“เปิดการท่องเที่ยวอย่างไรช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ – เซฟสุขภาพคนไทย”

หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย รัฐบาลออกแคมเปญสนับสนุนให้คนไทยเที่ยวเมืองไทย เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ ด้าน ททท.จัดทำ SHA มาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุขเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

ยุทธชัย สุนทรรัตนเวช กรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. และรองประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะนี้เป็นเวลา 21 วันแล้ว ที่ไม่ปรากฏผู้ติดเชื้อภายในประเทศที่เป็นคนไทย ยังมีปรากฏเฉพาะคนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ เพราะฉะนั้นก็เป็นหลักประกันเชื่อมั่นได้ระดับใกล้เคียง 100% ว่าเราไม่มีการติดเชื้อแล้ว

ยุทธชัย สุนทรรัตนเวช

เพราะฉะนั้นการเที่ยวเมืองไทยโดยคนไทยเอง ยังไม่เปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามา น่าจะทำให้เกิดการกระตุ้นการใช้จ่ายและหมุนเวียนภายในประเทศเราที่ดีที่สุดแล้ว คือให้คนไทยที่มีกำลังซื้ออยู่ ออกมาจับจ่ายใช้สอย หรือออกมาเดินทางท่องเที่ยว

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เราเคยพูดถึงการสร้างระเบียงท่องเที่ยว หมายถึงการที่เราจะแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวกับประเทศที่เชื่อได้ว่าไม่มีตัวเลขการระบาดในประเทศนั้น ซึ่งประเทศที่เราตั้งใจจะสร้างระเบียงท่องเที่ยวก็คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม ลาว สำหรับเวียดนาม ลาว ไม่มีการติดเชื้อแล้ว จีนตอนแรกก็ทำท่าว่าจะไม่มีการติดเชื้อ แต่ตอนหลังก็มีการติดเชื้อที่กรุงปักกิ่ง และตอนนี้จีนก็ไม่มีนโยบายส่งออกนักท่องเที่ยว

เพราะฉะนั้นตนเองคิดว่าแนวทางที่ดีที่สุดขณะนี้ ในช่วงเดือนกรกฎาคมคงจะยังไม่มีตัวเลขนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เพื่อให้พี่น้องในชาติเรามีความรู้สึกผ่อนคลายไปอีกสักหนึ่งเดือนว่าคงไม่มีแขกแปลกหน้า ที่ทำให้เรากังวลว่าจะเป็นพาหะนำเชื้อโรคหรือไม่ เพราะฉะนั้น การเที่ยวโดยคนไทยน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดแล้ว

มาตรการที่สอง เป็นเรื่องที่อาจเปิดให้ผู้ที่มาทำธุรกิจที่มาจากต่างประเทศ หรือผู้เจ็บป่วยหรือลูกค้าประจำของโรงพยาบาลที่เป็นคนต่างประเทศ ที่มีกำหนดนัดแล้ว ซึ่งเขาเลื่อนนัดมาหลายเดือนแล้ว ก็อาจผ่อนปรนให้เขาเข้ามาในประเทศเราก่อน โดยมีสัดส่วนโควต้าจำกัด ซึ่งตอนนี้กำลังกำหนดว่าจำนวนเท่าไร แล้วก็อาจมีเรื่องของมาตรการคัดกรอง มีการตรวจโรคก่อนเข้ามา มีเอกสารรับรองแพทย์ว่าผ่านการตรวจเชื้อโควิด-19 มาแล้ว เมื่อมาถึงประเทศไทยก็ต้องมีการตรวจอีก ซึ่งเป็นมาตรการที่สร้างความเชื่อมั่นตามหลักวิชาการและตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก

สำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ภายใน 4-5 วันข้างหน้า น่าจะยังไม่มีการหยิบยกมาพิจารณา สำหรับผู้ประกอบการท่องเที่ยว หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้อง คงต้องคอยกันในแนวรับที่เดือนสิงหาคม ซึ่งการเตรียมความพร้อม การเตรียมสถานะการจ้างงาน การเตรียมสต๊อกสินค้า การเตรียมเงินทุน ก็คงต้องเผื่อเอาไว้สำหรับการที่จะต้องใช้จ่าย โดยมีระยะเวลาการรอคอยอีกประมาณเดือนครึ่งเป็นอย่างน้อย ซึ่งก็หมายความว่าธุรกิจท่องเที่ยวอาจจะต้องบาดเจ็บ แล้วก็อดทนรอคอยในการสร้างโอกาสให้ตัวเองประมาณ 7-8 เดือน นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ยุทธชัย กล่าวว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบ ทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. รวมทั้งรัฐบาลพยายามออกโครงการที่ทำให้เกิดรายรับกับผู้ประกอบการ อย่างแพ็กเกจ“กำลังใจ” ที่จะชวน อสม.กว่าล้านคน ได้มีโอกาสเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสให้โรงแรมขนาดกลางและเล็กมีจำนวนห้องพักที่มีโอกาสจะปล่อยได้ราว 5-6 แสนรูมไนท์ เพราะ อสม.กว่าล้านคน ก็อาจจะมีครอบครัวติดตามไป ก็อาจขยายเป็นล้านห้า หรือมากกว่านั้น ถ้าเรากระตุ้นดีๆ

ถ้าคณะทัวร์ที่เป็น อสม. หรือบุคลากรทางการแพทย์ ออกเดินทางท่องเที่ยวไปในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป ก็จะทำให้เม็ดเงินเข้าไปในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น รถบัสก็เริ่มออกวิ่งได้ โรงแรมก็จะเริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้ามา โดย อสม.จะต้องรวมกลุ่มกันในรถบัสประมาณ 30-35 คน ไปเที่ยวผ่านบริษัทนำเที่ยว 2 วัน 1 คืน ในงบประมาณคันละ 70,000 บาท หรือหัวละ 2,000 บาท ที่รัฐจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ จะเดินทางด้วยรถปรับอากาศอย่างดี มีมัคคุเทศก์ดูแล มีเจลล้างมือ มีตัววัดอุณหภูมิ มีโรงแรมมาตรฐานให้ 1 คืน มีอาหารให้ 3 มื้อ

ส่วนแพ็กเกจ“เที่ยวปันสุข” และ“เราไปเที่ยวกัน” ก็น่าจะได้ผล เพราะสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้พยายามหาทางในการกระจายเม็ดเงินให้ผู้ประกอบการได้ทั่วถึง สำหรับโรงแรมก็คงต้องเป็นโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายก่อน ส่วนโรงแรมที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องก็คงต้องรอคอยโอกาสอื่นๆ ต่อไป

“ช่วงนี้เป็นโอกาสทองสุดๆ สำหรับคนที่อยากจะนอนโรงแรมระดับห้าดาวในราคาที่แสนถูก เพราะโรงแรมห้าดาวบางแห่ง ลดราคาลงมาเหลือระหว่าง 1,500-2,000 บาท จากเดิมประมาณ 7,000 บาทบวกลบ ซึ่งแพ็กเกจ“เราไปเที่ยวกัน” รัฐบาลจะช่วยจ่ายค่าห้องพักให้ 40% ต่อคืน ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคืน โดยให้สูงสุดถึง 5 คืน และยังได้รับเงินเที่ยวเป็น E-Voucher ผ่านแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” 600 บาทต่อคืน เพื่อเอาไปใช้จ่ายค่าอาหารและค่าใช้จ่ายสถานที่ท่องเที่ยวที่เข้าร่วมโครงการ” ยุทธชัย กล่าว

ทั้งนี้ หลังจากรัฐบาลอนุญาตให้เดินทางข้ามจังหวัดได้แล้ว ตามมาตรการผ่อนคลาย ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ก็พบว่าประชาชนจำนวนมากขับรถไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ในต่างจังหวัด แต่ยังเป็นการไปเที่ยวในครอบครัวใครครอบครัวคนนั้น การที่เราพยายามให้เขามารวมกับคนในครอบครัวอื่นเพื่อเที่ยวเป็นกลุ่มใหญ่ขึ้น ก็ขึ้นอยู่กับข้อมูลข่าวสารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะต้องสร้างความเชื่อมั่นในด้านระบาดวิทยาให้เกิดความมั่นใจว่าร้อยเปอร์เซ็นต์ต้องไม่มีการระบาด

ทั้งนี้ สัปดาห์หน้า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ และ ททท. จะประชุมหารือกับกระทรวงสาธารณสุข ดังนี้ 1.เรื่องพา อสม.ไปเที่ยว 2.หารือเรื่องแนวทางความชัดเจน ในโอกาสที่จะเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาในอนาคตอีกประมาณ 30-40 วันข้างหน้า ถ้ามีโอกาส สถานการณ์ไม่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลงในประเทศเหล่านั้น เพื่อเตรียมความพร้อมให้เกิดเซฟตี้โซนในพื้นที่ต่างๆ หรือจะมีแนวทางป้องกันอย่างไร เพื่อสร้างความสบายใจให้กับประชาชน

รวมทั้งเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ที่กระทรวงมหาดไทยคงต้องมาหารือเรื่องการกวดขันความปลอดภัยให้พี่น้องประชาชนที่จะออกมาท่องเที่ยวจะมีแนวทางอย่างไร เพราะช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ดี ขโมยอาจมีเยอะขึ้น ก็ต้องมีแนวทางป้องกันเฝ้าระวังให้ประชาชนสุจริตชนที่ออกมาท่องเที่ยวมีความรู้สึกสบายใจ ไม่กังวลใจ

ส่วนการท่องเที่ยวแบบ New Normal นั้น ยุทธชัย กล่าวว่า ตอนนี้ ททท.ได้จัดทำมาตรฐานความปลอดภัย SHA ซึ่งก็คือมาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุขของกระบวนการที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทั้งในส่วนของสำนักงานบริษัทนำเที่ยว โรงแรม และรถบัส เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวในเรื่องความสะอาด และการป้องกันการติดเชื้อ  @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น