บทบาทสื่อมวลชนในการเป็น “Change Agent” ผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานไฟฟ้า

พลังงานทางเลือกเป็นเรื่องที่สื่อมวลชนต้องให้ความรู้กับประชาชน เพราะถือว่าเป็นพลังงานแห่งอนาคต เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยประหยัดเงินในการนำเข้าพลังงานฟอสซิลที่ใช้แล้วหมดไป

สุเมธา อุดมพานิช ผู้ดำเนินรายการวิทยุคลื่น จส.100 ตัวแทนเครือข่ายสื่อมวลชนที่เข้าร่วมโครงการสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า กล่าวว่า สื่อมวลชนจะเป็น “Change Agent” ซึ่งหมายถึงผู้นำการเปลี่ยนแปลงหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาชน หรือผู้รับสาร เพราะบทบาทหน้าที่ของสื่อสารมวลชนคือการเป็นตัวกลางในการถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารที่เป็นความจริง เชื่อถือได้ โดยมีจรรยาบรรณเข้ามาเป็นตัวควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ สิ่งที่เราจะนำเสนอต้องคิดถึงผลที่จะตามมาว่าจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม หรือเป็นผลร้ายต่อส่วนรวม ซึ่งจะเป็นเรื่องที่สื่อมวลชนต้องคัดกรอง

สุเมธา อุดมพานิช

“พลังงาน” ก็เป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจมาก ปัจจุบันประเทศไทยใช้พลังงานฟอสซิลเยอะมาก และต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้เป็นต้นทุนในการดำเนินธุรกิจในประเทศ และเป็นต้นทุนในการใช้ชีวิตของประชาชน ทั้งนี้ พลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป และราคาจะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ในอนาคต แต่พลังงานทางเลือกเป็นพลังงานที่ใช้แล้วไม่หมด อีกทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย

โดยพลังงานแสงอาทิตย์นั้นเหมาะกับประเทศไทยมาก เพราะประเทศไทยมีแสงอาทิตย์เยอะ แล้วเป็นแสงอาทิตย์ที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการจัดการขยะที่มีปริมาณเยอะมาก ถ้าเรารู้วิธีในการใช้ประโยชน์จากขยะมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ก็จะเป็นประโยชน์มาก ซึ่งถ้าเราได้รับทราบข้อมูลตรงนี้ก็สามารถนำมาเผยแพร่และถ่ายทอดให้ประชาชนเห็นว่านี่คือทางออกของประเทศไทยในเรื่องของพลังงาน และจะเป็นพลังงานในอนาคตที่เหมาะสมกับประเทศไทย เพราะเทคโนโลยีในปัจจุบันก็เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนการใช้พลังงานทางเลือกให้ได้ประโยชน์สูงสุด และต้นทุนก็จะลดลงด้วย

สุเมธา กล่าวว่า เมื่อเข้าร่วมเป็นเครือข่ายสื่อมวลชนไทยฯ ซึ่งโครงการยังไม่สิ้นสุด ได้มีการโฟกัสกรุ๊ปและลงพื้นที่ไปดูงานครั้งแรกที่โรงไฟฟ้าขยะ และทราบว่าจะต้องไปดูงานอีก 2 แห่ง เมื่อไปดูงานที่โรงไฟฟ้าขยะ ทำให้ทราบว่าปัญหาขยะที่แก้ไม่ได้ และเป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม เป็นปัญหาต่อสุขภาพประชาชนนั้น เรื่องการบริหารจัดการจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้ และยังได้ประโยชน์จากขยะมาผลิตกระแสไฟฟ้า

แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากคือขยะที่เราผลิตอยู่ทุกวัน เป็นการผลิตขยะแล้วเอามาปนกันหมด ทำให้ขยะเปื้อน ไม่สามารถคัดแยกออกมาแล้วเอามาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่เราต้องมาให้ความรู้แล้วสื่อสารไปยังประชาชนที่เป็นผู้ผลิตขยะว่า เราจะต้องผลิตขยะให้น้อยลง และเมื่อผลิตขยะออกมาแล้ว เราต้องคัดแยกขยะ เพื่อที่จะสามารถนำขยะไปใช้ประโยชน์ต่อได้

การเข้าร่วมเครือข่ายสื่อมวลชนไทยฯ นั้นได้ประโยชน์เยอะมาก โดยเฉพาะเรื่องโซลาร์ ทำให้ได้รับทราบเรื่องเทคโนโลยี และเรื่องของพลังงานแสงอาทิตย์มาพอสมควร ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมาก ทำให้ต้นทุนเรื่องแผงโซลาร์ราคาต่ำลง นอกจากนี้มีการพัฒนาเรื่องแบตเตอรี่ในการเก็บไฟ ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะนำมาใช้ และก่อนหน้าจะเข้าร่วมโครงการ เราก็มองภาพไม่ออกว่าจะแก้ปัญหาขยะได้อย่างไร แต่พอเข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายก็เห็นทางออกว่า เราสามารถนำขยะมาใช้ประโยชน์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ซึ่งเป็นทางออกที่ดีมาก และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถือว่าได้ประโยชน์มาก

สุเมธา กล่าวว่า อยากให้โครงการนี้พยายามขยายให้มีเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น ไม่อยากให้หยุดแค่นี้ เท่าที่ทราบเครือข่ายที่มีอยู่ยังไม่มากพอ อาจมีในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคบ้าง อยากให้ขยายวงกว้างในสื่อมวลชน และอยากให้มีการรวมกลุ่มกัน ได้ข้อมูลข่าวสารเพื่อนำไปสื่อสารเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบ

และอยากให้มีการจัดเวทีสาธารณะด้วย เพราะปัญหาขยะเป็นปัญหาชุมชน ถ้าชุมชนผู้ผลิตขยะสามารถบริหารจัดการขยะของตัวเอง และนำมาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในชุมชนได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนเอง เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ นอกจากนี้ ยังช่วยลดปัญหามลภาวะที่เป็นพิษ และยังช่วยประหยัดเงินของประเทศในการนำเข้าพลังงานฟอสซิลเพื่อมาผลิตกระแสไฟฟ้าด้วย

อยากให้โครงการนำตัวอย่างที่มีมากมายและประสบผลสำเร็จมาเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชน เพื่อขยายผลให้กับประชาชน หรือผู้ประกอบการทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หรือชุมชน จะได้หยิบเอาตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จนั้นไปทดลองใช้กับชุมชนตัวเอง บริษัทตัวเอง หรือครอบครัวของตัวเองด้วย  @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น