บทบาท มช. กับการมีส่วนร่วมในวิกฤติ Covid-19

ภาพจาก Facebook : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ Chiang Mai University

มช. ผลิตนวัตกรรมป้องกันโควิด-19 อาทิ หน้ากากนาโน, Negative Pressure Room และแอปพลิเคชั่นคัดกรองกลุ่มเสี่ยง จัดเตรียมหอผู้ป่วยโควิด-19 ใน รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ ออกมาตรการช่วยเหลือ นศ.ที่ได้รับผลกระทบ

ศ.คลินิก นพ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือ มช. กล่าวว่า เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มช.เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐก็ต้องดำเนินการตามมาตรการและนโยบายของรัฐ โดยรัฐบาลประเมินว่าผลจากโควิด-19 จะทำให้คนว่างงานมากถึง 6-7 ล้านคน และ มช.อยู่ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว.

ศ.คลินิก นพ.นิเวศน์ นันทจิต

ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวง อว.มีนโยบายให้ความช่วยเหลือตั้งแต่โครงการสร้างงานไม่น้อยกว่าหมื่นอัตราในระยะเวลา 5 เดือน โครงการพัฒนาทักษะสร้างอาชีพผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รีสกิล อัพสกิลคน การพัฒนาคนรุ่นใหม่ เช่น บัณฑิตอาสายุวชนสร้างชาติ รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือนิสิต นักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากโรคนี้ด้วย

ทั้งนี้ มช.ได้ประดิษฐ์นวัตกรรมที่ช่วยเหลือป้องกันโควิด-19 เริ่มตั้งแต่การผลิตเจลแอลกอฮอล์ กับ 70%แอลกอฮลอล์ ใช้ในทุกคณะใน มช. รวมถึงบุคคลธรรมดา และส่วนงานต่างๆ ใน จ.เชียงใหม่ นอกจากนี้ ยังผลิตหน้ากากนาโน ที่เรียกว่า MASK 4 ALL  ที่ป้องกัน PM2.5 และช่วยป้องกันโควิด-19

ขณะที่คณะวิศวกรรมศาสตร์จัดสร้าง Negative Pressure Room ที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และห้องตรวจโอพีดีของโรงพยาบาล ประดิษฐ์หุ่นยนต์ขนส่งอาหารในหอผู้ป่วย ประดิษฐ์อะครีลิคสวมใส่ที่ใบหน้าป้องกันการไอหรือจาม ประดิษฐ์เตียงต้นแบบสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ มุ้งความดันลบ คณะสาธารณสุขก็ผลิตแอปพลิเคชั่นที่ใช้ในการคัดกรองผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ทำให้สามารถรายงานภาวะความเจ็บป่วยได้รวดเร็ว

สำหรับโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ สังกัดคณะแพทยศาสตร์ มช. ก็ได้เตรียมพื้นที่คัดกรองผู้ป่วยที่มารับการตรวจที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก และจัดเตรียมหอผู้ป่วยโควิด-19 ไว้โดยเฉพาะ ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ก็จะอยู่ในห้องแยกความดันลบ โรงพยาบาลได้ดำเนินการและให้การรักษาผู้ป่วยร่วมกับ จ.เชียงใหม่ สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ในการดูแลร่วมกับโรงพยาบาลอื่นๆ ของ จ.เชียงใหม่ มาโดยตลอด ตั้งแต่จุดเริ่มต้นมาจนถึงปัจจุบัน

ส่วนเรื่องการคิดค้นวัคซีนนั้น ศ.คลินิก นพ.นิเวศน์ กล่าวว่า เรื่องวัคซีนเป็นเรื่องของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำความตกลงกับต่างประเทศ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเริ่มต้นดำเนินการในเรื่องนี้ ยังไม่ถึงโรงเรียนแพทย์ ในส่วนของโรงเรียนแพทย์ เราได้ร่วมมือกันในส่วนภูมิภาค เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา ร่วมกับ 4 โรงเรียนแพทย์ในกรุงเทพฯจัดตั้งเป็น Thailand Clinical Research Enterprise แต่อยู่ในช่วงดำเนินการเพื่อทำการวิจัยในคน ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนดำเนินการ ใกล้เรียบร้อยแล้ว ถ้าเรียบร้อยแล้วคงมีข่าวประกาศออกสู่สาธารณชนภายในปีนี้

โครงการนี้จะมีการวิจัยร่วมในคนอื่นๆ รวมทั้งอาจมีเรื่องวัคซีนด้วย ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อยน่าจะเป็นปี กว่าวัคซีนจะเรียบร้อย และออกมาให้การรักษาได้ ซึ่งเรื่องวัคซีนส่วนใหญ่มักจะดำเนินการอยู่ในประเทศที่มีคนไข้เยอะๆ เช่น ประเทศจีน หรือประเทศในภาคพื้นยุโรป ที่มีผู้ป่วยโรคนี้จำนวนมาก

ในส่วนของการเรียนการสอน มช.ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ค่อนข้างมาก และตั้งแต่เริ่มมีปัญหา มช.ก็ใช้การเรียนการสอนแบบออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. เป็นต้นมา และยังดำเนินการมาถึงปัจจุบัน รวมทั้งใช้มาตรการอื่นๆ ช่วยให้การเรียนการสอนมีคุณภาพคงเดิม อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ จากการที่สังคมได้รับผลกระทบจากโควิด-19 คือการว่างงาน ซึ่งนักศึกษาต่างๆ ก็คงได้รับผลกระทบหากผู้ปกครองไม่มีงานทำ

ทั้งนี้ มช.ก็กังวลและเกาะติดสถานการณ์นี้มาตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม เราขอสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ช่วยอนุมัติกองทุนช่วยเหลือบรรเทานักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 250 ล้านบาท สภาฯ ให้ความเห็นชอบตั้งแต่การประชุมปลายเดือนมีนาคม เราเตรียมการตั้งแต่สถานการณ์ยังไม่สุกงอม ความจริงแล้วมีทั้งหมด 400 ล้านบาท แต่ปี 2563 ให้ความช่วยเหลือ 250 ล้านบาท

กองทุนนี้ในเบื้องต้นเจตนาคือต้องการให้นักศึกษาได้หยิบยืมเงินจากกองทุนนี้ ไปช่วยเป็นค่าธรรมเนียมการศึกษา ชำระค่าหอพักทั้งข้างในและข้างนอก รวมทั้งค่าใช้จ่ายประจำเดือน แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มหนักขึ้น มีผลกระทบมากขึ้น มช.ก็ได้ดำเนินการในขั้นต่อไป คือลดค่าธรรมเนียมการศึกษาของนักศึกษาทุกคนใน มช. 4,500บาท ตั้งแต่ภาคฤดูร้อนเป็นต้นไป แล้วตั้งงบทุนการศึกษาแบบให้เปล่าอีก ทั้งของมหาวิทยาลัยเอง ทั้งของส่วนกลางอีก 150 ล้านบาท ซึ่งน่าจะครอบคลุมทุนประมาณ 4,000-5,000 คน เป็นอย่างน้อย ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือบรรเทา

นอกจากนี้ ยังมีสิ่งอื่นๆ อีก เช่น การจัดซิมโทรศัพท์แบบให้เปล่าแก่นักศึกษา เพื่อช่วยในการเรียนการสอนออนไลน์ ซึ่งใช้วงเงินร่วม 15 ล้านบาท ขณะนี้กำลังเตรียมคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตสำหรับให้นักศึกษาใช้ในกรณีที่ไม่มีความสามารถจัดหา ส่วนกรณีที่นักศึกษามีความสามารถจัดหาได้ เราได้ติดต่อบริษัทห้างร้าน เพื่อให้นักศึกษาได้ซื้อในราคาพิเศษ หรือผ่อนชำระโดยไม่มีดอกเบี้ย นี่คือสิ่งที่มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา

ศ.คลินิก นพ.นิเวศน์ กล่าวว่า การที่ มช. ถูกลดงบประมาณตามนโยบายของรัฐบาล ก็ทำให้ มช.ได้รับผลกระทบพอสมควร ปกติ มช.ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลมา 5,900-6,000 ล้านบาท/ปี ในปี 2563 ได้รับงบประมาณกว่า 5,500 ล้านบาท และเมื่อมีโควิด-19 ก็ถูกลดงบประมาณไปอีกส่วนหนึ่งด้วย มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องใช้เงินรายได้ของมหาวิทยาลัยที่มีสะสมอยู่ เอามาใช้ทดแทนเงินแผ่นดินที่โดนปรับลดไปร่วม 500 ล้านบาท เพื่อไม่ให้มหาวิทยาลัยได้รับผลกระทบ เพื่อให้คุณภาพของการเรียนการสอน การวิจัยคงที่อยู่

สำหรับโควิด-19 ที่เกิดขึ้นมาแล้ว มันไม่ได้หายไปและจะยังคงอยู่ไปกับเราตลอด เพียงแต่ว่าจะอยู่ในรูปแบบที่เราควบคุมได้มากน้อยเพียงใด ตราบจนกว่าจะมีวัคซีนถึงจะป้องกันโรคนี้ได้ 100% เพราะฉะนั้นขณะนี้มาตรการที่เรียกว่าการ์ดไม่ตก ก็ต้องคงอยู่ตลอด การเรียนการสอนก็เช่นเดียวกัน วันนี้ (14 พ.ค.) หลังจากไม่มีคนไข้มาตลอดเกือบ 5 สัปดาห์ จ.เชียงใหม่ ก็มีคนไข้ใหม่ขึ้นมาอีก 1 ราย เป็นคนที่เดินทางมาจาก จ.ภูเก็ต และกลับมาที่ จ.เชียงใหม่

เราคาดว่าถ้า จ.เชียงใหม่ ไม่มีโรคนี้เลยประมาณ 1 เดือน การเรียนการสอนที่จะเกิดขึ้นมาใหม่หลังเปิดภาคการศึกษาแล้ว ก็น่าจะเริ่มการเรียนการสอนแบบคลาสรูมได้ แต่เป็นการเรียนการสอนที่ไม่เหมือนเดิม เป็นมาตรการจะเรียกว่า New Normal ก็ได้ คงจะต้องมีมาตรการเตรียมการ คือการรักษาระยะห่างในสังคม การใช้หน้ากากอนามัย การทำความสะอาดห้องเรียน เครื่องใช้ การเตรียมเจลล้างมือ การวัดอุณหภูมิ

ต่อไปพวกนี้คงจะเป็นสิ่งปกติที่พวกเราในสังคมจะต้องเจอเสมอๆ เพราะโรคนี้ยังไม่หายไปไหน มหาวิทยาลัยก็ต้องเตรียมการในการพัฒนาสื่อการสอนที่มีคุณภาพ โชคดีที่ มช.ได้เตรียมการสร้างศูนย์นวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ ก่อสร้างมาปีเศษ ตอนนี้เสร็จพอดี กำลังติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ อยู่ ภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า เมื่อเปิดเทอมเราพร้อมที่จะใช้ศูนย์นวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ได้ทันที ทำให้เราจะมีสมาร์ตการ์ดรูม มีสตูดิโอต่างๆ ในการผลิตสื่อการสอนให้มีคุณภาพมากขึ้น โดยเฉพาะสื่อการเรียนการสอนแบบออนไลน์ เพราะเรายังไม่รู้ว่าจะมีโควิด-19 จะมี Second Wave หรือการระบาดระลอกสองเกิดขึ้นมาเมื่อไร  @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น