ลุยธุรกิจหลังคลายล็อกดาวน์ “ไม่ง่าย” ปรับเปลี่ยนอย่างไรให้ไปต่อ!!

หลังรัฐบาลผ่อนคลาย”ล็อกดาวน์” ผู้ประกอบการจะต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ถ้ายังใช้วิธีการเดิมคงจะอยู่ไม่รอด รายได้จะไม่พอกับรายจ่าย ต้องเรียนรู้เรื่องการเติมทุน เติมปัญญา เติมนวัตกรรม เติมโอกาสให้กับธุรกิจ

มงคล ลีลาธรรม อดีต CEO SME Development Bank กล่าวว่า รัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด-19 ออกมาเป็นระยะๆ หลายคนก็เริ่มเปิดดำเนินการกิจการ แต่ผู้ประกอบการรายเล็กยังไม่สามารถมีรายได้กลับมาเหมือนเดิม ขณะที่เอสเอ็มอีหลายรายพบว่าคำสั่งซื้อจากต่างประเทศยังไม่กลับมาเหมือนเดิม เพราะในสหรัฐ ยุโรป หรือจีนเอง ก็ยังไม่สามารถที่จะสั่งซื้อได้ในระดับปกติ ในภาวะอย่างนี้เรียกว่ามองไม่ค่อยชัด มีความผันผวน และซับซ้อน เพราะมีอีกหลายปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้

ดังนั้น สิ่งที่อยากจะเตือนผู้ประกอบการก็คือ เราต้องอยู่กับโควิด-19 อีกเป็นปี หรือมากกว่า 1 ปี ตราบใดที่วัคซีนหรือยารักษายังไม่ออกมาอย่างชัดเจน โรคนี้ก็ยังคงถูกกำกับด้วยมาตรการนี้ ดังนั้น ผู้ประกอบการทุกคนจะต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ถ้ายังใช้วิธีการเดิม รูปแบบเดิม ก็คงจะไม่สามารถอยู่รอด เพราะรายได้จะไม่พอกับรายจ่าย เช่น ลิฟต์ในอาคารสูง เมื่อก่อนขึ้นได้ 15-20 คน เดี๋ยวนี้ยืนในลิฟต์ได้ 4-8 คน เพราะต้องมีระยะห่าง แล้วทุกคนต้องมายืนรอลิฟต์ ใช้เวลามากกว่าเดิม คนโดยสารน้อยกว่าเดิม ขณะที่ต้นทุนเรื่องไฟฟ้าที่ใช้เคลื่อนย้ายลิฟต์ ยังเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นต้นทุนก็จะสูงขึ้น

วันนี้มีหลายกิจการ ถ้าจะเปิดดำเนินการ พนักงานจะถูกห้ามหรือให้หลีกเลี่ยงการสัญจรโดยใช้รถสาธารณะ ที่ประเทศจีน โรงงานใหญ่ๆ ต้องใช้รถของโรงงานเองไปรับส่งพนักงาน โรงงานที่ประกอบอาหาร ห้ามพนักงานใช้รถสาธารณะ จะเห็นได้ชัดเจนว่าต้นทุนจะสูงขึ้น มีกฎระเบียบมากขึ้น

ส่วนร้านอาหาร เมื่อก่อนเปิดร้าน มีคนมากินเยอะ มีรายได้เป็นแสนต่อเดือน เนื่องจากมาเป็นหมู่คณะ หรือมาเป็นครอบครัว หรือมาสังสรรค์ พูดคุยธุรกิจ เพราะฉะนั้นก็จะสั่งอาหารหลายอย่าง ราคาต่อหัวตกคนละ 200-500 บาท ถ้าเป็นโรงงานชั้นหนึ่ง ก็เกือบร่วมพันบาทขึ้นไป แต่วันนี้ถูกข้อจำกัดว่า ต้องนั่งกินคนเดียว ถ้ากิน 2 คน ก็ต้องอยู่คนละโต๊ะ ห่างกันประมาณละ 1.5 เมตร ก็จะไม่มีอารมณ์สั่งอาหารมากมาย เพราะฉะนั้นรายได้ต่อหัวก็จะน้อยลง แล้วจำนวนหัวที่จะรับก็น้อยลงไปด้วย

เมื่อเจอบรรยากาศแบบนี้ หลายคนก็ไม่อยากไปกินที่ร้าน แต่จะซื้ออาหารมาสังสรรค์ที่บ้าน หรือมาคุยในที่ทำงาน ทำให้ผู้ประกอบการทั้งหลายต้องตระหนักว่า วันนี้สัญญาณชัดเจนแล้วว่าจะทำในสิ่งที่เหมือนเดิม หรือรูปแบบเดิมนั้นไม่ได้ ต้องคิดว่าถ้าในขณะที่เลวร้ายสุด ท่านทั้งหลายจะทำอย่างไรในเรื่องของรูปแบบการประกอบการ หรือวิธีการในการให้บริการลูกค้า รวมถึงจำนวนลูกจ้างที่มีอยู่

มีหลายหน่วยงานในหลายประเทศเริ่มที่จะลดพนักงานลง เช่น สายการบินใหญ่ๆ ก็ตัดสินใจลดขนาดเที่ยวบินลงมา จำนวนเครื่องบินลดลงมาถึง 40% แล้วก็ลดคนลงมา 10% เพื่อจะเปลี่ยนโครงสร้างของการประกอบธุรกิจ เพราะฉะนั้นเลวร้ายสุด ผู้ประกอบการต้องนึกอยู่ตลอดเวลาว่า ท้ายที่สุดจะต้องทำอย่างไรเหลือขนาดของธุรกิจให้เล็กที่สุด น้อยที่สุด หรือค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด ที่จะพออยู่ได้ ก็อยากจะฝากผู้ประกอบการทั้งหลายติดตาม และคำนึงถึงเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

“ต้องเริ่มคิดว่าถ้ารายได้ของท่านเหลือ 10% จากที่เคยได้ ท่านต้องมีโครงสร้างค่าใช้จ่าย คนอยู่เท่าไร เครื่องไม้เครื่องมือที่จะบริการจะเหลือรูปแบบอย่างไร หรือถ้า 20% 50% เป็นอย่างไร ต้องรีบอ่านคิดเรื่องนี้ เพื่อที่จะอยู่ได้และไม่ตกใจ และยอมรับความจริง เหลือไว้แต่สิ่งที่เป็นจุดแข็งของเรา ทำสิ่งที่เราถนัดและไม่ขาดทุน โลกของธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง เพราะฉะนั้นถ้าจะทำโดยจำนวนคนเท่าเดิม วิธีการเหมือนเดิม เช่าสถานที่เท่าเดิม ก็อาจจะอยู่ยากแล้ว”

มงคล กล่าวว่า ผู้ประกอบการต้องเอากระแสรายได้เป็นตัวตั้ง ถ้ารายได้มีเพียงเท่านี้ เราจะอยู่ได้อย่างไร แล้วเราจะทำอย่างไร เพราะรายได้มันไม่กลับมาเหมือนเดิมแล้ว ทุกอย่างจะต้องเปลี่ยนแปลง บางคนก็อาจจะโชคดี ซึ่งมีน้อยมากคือรายได้เพิ่มขึ้น แต่ 90% หรืออย่างน้อย จะมีรายได้ถดถอยหรือน้อยลง บางคนจะเหลือแค่ 10% ดังนั้นคงต้องคิดอ่านอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แล้วก็ต้องระดมความคิดเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ธุรกิจเดิมที่อาจไม่เหมาะกับยุคสมัย อาจถึงขั้นต้องเลิกไปเลย แล้วหาธุรกิจใหม่ทำ อย่างสายการบินแอร์เอเชีย วันนี้เขาบินไม่ได้ เขาก็มาดูว่าอะไรที่จะทำรายได้ เลี้ยงพนักงานได้บางส่วน เขาก็เอาชาไข่มุกที่ขายดีมาลงโฆษณาออนไลน์ วันนี้ชาไข่มุกของแอร์เอเชียขายได้จากวันหนึ่งไม่กี่ร้อยถ้วย ตอนนี้ก็หลายพันถ้วยต่อวัน หรืออาจจะถึงหมื่นถ้วยต่อวันเลยก็ได้ เป็นเรื่องที่หลายคนพยายามจะทบทวน เปลี่ยนแปลง โดยเอารายได้ จุดแข็งของตัวเองเป็นหลัก เป็นตัวตั้ง

เมื่อมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวยาวนาน การที่ธุรกิจจะกำหนดราคาเพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงสุด จะสามารถทำได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างไร การใช้จ่ายของลูกค้านั้นเป็นไปอย่างชั่วคราว หรือถาวร หรือสถานการณ์ที่ยังมีข้อกำหนด เช่น ธุรกิจกลางคืนก็แย่ เพราะติดเคอร์ฟิว พอ 3 ทุ่มคนก็กลับบ้านหมด อย่างประเทศญี่ปุ่นก็ยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ธุรกิจก็ยังไม่กลับมาเหมือนเดิม เพราะคนก็ต้องประหยัด และคนอยู่ในสถานการณ์นี้จนเริ่มเคยชินแล้ว

ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องเอารายได้เป็นตัวตั้ง ถ้าคาดว่ารายได้เป็นเท่าไร ก็ต้องจัดทรัพยากร หรือโครงสร้างธุรกิจของเราให้กระชับ สั้นขึ้น แล้วก็มีอะไรสักอย่างหนึ่งเป็นตัวดึงดูดลูกค้า อย่างทุกวันนี้จะสังเกตเห็นว่าอะไรที่ 25 บาท จะขายดีมากเลย จะเห็นป้ายที่ติดอยู่ตามข้างถนน ถ้าเขียนว่าจานละ 25 บาท 30 บาท จะขายดีมาก เพราะคนเริ่มประหยัดมากขึ้น

ส่วนธุรกิจออนไลน์จะใช้ได้กับพฤติกรรมบางประเภท โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นอุปโภค ไม่ใช่บริโภค เพราะสินค้าบริโภค คนส่วนใหญ่จะสั่งซื้อเท่าที่จำเป็น เพราะไม่ได้สั่งมากินที่ร้านในลักษณะของการสังสรรค์ ที่จะสั่งอาหารหลายอย่าง เพราะฉะนั้นต่อหัวของการกินออนไลน์ กับต่อหัวที่กินออฟไลน์ กินในร้าน จะต่างกันโดยสิ้นเชิง ปริมาณของรายได้ที่มาจากออนไลน์จะน้อยกว่าของออฟไลน์ ที่เปิดให้สังสรรค์ เปิดให้คนกินเป็นธุรกิจ หรือเป็นครอบครัว เพราะฉะนั้นโครงสร้างที่จะทำตรงนี้ ค่าใช้จ่ายก็ต้องต่ำ และยังต้องเสียค่าขนส่งให้พวกโลจิสติกส์อีก บางคนก็เรียกถึง 30% ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่เราต้องเตรียมการให้ดี ต้องมีโครงสร้างที่เหมาะสม

สำหรับหลายคนที่เป็นลูกจ้างตลอดชีวิตที่ผ่านมา แล้วมาต่อยอดเป็นผู้ประกอบการ โอกาสนี้ก็ต้องถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในชีวิต ก็ขอให้คิดเป็นบวกว่าเราเองได้ถือโอกาสนี้ในการเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ แต่อย่าลืมตรวจสอบว่าเรามีจุดแข็งอะไร มีจุดอ่อนอะไร ในส่วนที่เราขาดก็ต้องพยายามจะเติมด้วย ต้องเรียนรู้ใหม่ๆ ทั้งเติมทุน เติมปัญญา เติมนวัตกรรม เติมโอกาส เติมอะไรหลายๆ อย่าง เพราะจุดแข็งของเราจะมีบางเรื่อง จะมีไม่ครบถ้วน ซึ่งอาจทำให้ธุรกิจเสียหายได้  @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น