“รายได้ไม่พอจ่ายหนี้” หลังสิ้นสุดมาตรการรัฐ ผู้ประกอบการมีทางออกอย่างไร?

มาตรการชะลอการจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยของสถาบันการเงินจะครบกำหนดในเดือน ก.ย.นี้แล้ว สำหรับผู้ที่มีรายได้ไม่พอจ่ายหนี้ ให้รีบไปคุยกับเจ้าหนี้ทั้งที่เป็นแบงก์ และนอนแบงก์ เพื่อขอผ่อนผันยืดหนี้ออกไปอีก 2 ปี

มงคล ลีลาธรรม อดีต CEO SME Development Bank กล่าวว่า รัฐบาลกำลังผ่อนคลายมาตรการต่างๆ หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้กลับสู่ภาวะปกติ โดยนิวซีแลนด์เป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่ประกาศว่าพร้อมจะกลับเข้าสู่ภาวะชีวิตประจำวันปกติแล้ว และหลายประเทศก็เตรียมการเรื่องนี้อยู่ ซึ่งประเทศไทยภายใน 30 วันข้างหน้านี้ก็จะเริ่มผ่อนคลาย

แต่ผู้ประกอบการทั้งหลายคงจะพบว่าถึงแม้จะมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ แต่รายได้ยังไม่กลับมาสู่ระดับปกติ กำลังซื้อก็ถดถอยไปมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ก่อนหน้านี้ แต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวประมาณล้านกว่าคนอยู่ในเมืองไทย ซึ่งล้านกว่าคนจะถือเป็นค่าใช้จ่ายเกือบเท่ากับประชากร 15 ล้านคน จากรายงานของผลงานวิจัยหลายอัน

และวันนี้ไม่มีนักท่องเที่ยวมาไทยเลย เป็นศูนย์ เพราะฉะนั้นกำลังซื้อหลายอย่างกระทบกระเทือนไปมาก มีการคาดการณ์ว่าการเดินทางจะเริ่มผ่อนคลายในช่วงปลายปี หรืออาจเป็นต้นปีหน้า ซึ่งไม่ได้หมายความสิ่งต่างๆ จะกลับมาสู่ปกติ มีรายงานของบริษัทที่ปรึกษาระดับโลกว่า การฟื้นตัวของโลกน่าจะค่อยเป็นค่อยไป เป็นรูปตัวดับเบิลยู เป็นรูปคลื่น จะไปช้าๆ ซึ่งคนที่จะเคลื่อนไหวได้เร็วก็คือประเทศจีน แต่จีนกว่าจะเคลื่อนได้ก็ราวๆ ปี 2564 ขณะที่สหรัฐ หรือยุโรป จะราวๆ ปี 2565 โลกนี้กว่าจะฟื้นตัวได้สมบูรณ์น่าจะเป็นกลางปี 2565 โดยรวมแล้วน่าจะประมาณ 2 ปี ไม่น้อยกว่านี้

“จากประสบการณ์วิกฤติทั้งหลาย ผู้ประกอบการวันนี้ต้องเก็บเงินสภาพคล่องไว้ เผื่อสถานการณ์รายได้ยังตกต่ำ หรือไม่แน่นอน อย่าประมาท เก็บเงินไว้อย่างน้อยเป็นสภาพคล่องไว้ถึง 2 ปีข้างหน้า แต่ถ้าหากวัคซีนโควิด-19 หรือยาแก้ไขต่างๆ มาเร็ว และมีผลกระจายได้อย่างทั่วถึง เป็นสินค้าสาธารณะ ราคาไม่แพง ก็จะทำให้โลกนี้จะกลับมาคืนสู่สภาพเร็วขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ต้องทบทวนดู”

มงคล กล่าวว่า ขณะนี้ในวันที่เรายังไม่ทราบแน่ชัดเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บที่เผชิญอยู่ เราก็ประมาทไม่ได้ ผู้ประกอบการหลายคนจะต้องปรับรูปแบบของธุรกิจหรือแนวทางให้พอเพียงกับรายได้ที่เข้ามา อาจจำเป็นที่ต้องลดค่าใช้จ่ายต่างๆ พนักงานที่มีอยู่ก็ต้องพยายามหมุนเวียนกันมาทำงาน จะจ้างเต็มที่เหมือนแต่ก่อนคงไม่ได้ หลายคนค่าจ้างก็จะลดน้อยลงกว่าเดิม เพราะต้องสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาทำงาน ดังนั้นเราก็อย่าไปนั่งรอบุญวาสนา หรือรอรัฐบาลมาช่วย ต้องพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก

ขณะนี้ธุรกิจหลายอย่างก็ต้องพิจารณาให้ดีว่ามีความสามารถในการแข่งขันอยู่หรือไม่ หรือถ้าดำรงอยู่ไม่ได้ก็ต้องเลิก เพราะถ้าไม่เลิกวันนี้ก็ยิ่งเจ็บหนักเข้าไปอีก จากประสบการณ์หลายอย่างที่ตนเองผ่านมา 40 กว่าปี คนที่เลิกเร็ว ก็สามารถอยู่รอดไปถึงตอนที่เศรษฐกิจฟื้นกลับมาได้ เพราะฉะนั้นพฤติกรรมที่เรามีอยู่ยังต้องปรับอีกมาก อะไรที่ไม่จำเป็น อะไรที่ไม่สำคัญ ต้องตัดทิ้งหมด

ภาวะของการซื้อขายหรือกำลังซื้อก็ซบเซา แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. บอกว่ายังไม่ถึงภาวะเงินฝืด ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่เป็นภาวะเงินฝืด แต่โอกาสที่จะเป็นสูงมาก โดยเฉพาะคนตัวเล็ก ตลาดของคนจน เพราะในประเทศมีหลายตลาด ส่วนตัวมองว่าสำหรับตลาดของคนตัวเล็ก ของเอสเอ็มอี มันฝืดแล้ว สังเกตได้จากสินค้าหลายอย่าง ถึงแม้จะลดราคาอย่างไร ก็ไม่มีใครซื้อ ก็ถดถอยไปเรื่อย

ทุกวันนี้ พอ 3 ทุ่ม เมืองก็เงียบ เห็นได้ชัดว่าคนยังไม่มีอารมณ์จับจ่าย ไปสังสรรค์ หรือไปกินข้าวนอกบ้าน บรรยากาศนี้ต้องเฝ้าติดตามให้ดี นี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่รัฐบาลอาจต้องมีมาตรการต่างๆ ออกมา แต่อย่าไปรอรัฐบาล ตัวเราต้องพึ่งตัวเองเป็นหลัก

มงคล กล่าวว่า ข้อมูลที่ ธปท.ประกาศทุกสัปดาห์ ณ วันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา มีสินเชื่อรายย่อยที่คนไปขอชะลอการจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย ประมาณ 15 ล้านคน เป็นเงินประมาณ 7 ล้านล้านบาท ประมาณ 1 ใน 3 ของรายได้ประชาชาติ หรือราวๆ เกือบ 40% ก็ถือว่าเยอะ ซึ่งคนเหล่านี้อยู่ในภาวะที่ถูกชะลอการจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย ที่จะครบกำหนดในเดือน ก.ย.นี้

“ทุกคนเหลือเวลาอีกกว่า 2 เดือน ตนเองอยากให้ทุกคนเดินไปหาเจ้าหนี้ทั้งที่เป็นธนาคาร หรือเจ้าหนี้ที่เป็นนอนแบงก์ เพื่อขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพราะเรื่องพวกนี้ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ ราว 10-20 วัน ไม่ต้องกลัว เพราะเป็นเรื่องปกติ และมีเพื่อนอีก 15 ล้านคน ใครไปก่อนจะได้ทำก่อน ทำให้ไม่ต้องกังวล โดยเฉพาะธนาคารรัฐสามารถขยายเวลาได้ถึง 2 ปี”

ผู้ประกอบการจะขอจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย หรือจ่ายจำนวนเงินที่พอจะประคองแบ่งปันเงินแล้วก็เหลือเอาไว้ทำธุกิจ หรือให้ลูกหลานเรียนหนังสือ ภาวะนี้ก็เห็นใจ เพราะเดือนหน้าก็จะเปิดเทอม มหาวิทยาลัยลัยจะเปิดเดือน ส.ค. แล้วนักศึกษา 5 แสนกว่าคนที่จะจบปีการศึกษานี้ ก็ดูเหมือนจะหางานยาก

ก็ให้กำลังใจกัน อย่าเลือกงาน แล้วเราก็เป็นคนสร้างงานเองได้ เราสามารถเอาสิ่งที่มีอยู่ หรือใกล้ตัวมาทำได้หมด แล้วก็อาจจะไปคลุกคลีกับท้องถิ่น ดูว่าท้องถิ่นต้องการอะไร แล้วเราก็ปรับตัวเอง เอาสติปัญญา ความอดทนเข้าไปทำ เพราะตอนนี้ทุกประเทศก็เจอวิกฤติกันหมด เพราะฉะนั้นต้องกลับมาทบทวนวิถีชีวิตของสังคมชุมชนที่ตัวเองอยู่ แล้วมาปรับตัวเองให้เข้ากับเรื่องนี้ให้อยู่ให้ได้

มงคล กล่าวว่า เมื่อมีรายได้ไม่เหมือนเดิม ไม่พอจ่ายหนี้ ที่สำคัญคือต้องเปลี่ยนความประพฤติตัวเองใหม่ ต้องเปลี่ยนการใช้จ่ายของตัวเอง ต้องลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ที่ไม่สำคัญ แล้วรีบไปคุยกับเจ้าหนี้ ไม่ต้องหนี ขอผ่อนผัน 2 ปีแล้วค่อยจ่าย เมื่อเราตั้งตัวได้ หรือเมื่อสถานการณ์กลับมาสู่ปกติ แล้วทำงานจริง ตั้งใจให้มาก เป็นเรื่องที่ต้องอดทน เปลี่ยนพฤติกรรมใหม่  @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น