จากแพลตฟอร์ม “TakeMeTour” ปรับสู่ “LocalFarm” อยู่รอดในวิกฤติ Covid-19

ภาพจากเว็บไซต์ takemetour.com/localFarm

“TakeMeTour” แพลตฟอร์มท่องเที่ยวที่กำลังเติบโต เจอวิกฤติโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวเป็นศูนย์ ต้องพัฒนาต่อยอดแพลตฟอร์มเดิมกลายเป็น “LocalFarm” ตลาดกลางออนไลน์ขายสินค้าเกษตรช่วยเหลือชาวสวน

นพพล อนุกูลวิทยา ผู้ร่วมก่อตั้ง TakeMeTour กล่าวว่า TakeMeTour เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เป็นคนกลาง โดยมี Local Expert หรือไกด์ท้องถิ่นที่มีความชำนาญเชี่ยวชาญพื้นถิ่นตัวเอง พานักท่องเที่ยวไปมีประสบการณ์สัมผัสความเป็นชุมชนท้องถิ่นจริงๆ หรือสิ่งที่ตามหาในไกด์บุ๊กไม่เจอ เราเป็นแพลตฟอร์มตรงกลางที่คอยแมทชิ่งนักท่องเที่ยวกับคนพาเที่ยวที่มาจากทั่วทุกสารทิศในประเทศไทย

นพพล อนุกูลวิทยา

โดย Local Expert สามารถเข้ามาได้ที่เว็บไซต์ takemetour.com แล้วลงทะเบียน จากนั้นสร้างเส้นทางท่องเที่ยวของเขาเองตามระบบ แล้วจะมีการส่งเอกสารต่างๆ เพื่อที่จะมา verify ตัวตน หลังจากนั้นทางทีมงานจะติดต่อกลับไป เป็นกระบวนการที่เข้ามาร่วมกันได้ง่ายๆ ซึ่ง Local Expert อาจจัดทริปในราคา 1,000 บาทต่อคน TakeMeTour ก็จะไป Markup ราคาเป็น Booking Fee อยู่ที่ 20% ซึ่ง 20% ก็จะเป็นของ TakeMeTour ส่วน Local Expert ก็จะได้ 1,000 บาท โดยที่ไม่ต้องเสียอะไรเลย

ทั้งนี้ Local Expert จะต้องสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ เพราะที่ผ่านมา เราเคยพยายามทำตลาดของไทย แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ขณะที่กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติค่อนข้างประสบความสำเร็จ โดยลูกค้า 99% เป็นต่างชาติ

ปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาติหาย เนื่องจากวิกฤติโควิด-19 เมื่อเปรียบเทียบอัตราการเติบโตของ TakeMeTour ก่อนโควิด-19 มา เดือนม.ค.ปีนี้ เทียบกับม.ค.ปีที่แล้ว โต 50% เดือน ก.พ.โต 20% แต่เดือน มี.ค. กลายเป็นติดลบ 60-70% โดยวันที่ 22 มี.ค. นักท่องเที่ยวเริ่มเหลือน้อยมากๆ และวันที่ 26 มี.ค.เหลือศูนย์ ก็อึ้ง ตั้งหลักไม่ถูก

นพพล กล่าวว่า ไม่คิดว่าจะเจอหนักขนาดนี้ ก็คุยกับเพื่อนที่เป็นพาร์ตเนอร์ว่าเราจะผ่านเรื่องนี้อย่างไรดี เพราะจากข่าวหลายกระแสบอกว่าโควิด-19 จะอยู่กับเรานานแน่ๆ แล้วดูเหมือนการท่องเที่ยวจะยาวนานกว่าอุตสาหกรรมอื่น ก็ได้มาคุยกันว่าถ้าไม่พูดถึงเรื่องท่องเที่ยว จุดแข็งของทีมคือการพัฒนาเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม เรามีกลุ่มที่เป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ที่คอยพัฒนาโปรดักส์ให้ใช้งานได้ง่าย คือเรื่องการทำตลาดออนไลน์ เรื่องการพัฒนาเทคโนโลยี

ถ้าเราจะปรับตัวก็ต้องปรับมาทางที่เป็นจุดแข็งของเรา แต่อาจเปลี่ยนอุตสาหกรรมไปทำเรื่องอื่น จุดแรกที่เราตั้งหลัก ก็ลองดูว่ามีบริษัทใดบ้างในช่วงโควิด-19 ต้องการปรับตัวเองเป็นออนไลน์ สร้างแพลตฟอร์มเป็นของตัวเอง เพราะทุกคนหน้าร้าน ทั้งห้างสรรพสินค้าและตลาดอยู่ออฟไลน์ไม่ได้ ก็วิ่งหาลูกค้า ใครต้องการให้เราพัฒนาตัวแพลตฟอร์มออนไลน์ ทำมาร์เก็ตติ้งออนไลน์ เราใช้ความเชี่ยวชาญเดิมที่เรามี มาปรับให้กับอุตสาหกรรมอื่นได้ ก็เริ่มปรับจากตรงนั้นก่อนเป็นสเต็ปแรก คือ รับจ้างพัฒนาแพลตฟอร์ม พัฒนาซอฟต์แวร์

สเต็ปแรกก็ผ่านไปได้ดี เริ่มตั้งหลักได้ เริ่มมีงานกลับมาให้กับทีมงานเรา เริ่มมีเงินหมุนเวียนเข้ามา สักพักเราก็เริ่มมองว่าผู้ประกอบการ Local Expert หรือบริษัททัวร์ หรือมัคคุเทศก์ที่อยู่ในระบบของเรา เราจะช่วยเขาได้อย่างไรบ้าง ก็พยายามไปรวบรวมว่ามีใครที่ค้าขายสิ่งอื่นๆ นอกเหนือจากการพาเที่ยว แล้วคิดว่าเราจะเปิดช่องทางให้คนพาเที่ยวได้มาขายของ ซึ่งก็มีการคุยกัน

โดยได้คุยกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB ด้วย ก็เลยคิดว่า TakeMeTour จะพัฒนาแพลตฟอร์มเลย ไม่ได้ช่วยแค่คนพาเที่ยว แต่ช่วยชาวสวนที่นักท่องเที่ยวเคยไปถึงจังหวัดต่างๆ แล้วซื้อของฝากกลับมา หรือกลุ่มชุมชนท่องเที่ยวที่เคยขายของฝาก ของที่ระลึก ผลิตภัณฑ์ชุมชนได้ แต่ขายไม่ได้เพราะนักท่องเที่ยวไปไม่ถึง เอาขึ้นมาขายให้หมด สร้างช่องทางสำหรับคนกลุ่มนี้ เพราะถ้าให้ไปขายแข่งใน Shopee หรือ Lazada ก็คงสู้แม่ค้าออนไลน์ที่เป็นมืออาชีพไม่ได้

นพพล กล่าวว่า เราพัฒนาแพลตฟอร์ม เป็น LocalFarm โดยที่เราใช้อินฟราสตักเจอร์เดิม เพราะเราทำแพลตฟอร์มเรื่องท่องเที่ยวอยู่แล้ว แล้วไปต่อยอดใหม่ มีการปรับเล็กน้อยเพื่อให้เหมาะสมกับกลุ่มชาวสวนที่ขายผลไม้ ขายผลิตภัณฑ์ โดยที่ไม่ต้องเสียค่า GP ที่เหมือนกับค่าคอมมิชชั่น ซึ่งบางที่หักถึง 25% แต่ที่นี่ไม่หักเลย เพราะ ททท. กับ ADB ให้การสนับสนุน

ตอนแรกงานเร่งมาก เพราะเรากลัวไม่ทัน เพิ่งทำมาร์เก็ตติ้งเมื่อไม่กี่สัปดาห์ ก็เริ่มมีคนหลั่งไหลเข้ามา เริ่มมาทัก มาซื้อกัน ซึ่งเราพยายามทำแพลตฟอร์มให้พ่อค้าแม่มาขายโดยที่ไม่หักหัวคิวเขา เราพยายามโปรโมตคนให้เข้ามาเยอะที่สุด แล้วจะให้ทีมงานเข้าไปสรุปสิ้นเดือนนี้ว่าแต่ละเจ้ามีลูกค้ามากน้อยแค่ไหน สำหรับผู้สนใจเข้าแพลตฟอร์มนี้ก็เข้าไปที่เว็บไซต์ takemetour.com/localFarm

@

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น