เรียนออนไลน์อย่างไร ให้มีประสิทธิภาพ

วิกฤติไวรัสโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เกิดการเรียนออนไลน์ในชั่วข้ามคืน และทำให้ Personal Learning เกิดขึ้นได้จริง เทคโนโลยีและดีไวซ์ในบ้านเราพร้อมแล้ว เพียงแต่ผู้ใช้จะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์ในการเรียนรู้

อุบลย์ สุฑธนะ อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัม ซิสเท็ม จำกัด ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับ e-Learning กล่าวว่า วิกฤติไวรัสโควิด-19 ทำให้เราเห็นเรื่องความเท่าเทียม ทุกชีวิตเท่าเทียมกันหมด ไม่ว่าประเทศมหาอำนาจหรือโลกที่สาม ไม่ว่าจะรวยหรือจน ในเรื่องของการศึกษาก็เช่นเดียวกัน

อุบลย์ สุฑธนะ

การศึกษาได้เข้ามาสู่ยุคที่การศึกษาเท่าเทียมกัน ซึ่งหมายความว่าไม่ว่าเราจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน เราก็ต้องกลับไปอยู่ที่บ้าน เรียนจากที่บ้านเหมือนกัน ซึ่งโควิด-19 เป็นตัวเร่งการปฏิรูปการศึกษา ให้เราเปลี่ยนรูปแบบการเรียนกันทันทีเลย เนื่องจากเราจำเป็นต้องอยู่บ้าน ทั้งเด็กนักเรียน ผู้ปกครอง และครู ดังนั้น โควิด-19 น่าจะเป็นปัญหาที่สร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่การเรียนรู้ที่ดี

เพราะในยุคนี้ถ้าเรามองดูการเรียนรู้ในลักษณะ Total Learning ก็จะตอบโจทย์คนในยุคใหม่ แต่ด้วยระบบระเบียบต่างๆ ที่ผ่านมา ดูเหมือนจะเป็นเรื่องค่อนข้างยาก เพราะถ้าถนนทุกสายมุ่งสู่มหาวิทยาลัยหมด ก็อาจจะไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ปรากฏการณ์นี้เรียกว่าเป็นโอกาสและเป็นจุดที่ทำให้เกิดการเรียนแบบ Personal Learning เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วขึ้น

ก่อนหน้านี้ ที่รามคำแหงเป็นผู้บุกเบิกหลัก เรื่อง Personal Learning เกือบ 10 ปีมาแล้ว แต่ยังไม่ฮอตเหมือนตอนนี้ ถ้าพูดถึงการศึกษาทางเลือก หรือ Home school ซึ่งตอนนี้ขยายเป็นหลักหลายพันบ้านแล้ว ในขณะที่โลกเรากำลังเปลี่ยนไปอย่างช้าๆ แต่พอโควิด-19 เข้ามา ก็ทำให้ทุกอย่างปรับตัวเร็วขึ้น และทำให้ Personal Learning เกิดขึ้นได้จริง

ตอนนี้นักศึกษาทุกมหาวิทยาลัยต้องอยู่บ้านและเรียนผ่านออนไลน์ คุณครูทุกคนต้องเตรียมข้อสอบ เตรียมการสอน เตรียมทุกอย่างให้มาอยู่บนออนไลน์หมด ซึ่งก็อยู่ที่ว่าทุกคนปรับตัวได้แค่ไหน บางคนที่เตรียมตัวมาดี ตรงนี้ก็ไม่ใช่ปัญหา แต่ถ้าบางคนที่แบบชิลๆ และคิดว่าออนไลน์คงจะไม่เกิดในเร็ววันนี้ แต่เมื่อโควิด-19 มา ก็ทำให้ทุกคนต้องเข้ามาสู่ระบบการเรียนออนไลน์ทันทีแบบชั่วข้ามคืน เพราะฉะนั้นก็มีทั้งเสียงแฮปปี้และเสียงบ่นของบุคลากรทางการศึกษา

อุบลย์ กล่าวว่า การปรับตัวในการเรียนออนไลน์น่าจะเป็นปัญหาเฉพาะคนที่ยังไม่ได้เตรียมตัว เพราะการเรียนออนไลน์ไม่ได้พูดถึงแค่คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต หรือมือถือ และถ้าพูดถึงเรื่องเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เราก็เริ่มกันมานานแล้ว เมืองไทยทันสมัยมาก เรามีวิทยุเพื่อการศึกษา และโทรทัศน์เพื่อการศึกษา แต่ถามว่าคนของเราเข้าถึงหรือไม่

“ถ้าพูดถึงดีไวซ์ที่เป็นทีวี ทุกคนเข้าถึงได้หมด 100% ถ้าพูดถึงมือถือ เรียกว่าเกิน 80-90% เรามีกันหมด เรื่อง access นั้นไม่ใช่ปัญหาเลย แต่ปัญหาข้อหนึ่งก็คือเราเรียนรู้ถึงกระบวนการการเรียนรู้ในรูปแบบนี้ที่มันอยู่ข้างๆ และรอบๆ ตัวเราอยู่ตลอดเวลา แต่เราได้เรียนรู้และเข้าไปสัมผัสมันหรือเปล่า นี่คือสิ่งที่เป็นประเด็นที่เราอาจจะต้องกลับมาทบทวนกันในบางบ้าน เพราะมันมีโอกาสมากมายในโลกอินเตอร์เน็ต และดิจิทัลคอนเทนต์ที่มีทั้งฟรี และถ้าเกิดอยากได้วุฒิ เราก็แค่เซ็นจ่ายเงินเทียบโอนเราก็ได้แล้ว แม้กระทั่งในเมืองไทย มหาวิทยาลัยในเมืองไทย ตนเองได้มีโอกาสเข้าไปทำ e-Learning กับหลายมหาวิทยาลัย ไม่ว่ารังสิต หอการค้า เอแบค ที่มีการเปิดสอนเป็นปริญญาเลย ก็ทำกันมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว”

อุบลย์ กล่าวว่า ในช่วง 15 ปีที่แล้ว ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมโครงการเตรียมความพร้อมของบุคลากรในกระทรวงศึกษาธิการ มีการทำห้องเรียนต้นแบบ ครูต้นแบบ ทำคอนเทนต์มากมาย มีการระดมอาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญในระดับเขตพื้นที่มาช่วยกันสร้าง เราน่าจะมีดิจิทัลคอนเทนต์ที่พร้อมเลยของประเทศ ซึ่งมันอาจใช้ได้บ้างไม่ได้บ้างตามยุคสมัยที่เราสร้างคอนเทนต์ขึ้นมา

แต่เชื่อว่าสามารถที่จะเอามาพัฒนาปรับปรุงและใช้ได้เลย และคอนเทนต์ก็ไม่น่าจะมีปัญหา ปัญหาเรื่องเดียวตลอดเกือบ 30 ปีที่ทำอยู่ในแวดวงนี้ ก็คือเรื่องการยอมรับ และการเรียนรู้ถึงกระบวนการที่เรียกว่า Digital Enable Learning Model เป็นสิ่งที่แต่ละโรงเรียนมีความพร้อมไม่เท่ากัน อย่างโรงเรียนอินเตอร์ โรงเรียน EP โรงเรียนรัฐ และโรงเรียนเอกชน ความพร้อมก็แตกต่างกัน

ทุกวิกฤติที่ผ่านมาในรอบที่เราดำเนินชีวิต เราจะเห็นว่าการศึกษาเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ ทุกคนที่ประสบปัญหาจะหันมาพัฒนาตัวเองทุกระดับ ไม่ว่าผู้ประกอบการ คนทำงาน นักเรียน นักศึกษา เพราะทุกคนก็ต้องมาอยู่ในตลาดแรงงาน และพยายามให้ตัวเองมีพื้นที่ในตลาดแรงงานต่อไป แต่ในโลกที่มันเปลี่ยนตอนนี้เราคงไม่ต้องไปพูดถึงธุรกิจในยุค 2จี หรือ 3จีแล้ว เราคงต้องมาคุยกันถึง 4.0 หรือ 5จี ที่กำลังเข้ามา

ดูแล้วความพร้อมของรัฐบาลหรือสื่อที่เรามีอยู่ หรือคอนเทนต์ในระดับโกลบอล หรือเวิร์ลไวด์ที่สามารถ access ได้ถึงนั้น พร้อมมากๆ คงเคยได้ยินเรื่อง Khan Academy ที่เรียนฟรี แต่ใครที่อยากได้วุฒิบัตรก็ทำเรื่องจ่ายเงินไป เพราะฉะนั้นของทุกอย่างมีพร้อมให้อยู่แล้ว

แต่ถามเรื่องความเท่าเทียมก็จะอยู่ที่ตัวเด็กนักเรียน ผู้เรียน และผู้จัดการการศึกษา ที่จะช่วยให้คุณครู ผู้ปกครอง ที่จะพาให้บุตรหลานและนักเรียนของเขาเข้าถึงองค์ความรู้ และใช้องค์ความรู้นั้นไปสู่การต่อยอดในการประกอบอาชีพหรือดำรงชีวิตในยุคใหม่นี้อย่างไร นี่คือสิ่งที่เราน่าจะต้องช่วยกันและเร่งกันสร้างกลุ่มคนเหล่านี้

“อาจไม่ใช่เรื่องของระดับนโยบายอย่างเดียว ตอนนี้เราอยู่ในยุคสงคราม เรามีจอบมีเสียม เราก็ต้องลุกขึ้นมาสู้ด้วยตัวเราเอง อยากให้สังคมเราหยุดที่จะรอให้ใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาช่วยเรา เราต้องลุกขึ้นมาว่า เราทำอะไรเพื่อตัวเราเองได้ ในเมื่อเทคโนโลยีก็มี มือถือทุกคนมีอยู่ในมือ โทรทัศน์มีอยู่ทุกบ้าน เพียงแต่จะใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์ในการเรียนรู้ของเรา”

อุบลย์ กล่าวว่า การเรียนออนไลน์เป็น Self-Learning 100% ถ้าเราเริ่มต้นใหม่ๆ ก็อาจต้องการคำแนะนำบ้าง แต่ถ้าเราต้องการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เรียกว่าเป็น Self-Learning หรือกระบวนการที่จะต้องตั้งเป้าหมายว่าเราอยากจะเรียนอะไร เพื่ออะไร แล้วไปทำอะไรต่อ ก็จะทำให้จะเกิดความมุมานะและมุ่งมั่นที่จะเรียนแบบออนไลน์ได้

เพราะฉะนั้นคุณครูและบุคลากรทางการศึกษาจะต้องพัฒนาตัวเองและเตรียมความพร้อมที่จะเข้าถึงแหล่งข้อมูล เพื่อจะมาเสริมให้กับผู้เรียนไปถึงเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่อยากให้ใครในยุคนี้ตกเทรนด์ เพราะ 5จี เป็นความเสมอภาคของทั่วโลก แล้วโควิด-19 เรียกว่ามาช่วยกระตุ้นและทำให้เราเท่าเทียมกันจริงๆ

แล้วก็ต้องกลับมาที่ตัวเราว่า ถ้าเราจะเข้าถึงความเป็น Global Citizen เราจะต้องเตรียมตัวอย่างไรให้ทันต่อโลกที่เปลี่ยนแปลง อย่างน้อยที่สุดคอนเทนต์ที่มีคุณค่ามหาศาลนั้นไม่ได้มีแค่ภาษาไทย แต่ยังมีภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และอีกหลายภาษา ทำอย่างไรที่เราจะมีความสามารถเข้าใจ เข้าถึง และเรียนรู้สิ่งต่างๆ เหล่านั้นได้  @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น