“ทีมเศรษฐกิจ..ชุดใหม่” แก้วิกฤติอย่างไร? ให้ตรงจุด

ภาพจาก Facebook : Thai News Pix

ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ต้องเป็นคนมีชื่อเสียง ประวัติการทำงานดี มีความสามารถ สร้างความเชื่อมั่นให้ภาคเอกชนได้ เป็นคนที่รับฟังความเห็น เร่งแก้ปัญหาระยะสั้น คือการสร้างรายได้ให้คนที่ตกงาน

ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ รองประธานหอการค้าไทย กล่าวว่า ก่อนมีวิกฤติโควิด-19 ประเทศไทยก็มีปัญหาเศรษฐกิจอยู่แล้ว พอเจอโควิด-19 ก็ถือเป็นปัญหาหนักเข้าไปใหญ่ สถานการณ์ปัจจุบันเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย เพราะเศรษฐกิจมีหลายมุม ซึ่งไม่มีใครที่จะรอบรู้ไปทุกเรื่อง ดังนั้น การกำหนดตัวบุคลากรที่จะมารับตำแหน่งในทีมเศรษฐกิจจึงกำหนดได้ยากมาก เพราะปัญหาครั้งนี้มีหลายเรื่องเหลือเกิน อาจผสมระหว่างมหภาคกับจุลภาค ซึ่งจุลภาคอาจหนักหน่อยเพราะคนจะตกงานเยอะ

ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์

ใครรับเข้ามารับตำแหน่งตอนนี้ถือว่าเสียสละมาก เบื้องต้นนายกรัฐมนตรีคงต้องดูคนที่มีชื่อเสียง มีความสามารถ มีประวัติการทำงานที่ดี เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ถ้าไม่เชื่อมั่นความร่วมมือก็จะไม่มี

“ถ้าไม่เชื่อว่าคนที่เข้ามาจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ ภาคเอกชนใครจะลงทุน โดยเฉพาะยามนี้ที่ภาคการผลิตเราใช้กำลังแค่กว่า 50% เอง ยังเหลืออีกตั้งเยอะ ถ้ายังเหลืออีกตั้งเยอะ ใครจะสั่งเครื่องจักร ใครจะปรับปรุงการผลิต ใครจะลงทุนเรื่องการผลิตต่อ เป็นเรื่องที่เอกชนต้องคิดเยอะ เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์ต้องกู้ ถ้ามีความเชื่อมั่น มองว่าคนที่เข้ามาใหม่น่าจะแก้ปัญหาได้บ้าง ที่เราคาดการณ์ในอนาคตว่ามันน่าจะดี จากที่คิดไม่ลงทุนเลย ก็อาจจะลงทุนบ้าง ซึ่งก็อาจกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาอยู่แล้ว ให้มีการจ้างงานเกิดขึ้น มีการลงทุนมากขึ้น”

ว่าที่ ร.อ.จิตร์ กล่าวว่า ภาคเอกชนไม่อยากวิจารณ์คนที่จะเข้ามารับตำแหน่งทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ แต่นึกถึงคำขวัญของธนาคารแห่งประเทศไทย 4 ข้อ คือ 1.ยืนตรง คือมีใจเป็นธรรม บริหารงานด้วยความยุติธรรม 2.มองไกล มีวิสัยทัศน์ที่จะมองไปข้างหน้า 3.ยื่นมือ คือขอความร่วมมือทั้งภายในภายนอก รับฟังความคิดเห็นต่างๆ 4.ติดดิน หมายความไม่อยู่บนหอคอยงาช้าง

คนที่จะมารับตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ ซีอีโอด้านตลาดเงิน หรือนักการเมือง ภาคเอกชนไม่ได้สนใจเท่าไร เพียงแต่เข้ามาแล้วเป็นคนที่รับฟังคนอื่นหรือไม่ ถ้ามาแล้วมั่นใจในตัวเองมากเกินไปก็อาจพลาดได้ แต่ถ้ารับฟังความเห็นแล้วดูข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ก็มีโอกาสที่จะเกิดความเสียหายน้อยกว่าเยอะ เพราะการบริหารเศรษฐกิจไม่มีทางที่จะบริหารได้ 100% ทั้งหมด มันจะต้องมีการสูญเสีย แต่สิ่งที่เสียนั้นจะต้องน้อยกว่าสิ่งที่จะได้ ถึงจะคุ้มและเป็นประโยชน์กับประเทศชาติ

ครม.เศรษฐกิจชุดใหม่ที่จะเข้ามานั้น จะเจอกับปัญหาที่มีโจทย์ให้แก้ไขเยอะมาก ซึ่งต้องแบ่งเป็นระยะสั้น ระยะกลางกลาง ระยะยาว สำหรับปัญหาระยะสั้นตอนนี้คือคนกำลังตกงาน ธุรกิจไปไม่ได้ อย่างส่งออกก็ดีในเรื่องอาหาร เพราะฉะนั้นการคิดเป็นครัวโลก หรือเป็นแหล่งซัพพลายอาหารโลก เป็นความคิดที่ถูกต้อง แต่ทำอย่างไรที่จะให้มี Value Added มากขึ้น

ส่วนระยะปานกลาง ที่เคยทำมาอยู่แล้ว แล้วจะทำอย่างไรต่อไป และระยะยาวก็ต้องคิดกันอีกหลายเรื่อง เช่น ถ้าเราส่งเสริมการลงทุนโดยยกเว้นเรื่อง EIA หรือ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ก็อาจเกิดปัญหาในอนาคตได้ เพราะประเทศที่เจริญแล้วอาจไม่ซื้อสินค้าจากเรา

ดังนั้น ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่จะต้องเร่งแก้ปัญหาระยะสั้นคือเรื่องคนตกงาน ไม่มีรายได้ ทำอย่างไรที่จะสร้างรายได้ตรงนี้ ส่วนเรื่องการท่องเที่ยว เราต้องเที่ยวชุมชนของเรากันเองก่อน เพราะท่องเที่ยวต่างประเทศยังหวังไม่ได้ แต่ละประเทศยังมีปัญหาอยู่ แล้วเป็นกันทั้งโลก เราต้องแก้ปัญหาให้คนของเรามีรายได้ตรงนี้ก่อน ไม่ว่าจะผลักดันเรื่องการทำเกษตร ซึ่งจะตอบโจทย์ของโลกนี้ได้

ดังนั้น เรื่องภาคเกษตร การเปลี่ยนแปลงต่างๆ หรือไปหนุนเอสเอ็มอีขึ้นมาเป็นสตาร์ทอัพ หรือถ้าโตไปถึงยูนิคอร์น เราอยากเห็นยูนิคอร์นในเรื่องเกษตร เพราะฉะนั้นเราต้องเปิดโอกาสตรงนี้ ถ้ามีกฎระเบียบที่ขวางอยู่ก็ต้องเลิกไปอย่างเร็วที่สุด หรือถ้าเขาต้องการส่งเสริมในเรื่องต่างๆ เรามีนวัตกรรม มีงานวิจัยเยอะ ก็เริ่มจากเล็กๆ ว่าจะผลิตอะไรแล้วแปรรูปส่งไปขาย เพื่อเพิ่มมูลค่าได้  @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น