ธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนรับผู้บริโภคในยุค Covid-19 อย่างไร? หลังปลด”ล็อกดาวน์”

การที่ภาครัฐจะผ่อนคลายมาตรการ”ล็อกดาวน์”ให้กิจการบางประเภทกลับมาเปิดให้บริการได้ ผู้ประกอบการยังต้องป้องกันไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด ต้องสร้างสินค้าและบริการที่มี”คุณค่า” และปรับช่องทางใหม่ มีเดลิเวอรี่ส่งถึงบ้าน

มงคล ลีลาธรรม อดีต CEO SME Development Bank กล่าวว่า การที่ภาครัฐจะผ่อนคลายมาตรการ“ล็อกดาวน์” ให้กิจการบางประเภทกลับมาเปิดให้บริการได้นั้น มีข้อคิดเห็น 2 เรื่องใหญ่ที่อยากฝากถึงผู้ประกอบการทุกคน เรื่องแรกคือเรื่องสุขภาพ ความปลอดภัย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถึงแม้ว่าทางราชการพยายามอย่างยิ่งที่จะให้เริ่มธุรกรรมด้านเศรษฐกิจ หรือที่เรียกว่า “ปลดล็อก”

สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ อยากให้ผู้ประกอบการทั้งหลายดูแลครอบครัว และลูกน้องทุกคน เรื่องมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 อย่างสมบูรณ์ ทั้งการหมั่นล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย กินของร้อน ใช้ช้อนกลาง เพราะถ้าลูกน้องหรือคนในครอบครัวติดโรค ก็จะถูกมาตรการกักตัว แล้วจะเป็นภาระของครอบครัว เนื่องจากต้องหยุดงานร่วม 14-28 วัน อาจกระทบต่อครอบครัว หน้าที่การงาน รวมถึงรายได้ และจะกระทบต่อชื่อเสียง ยิ่งถ้าประกอบธุรกิจอาหารหรือธุรกิจบริการก็จะกระทบกับลูกค้าตามไปด้วย เพราะฉะนั้น แม้ทางราชการจะผ่อนปรนมาตรการ เพราะอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ แต่ผู้ประกอบการและลูกน้องยังคงต้องรักษามาตรการในการระมัดระวังอย่างเข้มงวด

เรื่องที่สอง คือ เรื่องโรคภัยไข้เจ็บ แม้รัฐบาลจะเป็นคนดูแล แต่ความจริงแล้ว ถ้าเกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้นมาอีกครั้ง เรื่องนี้จะกระทบกับสังคมและเศรษฐกิจค่อนข้างมาก จึงฝากข้อคิดว่าลูกค้าที่มาเยี่ยมเยียน หรือมาทำธุรกิจด้วยนั้น ผู้ประกอบการต้องดูแลเขาเหมือนคนในครอบครัว ในการดูแลสุขอนามัย ความปลอดภัย สุขภาพต่างๆ ก็ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดและใช้มาตรฐานเดียวกับที่ดูแลคนใกล้ชิดของเรา เพื่อทำให้เกิดความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ

ส่วนกรณีที่ร้านค้าดูแลมาตรการต่างๆ ในการป้องกันไวรัสโควิด-19 ไม่ดี อาจถูกโพสต์ลงโซเชียลมีเดียได้นั้น มงคล กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่สุดคือการที่เราต้องระวัง ซึ่งการระวังจะทำให้เราช่างสังเกต รวมทั้งจะต้องปรับเปลี่ยน เพราะหลังจากมีโควิด-19 เราต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตและพฤติกรรมของคนเกือบทั้งหมด เพื่อป้องกันเรื่องสุขภาพอนามัย

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่เราต้องเฝ้าสังเกต เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคจะเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเราเรียกว่า New Normal เป็นวิถีปกติที่เป็นเรื่องใหม่ แล้วชีวิตคนเราทุกคนก็จะเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นธุรกิจค้าขายหรือบริการจึงจำเป็นที่ต้องระมัดระวังมากขึ้น อย่างร้านอาหารมีกฎระเบียบว่า จะต้องเว้นอย่างน้อย 1.5 เมตร ซึ่งร้านอาหารสมัยโบราณจะมีฉากกั้นระหว่างโต๊ะ เพื่อความเป็นส่วนตัว รวมถึงสุขอนามัย เวลารับประทานอาหาร หรือเวลาจามก็ไม่กระทบกับโต๊ะอื่น

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ต้นทุนในการดำเนินการสูงขึ้น เพราะการเว้นระยะห่างแบบนี้ ทำให้ปริมาณในการรับบริการก็น้อยไปด้วย สิ่งสำคัญที่สุด คือต้องปรับช่องทางใหม่ ถ้าจะให้มีรายได้เพิ่ม ต้องมีเดลิเวอรี่ส่งไปที่บ้าน หรือส่งไปที่สำนักงานต่างๆ โดยทำแพ็กเกจจิ้งให้มีคุณภาพ ให้คนรู้สึกปลอดภัย ใช้ภาชนะที่บรรจุแล้วถูกสุขอนามัย สิ่งเหล่านี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เราต้องจัดหา แล้วคิดระบบงานในการควบคุมบริการนี้ไว้ด้วย

ที่สำคัญคือระบบการจองคิว ก็มีข้อคิดเห็นว่าไม่อยากให้ลูกค้ามานั่งรอ เพื่อจำกัดให้คนอยู่ในร้านน้อยที่สุด เพื่อให้เกิดระยะห่าง ระยะเวลาของคนที่นั่งอยู่ในร้าน ดังนั้น ระบบงานหรือการที่จะต้องมีพันธมิตร ที่จะมีเครื่องมือมาช่วย คือ แอปพลิเคชั่นในการจองบริการ หรือจองเข้าใช้ร้านอาหาร เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ผู้ประกอบการต้องเรียนรู้ในการเข้าถึงและใช้สิ่งเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ในเรื่องของธุรกิจให้ได้

สำหรับเรื่องเดลิเวอรี่กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ และวันนี้หากผู้ประกอบการทำได้ดี ลูกค้าก็สามารถสั่งเป็นประจำ เป็นระบบสมาชิก สั่งเป็นประจำทุกสัปดาห์หรือเว้นสัปดาห์ ผู้ประกอบการก็จะได้ลูกค้าขาประจำ ส่งไปถึงที่ถึงบ้าน ถึงออฟฟิศต่างๆ เพราะรูปแบบของการค้าหรือบริการนี้ เราสามารถผูกเป็นปิ่นโตได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ เมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว เราก็ใช้บริการแบบนี้ แล้วเรื่องสุขอนามัย ภาชนะที่สำคัญก็คือปิ่นโต ถ้าเราทำถูกสุขลักษณะ ทำให้น่ารัก ก็สามารถดึงดูดลูกค้าได้

ดังนั้น เราต้องเฝ้าสังเกตวิถีชีวิตของผู้บริโภคหรือลูกค้าเราว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร ชอบอะไร แล้วก็อยากได้อะไร เพราะฉะนั้นเราต้องปรับตัวเข้าหา สำคัญที่สุดคือต้องระวัง เพราะปลาที่จะอยู่รอดได้ คือปลาที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ว่องไว

เมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการ“ล็อกดาวน์”แล้ว มงคล กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดก็คือสิ่งที่เรียกว่า”คุณค่า” เพราะในยุคนี้ ทุกคนจะตัดสินใจในสิ่งที่เรียกว่าคุณค่ามากที่สุด อะไรที่ไม่จำเป็น อะไรที่ไม่สำคัญ หรือไม่มีคุณค่าในวิถีการดำรงชีวิตจะถูกตัดทิ้งหมด หลายคนอยู่มาหนึ่งเดือนโดยที่ไม่ได้ช้อปปิ้ง ก็รู้สึกว่าอยู่ได้ แล้วก็ประหยัด และรู้สึกว่าเกิดประโยชน์ขึ้น ส่วนการทำอาหารรับประทานเองในบ้าน นอกจากถูกสุขอนามัยแล้ว ก็รู้สึกว่าครอบครัวมีชีวิตที่เป็นสุขขึ้น

“หลายอย่างก็เป็นการค้นพบอะไรใหม่ๆ ดังนั้นหลายทฤษฎีก็คิดว่าเรื่องนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ทุกคนมาคิดถึงเรื่องการประหยัด เพราะคนมีรายได้น้อยลง ถูกออกจากงาน ก็คิดอยากจะซื้ออะไรที่ราคาถูกลง จะคิดเหมือนสมัยก่อนไม่ได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องมาคิดถึงเรื่องคุณค่ามากขึ้น เหมือนหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่สมัยก่อน สินค้าจะต้องถูกลง น้อยลง แล้วคนจะใช้เท่าที่จำเป็น ใช้ที่สำคัญเท่านั้น ดังนั้นเราต้องทำทั้งสินค้าหรือบริการของเรา อยู่ในภาวะที่สอดคล้อง ราคาไม่แพงต่อครั้ง ต่อบริการ ซึ่งต้องมีการทบทวนใหม่ทั้งหมด”

@

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น