทคโนโลยี เงินทุนและมีความเข้าใจลึกซึ้งในธุรกิจที่ทำ พร้อมเสริมสร้างนวัตกรรมรับการเปลี่ยนแปลงวิถีใหม่

มงคล ลีลาธรรม ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. กล่าวว่า สสว. เป็นสำนักงานที่ตั้งขึ้นโดยกฎหมายเมื่อปี 2543 เพื่อส่งเสริมเอสเอ็มอี โดยเป็นหน่วยงานของรัฐ มีการแก้ไขกฎหมายหลายครั้ง แก้ไขล่าสุดคือปี 2561 ปัจจุบันกฎหมายได้บังคับใช้พ้นบทเฉพาะกาลแล้ว จึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด คือ บอร์ดส่งเสริมเอสเอ็มอี กับบอร์ดบริหารสำนักงาน สสว.

สำนักงาน สสว. มีกองทุนเป็นเงินหมุนเวียน ปัจจุบันมีอยู่ 12,000 ล้านบาท ที่จะให้เอสเอ็มอีกู้ยืมโดยตรง กองทุนนี้นอกจากให้กู้แล้ว ยังอุดหนุนหน่วยงานราชการ หรืออุดหนุนเอสเอ็มอี รวมทั้งร่วมทุนก็ได้ และ สสว. ยังมีหน้าที่บูรณาการงบการเงินของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

สำหรับเอสเอ็มอีที่กำหนดนิยามตามกฎหมายใหม่ ปัจจุบันมีจำนวน 9 ล้านคน ลูกจ้างหรือคนที่อยู่ในนี้มีมากถึง 16 ล้านคน มีสัดส่วนจีดีพีถึง 35% ของจีดีพี เป็น 90% ของการจ้างงานทั้งประเทศ ในประเทศที่เจริญแล้ว อย่างสหรัฐ หรือในยุโรป จะมีสัดส่วนเอสเอ็มอี 80% ดังนั้นจะเห็นได้ชัดว่าศักยภาพของเอสเอ็มอียังโตได้อีกเยอะ ยังเป็นกิจการที่ต้องได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจัง

กฎหมายใหม่ยังกำหนดให้ สสว.ร่วมกับสถาบันศึกษาทั่วประเทศ จัดทำศูนย์บ่มเพาะขึ้นมาให้กับผู้ประสงค์อยากจะเป็นผู้ริเริ่มธุรกิจใหม่ให้มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ โดยมีตัวช่วยทางด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้ามาด้วย โดยเฉพาะในยุคที่เกิดโควิด-19 ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่มีการเปลี่ยนแปลงผาดโผน ซับซ้อน ยากที่จะคาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์จะกลับมาปกติได้เมื่อไร

ทำให้ สสว.มุ่งไปที่เอสเอ็มอีกลุ่มไมโคร ที่เป็นกลุ่มคนเล็กคนย่อยจริงๆ เป็นกลุ่มที่ไม่สามารถกำหนดตัวเองได้ โอกาสที่จะถูกกระทบด้านรายได้จะหดหายไปเยอะ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่เกี่ยวโยงกับการท่องเที่ยว หรือการส่งออก จะถูกกระทบทางด้านรายได้อย่างทันทีทันใด ทำให้มีการปลดคนงานออก เลิกจ้าง รวมถึงภาระหนี้สินที่มีอยู่ เพราะไม่ได้เตรียมแผนสำรอง หรือเงินสำรองไว้ โอกาสอยู่รอดก็ยาก จึงต้องการความช่วยเหลือโดยด่วน ซึ่งรัฐบาลต้องเตรียมการเรื่องนี้อย่างจริงจัง

มงคล กล่าวว่า ปกติผู้ประกอบการทั้งหลายซึ่งมีสัมมาอาชีพ จะต้องมีอิทธิบาท 4 คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ส่วนใหญ่คนทั่วไปที่ทำการค้าจะมีครบ 3 เรื่อง แต่จะขาดเรื่องที่ 4 ในยุค New Normal คือ วิมังสา ที่จะต้องทบทวนสิ่งที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันเพื่อคาดการณ์ว่าอนาคตเราจะต้องทำอะไรให้ดีกว่าเดิม หรือ ลดความไม่แน่นอนในอนาคต หรือความซับซ้อนหรือการคาดการณ์ไม่ได้ก็ต้องระวัง ดังนั้น ผู้ประกอบการยุคนี้จะต้องมีวิมังสาให้มาก และเปลี่ยนแปลงให้ไว เป็น Active Enterpreneur

จากนั้นต้องกลับมาทบทวนสตอรี่ของตัวเอง ต้องหาจุดเด่น จุดแตกต่าง หรือความสามารถในการแข่งขันที่ทำให้คนจดจำกิจการของตัวเองมากกว่าคู่แข่ง ต้องพยายามบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองให้กับลูกค้าได้อย่างชัดเจน ซึ่งจะสะท้อนไปที่การออกแบบดีไซน์ ในเรื่องตัวผลิตภัณฑ์ หีบห่อ ตรายี่ห้อ ตราโลโก้ต่างๆ สะท้อนไปที่เรื่องมาตรฐาน คือพยายามทำให้แสดงชัดว่า สินค้าเราปลอดภัย ถูกสุขอนามัย เหมาะกับสุขภาพ แล้วนำไปสู่เรื่องการค้าขายยุคใหม่ที่เรียกว่าดิจิทัลออนไลน์ ก็จะทำให้คนตัวเล็กดำรงอยู่ในธุรกิจนี้ได้

สสว.พยายามทำงานร่วมกับเครือข่าย คือหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือภาคเอกชน รวมถึงสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการที่เป็นคนรุ่นใหม่ หรือคนที่ถูกเลิกจ้างและแสวงหาธุรกิจส่วนตัวที่จะทำ สามารถอยู่รอด มีกำไร มีมูลค่าเพิ่มจากกิจการนั้นๆ โดยมีเทคโนโลยี และนวัตกรรมเพิ่มขึ้น

หลายคนถูกเลิกจ้างกลับไปบ้านเกิด แล้วทำหลายเรื่องที่เกิดมูลค่าเพิ่มได้มาก เพราะยังมีทรัพยากรอยู่เยอะในชนบท เช่น แทนที่จะขายข้าวเป็นข้าวเปลือก แต่เอามาแปรรูปเป็นขนมจีนสด สามารถเพิ่มมูลค่าถึง 7 เท่า จากเดิมข้าวสารเกวียนละ 5,000 บาท มาทำเป็นขนมจีนสด จะได้ราคา 35,000 บาท เพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า  @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *