TPA จัดให้ “เรียนด้วยได้บุญด้วย” ไม่ต้องจ่ายค่าเรียน แค่บริจาคให้การกุศล

ภาพจาก www.thaiprogrammer.org

TPA จัดทำโครงการ”SME ไทยและชาวเน็ตร่วมใจ เรียนด้วยได้บุญด้วย” เปิดสอนคอร์สเรียนออนไลน์ เกี่ยวกับเรื่องดิจิทัล ผู้สนใจเพียงบริจาคเงินจำนวนเท่าไรก็ได้ ผ่านองค์กรการกุศลที่ช่วยเหลือผู้เดือดร้อนจากโควิด-19

กฤษฎา เฉลิมสุข นายกสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย หรือ TPA กล่าวว่า บทบาทของ TPA ปีนี้ อย่างแรกจะเน้นเรื่องการศึกษา เราพยายามจะมีคอร์สต่างๆ ที่สอนโปรแกรมเมอร์ ทั้งที่สอนฟรี หรือสอนในราคาถูก เพื่อให้การศึกษาเข้าถึงทุกคน เรื่องที่สอง คือเรื่องงาน เราก็ช่วยหางานไม่ว่าเป็นงานฟรีแลนซ์ หรืองานฟลูไทม์ หรือถ้าบริษัทอยากจะหาโปรแกรมเมอร์ เราก็จะช่วย และเรื่องที่สาม คือรวมกลุ่มคอมมูนิตี้ มีการจัดอีเวนต์ ให้คนมาพูดคุยแบ่งปันความรู้กันอย่างกว้างขวาง

กฤษฎา เฉลิมสุข

ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาชีพโปรแกรมเมอร์ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยตนเองมีแบบสอบถามถึงผลกระทบที่โปรแกรมเมอร์ได้รับ มีคนตอบกลับมาประมาณ 150 คน บอกว่าบางที่ก็ปิดบริษัท บางที่ก็ลดเงินเดือน แต่ก็ยังมีคนมาประกาศหางานในสายงานโปรแกรมเมอร์อยู่เรื่อยๆ สรุปก็คือมีการปลดคน แต่คนที่มีความสามารถ หรือโปรแกรมเมอร์ที่เก่ง ที่มีอายุงานเยอะ ก็ยังคงมีงานอยู่เรื่อยๆ แน่นอน

สำหรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังโควิด-19 ที่เห็นได้ชัดเจนคือเรื่องการสื่อสาร ที่มีการใช้แอปพลิเคชั่นต่างๆ ในการสนทนา หรือประชุม เช่น Zoom หรือ Google Hangouts และที่ตามมาคือเรื่องของการจัดการ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทใหญ่หรือบริษัทเล็ก แทบทุกอย่างจะเปลี่ยนเป็นดิจิทัลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบอีอาร์พี ระบบซีอาร์เอ็ม ระบบการวางแผน การซื้อขายต่างๆ ทุกคนจะใช้ไอทีมากขึ้น แล้วพนักงานก็มีเทรนด์อยู่บ้าน หรือยืดหยุ่นเรื่องการทำงานมากขึ้น เพราะฉะนั้นทุกๆ ภาคส่วนจะมีดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น

ส่วนเรื่องการศึกษา ที่เมืองนอกจะมีคอร์สฟรีด้านไอทีอยู่เยอะ เมื่อก่อนเมืองไทยส่วนใหญ่คอร์สพวกนี้จะไม่ฟรี และมีราคาแพง แต่พอมีโควิด-19 คนส่วนใหญ่ก็ทำคอร์สไอทีฟรีมากขึ้น หรือทำให้มีราคาถูกลง ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ดีในแง่ของการศึกษา

สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีที่จะต้องทรานส์ฟอร์มเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล ยิ่งมีโควิด-19 ก็ควรจะเร่งการทรานส์ฟอร์มให้เร็วขึ้น แต่เป็นเรื่องน่าเศร้าที่เอสเอ็มอีมีการทรานส์ฟอร์มน้อยมาก สัปดาห์ที่แล้วตนเองได้คุยกับเอสเอ็มอี เขาบอกว่าปัจจุบัน แค่แก้ปัญหาโควิด-19 รายวัน หาทางเพิ่มยอดขาย เขาก็ไม่มีเวลาทำอย่างอื่นแล้ว แต่สิ่งที่ตนอยากฝากไว้ก็คือ การแก้ปัญหาก็ส่วนหนึ่ง แต่เราต้องมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ไม่ว่าเรื่องการศึกษา เรื่องดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น เอามาปรับทุกส่วนให้เป็นดิจิทัล การคิดในแง่มุมของอินโนเวชั่น

“ไม่ว่าเจ้าของหรือพนักงานต้องปรับตัวมากขึ้นในเรื่องของความรู้ ในเรื่องของอินโนเวชั่น ธุรกิจประเทศไทยจะไม่ค่อยมีอะไรที่เป็นนวัตกรรม หรือสร้างสรรค์ที่เป็นไอทีเยอะ ส่วนใหญ่จะเอาหลักเกณฑ์ของเมืองนอกมาใช้ ดังนั้นไม่ว่าเอสเอ็มอี หรือสตาร์ทอัพ ต้องเริ่มเอาเรื่องของอินโนเวชั่นมาใช้ให้มากขึ้น ไม่งั้นจะอยู่ไม่รอด เพราะทุกคนทำเหมือนกัน แล้วโควิด-19 ทำให้คนที่ดำเนินงาน หรือมาร์เก็ตติ้งสู้คนอื่นไม่ได้ หายไป แต่ถ้าเรามีความรู้ มีอินโนเวชั่น ผมค่อนข้างมั่นใจว่าจะทำให้เราเหนือกว่าคนอื่น”

กฤษฎา กล่าวว่า ความรู้กับอินโนเวชั่นเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น เอสเอ็มอีจะต้องปรับมายด์เซ็ตก่อน เพราะเอสเอ็มอีขยัน แต่การขยัน แล้วเราทำอะไรเหมือนเดิมตลอดเวลา มันไม่ได้ทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างน้อยการหาความรู้มากขึ้น ทำให้กระบวนการการทำงานดีขึ้น ก็จะทำให้เราไม่ต้องเหนื่อยอย่างเดียว แต่จะทำให้เราเหนื่อยแบบสมาร์ท เหนื่อยแล้วได้ประสิทธิภาพดีด้วย

สำหรับโครงการ“SME ไทยและชาวเน็ตร่วมใจ เรียนด้วยได้บุญด้วย” มีที่มาจากการที่เมื่อมีโควิด-19 ก็เห็นมีการบริจาคให้มูลนิธิต่างๆ มากขึ้น ทีมงานเราคิดว่าทำอย่างไรให้มีการบริจาคด้วย และคนที่บริจาคก็ได้ประโยชน์กับตัวเองด้วย จึงเป็นที่มาของโครงการนี้ ซึ่งจะมีการสอนคอร์สออนไลน์ทั้งหมด 40 วัน ประมาณ 30 วิชา แต่ละวิชาจะมีจำนวนชั่วโมงเรียนไม่เท่ากัน บางวิชาอาจเรียน 2 ชั่วโมง 3 ชั่วโมง 2 วัน 3 วัน 4 วัน 5 วัน กระจายเรียนไปตามเดือนพฤษภาคม มิถุนายน และกรกฎาคม

ผู้ที่สนใจจะเรียนให้บริจาคเงินเท่าไรก็ได้ให้องค์กรการกุศลที่กำลังช่วยแก้วิกฤติโควิด-19 ซึ่งจะมีสถานที่ให้เลือกตอนที่ลงทะเบียนออนไลน์ และอัพโหลดสลิปออนไลน์ได้เลย มีการสอน 4 เรื่อง คือ Programming , Digital Marketing , Digital Transformation for SME , Personal Development

โดยจะสอนเรื่องต่างๆ ให้เอสเอ็มอี รวมทั้งผู้ที่ต้องการอัพสกิล รีสกิลตัวเอง ใครที่เรียนแล้วทำโจทย์ครบถ้วน ทาง TPA จะช่วยหางานให้ด้วย ส่วนเอสเอ็มอีที่เป็นสมาชิก TPA จะมีที่ปรึกษาเข้าไปช่วยยกระดับดิจิทัลให้ฟรี 1 วัน ซึ่งการสมัครเป็นสมาชิกสมาคมจะต้องเสียเงิน 5,000 บาท/ปี แต่ถ้าเอสเอ็มอีคนใดประสบปัญหาโควิด-19 ช่วงนี้ก็เข้ามาคุยหลังไมค์ได้ อาจให้ฟรีค่าสมาชิก เพื่อช่วยเหลือกัน

กฤษฎา กล่าวว่า ตนเองนั้นมีความฝัน 2 อย่าง คือ อยากให้การศึกษาดีๆ ไปถึงทั่วไทย กับทำให้คนทั่วไปสามารถเป็นผู้ประกอบการได้ เพราะการศึกษาดีๆ นั้น 90% เป็นคนรวย และในกลุ่มธุรกิจ 95% เป็นคนรวย โจทย์ของตนเองก็คือจะทำอย่างไรให้การศึกษาดีๆ ไปถึงกลุ่มคนที่เหลือ ให้ยกระดับคนทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้ และให้ทุกคนสามารถเป็นผู้ประกอบการได้ ตนเองก็เลยทำเพจ The Self Made ให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาตนเอง เรื่องไอที และธุรกิจทั่วไป เพื่อยกระดับให้คนทั่วไปมีความรู้และสามารถเป็นผู้ประกอบการได้ โดยที่ธุรกิจจะต้องตั้งอยู่บนความรู้  @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น