Influencer Platform ช่วยสื่อสารแก้ปัญหาสังคมได้อย่างไร?

Influencer Platform นอกจากจะช่วยให้ธุรกิจสามารถขายของได้ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยสื่อสารในการแก้ปัญหาสังคมผ่าน Influencer จิตอาสา ที่จะส่งต่อข้อมูลไปถึงประชาชนด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ทำให้การสื่อสารเกิดผล

สุวิตา จรัญวงศ์ CEO & Co-Founder บริษัท เทลสกอร์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทเป็นสตาร์ตอัพ สายมาร์เก็ตติ้ง เทค เป็นเครื่องมือทำการตลาดออนไลน์ ที่เราทำให้ Influencer สื่อสารร่วมกับธุรกิจ เพื่อที่จะโปรโมทธุรกิจ การทำ Influencer Platform ก็คือเราจะเป็นตลาดกลาง ซอฟต์แวร์เรา รวบรวม Influencer กว่า 4 หมื่นคน

สุวิตา จรัญวงศ์

โดยโซนที่เราโฟกัสเป็น Micro Influencer เพราะการสื่อสารที่จะสร้างปริมาณให้ขับเคลื่อนธุรกิจได้จริงๆ จำเป็นต้องการคนจำนวนมาก เราใช้เทคโนโลยีอย่าง Machine Learning ปัญญาประดิษฐ์ที่จะช่วยเลือก Influencer ที่มี Performance สูง เพื่อที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตได้จริง เพราะฉะนั้นถือว่าจุดเด่นเราอยู่ที่เทคโนโลยี เรียกว่าเป็นแพลตฟอร์มการจ้างงานที่มี Machine Learning มาช่วย

เราจะแบ่งหมวดออกเป็น 12 หมวด เช่น สายอาหาร ธุรกิจ ท่องเที่ยว แก็ดเจ็ต เครื่องมือไอที บิวตี้ แม่และเด็ก การเงินการลงทุน ขณะเดียวกันเราจะมีสายที่เรียกว่า Everyday Influencer คือเป็นประชาชน ใครก็ได้ที่มีโซเชียล เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ยูทูปต่างๆ สามารถสมัครเข้ามาได้

เราจะมีเกณฑ์พิจารณาอยู่เล็กน้อย มีบ้างที่อาจจะไม่ผ่าน แต่เกณฑ์เราค่อนข้างจะแฟร์ ถ้าเพื่อนน้อย เราก็จะมองเรื่องของคุณภาพ ถ้าทำคอนเทนต์ดีก็ผ่านแน่นอน ถึงแม้จะมีเพื่อนหลักร้อยก็เข้าได้แล้ว

สุวิตา กล่าวว่า ในสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ทุกคนได้รับผลกระทบหมด Influencer Marketing ก็เช่นกัน สิ่งที่โชคเข้าข้างเราก็คือ เราเป็นการสื่อสารแบบเพียร์ทูเพียร์ กลายเป็นว่าช่วงธุรกิจไม่ดี คนอื่นก็มาพึ่งพาเราเยอะ เพราะเขาตัดงบมีเดียที่เป็นโฆษณาตัวใหญ่ๆ ออกไป ของเราใช้งบประมาณไม่มาก แต่ยังเข้าถึงผู้บริโภคได้อยู่

เราก็เห็นลูกค้ารายใหม่ๆ เข้ามาใช้บริการของเราในช่วงนี้เยอะขึ้น แต่ก็มีลูกค้ารายใหญ่บางเจ้าที่เบรคมีเดีย เพราะเขาไม่มั่นใจในสถานการณ์ เราเห็นเดือนนี้กลับมาแล้ว แต่สองเดือนที่ผ่านมาเขาก็ขอเบรค แต่รายเล็ก สองเดือนที่ผ่านมากลับเข้ามาเยอะขึ้น เพราะใช้เงินไม่มาก แล้วก็ช่วยขายของได้จริง อย่างเอสเอ็มอีเราทำให้เขาได้เจอผู้บริโภค ปิดการซื้อการขายกันไปได้เป็นธรรมชาติ

บริษัทเทลสกอร์ ยังใช้ Influencer Platform ในการช่วยแก้ปัญหาสังคมด้วย สุวิตา กล่าวว่า เรามีเจตนาตั้งแต่แรกที่เราเปิดบริษัทมาเมื่อ 3 ปีก่อน โดยตั้งปณิธาณว่าเราจะมีโฟกัสทางด้านของ Micro Influencer ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มแรก ที่เรามองว่าถ้าเราเป็นสื่อ เราก็มองว่ามีพลัง และพลังนี้เราจะไปขับเคลื่อนอะไรได้บ้าง นอกจากเรื่องของพาณิชย์ ทำให้ธุรกิจขายของได้ดีขึ้น

อย่างวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ทำการสื่อสารออกไปจำนวนมาก เราก็เลยไปเสนอว่าเรามีกองทัพ Influencer เป็นหมื่นๆ คน ซึ่งแต่ละคนก็มีเพื่อนรวมกันแล้วประมาณ 30 กว่าล้านคนในเมืองไทย เราก็เลยให้ Influencer ทำคอนเทนต์ให้ ปรากฏว่า Influencer ช่วงนั้นก็กลายเป็นสายพันธุ์จิตอาสา 2,200 คน มาร่วมกับเราช่วยทำคอนเทนต์ ขอบคุณ Influencer ทุกคนที่ช่วยงานเรา ซึ่งมีทั้งไซส์ใหญ่ ไซส์เล็ก

ช่วงแรกที่คนไทยกลับบ้านต่างจังหวัดตอนปิดเมือง เราก็ทำคอนเทนต์ Social distancing ลงไปที่ต่างจังหวัดโดยตรง แพลตฟอร์มเรามีข้อดี ตรงที่เรากำหนดโลเคชั่นลงไปได้ว่า จังหวัดไหนที่กำลังมีแรงงานเดินทางกลับบ้านเยอะ เราก็ให้ Influencer ในจังหวัดนั้นสื่อสารเรื่องนี้เลย เพราฉะนั้นก็จะเร็ว วันถัดมาก็ถึงหูประชาชนในจังหวัดนั้นแล้ว

ทำให้เห็นพลังของตรงนี้ หน่วยงานต่างๆ ก็ฝากข่าวให้เราทำสื่อสารเรื่องต่างๆ ด้วย ซึ่ง Influencer ต้องไปตัดตอน ทำให้เป็นภาษาพูดที่ฟังสบาย เพื่อให้ประชาชนเข้าใจง่ายๆ เป็นจุดที่ adapt คอนเทนต์ให้เข้าหูง่ายๆ ก็เลยทำให้การสื่อสารเกิดผล ซึ่งโครงการที่เทลสกอร์เข้าไปช่วยเหลือสังคม เช่น เทใจดอทคอม มูลนิธิเพื่อคนไทย ที่ Influencer ของเราจะช่วยกันออกเสียงขยายผลในเรื่องต่างๆ เช่น โครงการผลิตหน้ากากให้เด็กที่อยู่ชายขอบประเทศ

สำหรับพันธมิตรที่ต้องการเข้าร่วมงานกับเรา ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เพราะเราเพิ่งทำปีที่ 2 โครงสร้างเราเลยไม่มีค่าใช้จ่ายอะไร ใครที่ต้องการให้เราช่วยสื่อสารก็มาเข้าคิวได้เลย กำลังของ Influencer ที่เข้าร่วมในโครงการที่เรียกว่ารีวิวจิตอาสา หลายร้อยคนก็จะพูดให้เลย แต่บางคนอาจเข้าคิวรอนานกว่าที่มูลนิธิจะได้สื่อสาร

เรากำลังขยายในปีนี้ ปีหน้า ว่าเราจะทำโครงการที่ทำอย่างไรให้ยั่งยืน เลี้ยงตัวเองได้ แล้ว Influencer เหล่านี้ เราก็ไม่อยากให้เขาทำงานฟรี แต่หน่วยงานเพื่อสังคมเราจะไม่คิดค่าใช้จ่ายเด็ดขาด เราไม่ได้ไปจดทะเบียนว่าเป็นโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์ ที่เป็นบริษัทไม่หวังผลกำไร เราเป็นบริษัทเอกชนปกติ ที่ตั้งปณิธานอันดับแรกว่า โปรเจ็กต์ที่เราสร้างรายได้ให้พนักงาน ให้ตัวเราเอง ก็จะเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมด้วย เช่น โครงการพลังงานสะอาด โครงการเกี่ยวกับขยะ

สุวิตายังฝากถึงภาคธุรกิจที่อยากเข้ามาร่วมแก้ปัญหาสังคมว่า บริษัทเราก็เล็ก หน่วยงานเรามีพนักงานเพียงสิบกว่าคน การเข้าไปช่วยสังคม จะเอาตัวเองรอดหรือไม่ เรามองว่าตรงนี้เป็นจุดที่น่าคิด ถ้าเราทำประเด็นสังคมเป็น ซีเอสอาร์ อิน โพรเซส เราไม่ได้แยกเป็นการทำบุญ แล้วเราไม่จำเป็นต้องทำฟรี แสดงว่าเราสามารถมองมันเป็นก้อนงานที่ยั่งยืนได้

เพราะฉะนั้นหน่วยงานอื่นที่สนใจประเด็นสังคม ก็ไม่ต้องตั้งหน่วยงานแยก ไม่ต้องตั้งเป็นมูลนิธิก็ได้ สามารถที่จะทำบางโปรเจ็กต์เป็น initiative ภายในองค์กรได้เลย เพียงแค่จับประเด็นเป็นประเด็นทางสังคมที่สอดคล้องกับความต้องการ เท่านี้ก็จะเริ่มหา S Curve ใหม่ของตัวธุรกิจไปพร้อมๆ กับการทำงานที่เป็นด้านของความยั่งยืนด้วย

ยุคนี้เราจะดูถูกพลังการสื่อสารในโซเชียลมีเดียไม่ได้ ทุกคนที่มีเพื่อนตั้งแต่หลักร้อย หลักพัน หลักหมื่นคน เรากำลังส่งอิทธิพลทางความคิดให้เพื่อนเราทุกวันไม่ต่ำกว่า 50-100 คน ทุกวันเลย เพราะฉะนั้นถ้าเราจะใช้พลังตรงนี้มาทำประโยชน์ด้านอื่น ถ้าอยากเป็นนักรีวิว ก็สามารถขายของได้ ซึ่งเรามีโปรแกรมเป็นโรงเรียนชื่อ Influencer Academy จะมาช่วยสร้างแท็กติกของบล็อกเกอร์ให้ แล้วมารับงานจริงได้ ถ้าสนใจไปมากกว่านั้นก็มาช่วยประเด็นสังคมได้อีก เหมือนกับมีสองเด้ง อยากรับรีวิวก็ได้ อยากทำงานเพื่อประเด็นสังคมก็ได้ เราจะเป็นเหมือนผู้จัดการ จัดการให้หมด ส่งงานให้ วัดผลให้ด้วย  @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น