พลังงานหมุนเวียน ทางเลือกใหม่ผลิตไฟฟ้า กกพ. เร่งสร้างส่วนร่วมภาคประชาชน

กกพ.ขอดูสรุปการใช้พลังงานในภาพรวม ช่วงวิกฤติโควิด-19 เพื่อปรับแผนระยะสั้น พร้อมส่งเสริมให้ประชาชนใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อความมั่นคงของระบบพลังงาน ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. กล่าวว่า การทำงานของ กกพ. จะดูในหลายๆ อย่าง ทั้งเรื่องความมั่นคงของระบบพลังงาน ไฟฟ้า ก๊าซ ขณะเดียวกันต้องกำกับดูราคาให้เหมาะสม และในโลกปัจจุบันก็สนับสนุนเรื่องการใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อลดผลกระทบของสิ่งแวดล้อม กกพ.ก็ต้องดำเนินการไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้เกิดความสมดุลในทุกภาคส่วน

คมกฤช ตันตระวาณิชย์

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจถดถอย ภาคอุตสาหกรรมใช้พลังงานลดลง แต่ภาคประชาชนก็ใช้ไฟในอัตราที่เพิ่มขึ้นพอสมควร เพราะการ Work From Home ทำให้คนอยู่บ้าน ก็ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเยอะ ดูจากหน่วยไฟฟ้า จะเห็นว่าบางรายอาจเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเลย ต้องรอสรุปข้อมูลในภาพรวมอีกครั้งว่าการใช้ไฟเพิ่มขึ้นหรือลดลงเท่าไร

และเราก็ไม่แน่ใจว่าหลังวิกฤติโควิด-19 แล้ว การใช้ไฟฟ้าจะลดลงหรือเพิ่มขึ้น ซึ่งทั้งสองแนวทาง เราต้องมีกำลังไฟฟ้าสำรองไว้ให้ปลอดภัย ไม่ว่าเศรษฐกิจจะลงหรือเพิ่มขึ้นในระดับสูง ทั้งนี้ การใช้ไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมในช่วง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ลดลงแน่นอน แต่ระยะปานกลาง 3 เดือนถัดจากนี้ จะลดลงหรือไม่ หรือถ้าเริ่มผ่อนคลายมาตรการ การใช้ไฟจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ คงต้องมองเผื่อไว้ด้วย

ถ้าการใช้ไฟฟ้าลดลง แต่กำลังการผลิตเรามีมากขึ้น เราก็มีกำลังการผลิตเหลือ แต่ในส่วนที่เราจะเดินเครื่องจริงๆ เราก็คงจะเดินโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำสุดไล่มาตามลำดับ และอาจมีการปรับแผนนิดหน่อย โรงไฟฟ้าที่อาจไม่เคยหยุด หรืออาจมีการซ่อมบำรุงต่างๆ ก็อาจหยุดในช่วงนี้ก่อน ในช่วงระยะสั้นๆ ส่วนในระยะยาว คงต้องดูว่าภาวะเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ซึ่งอาจขอดีเลย์โรงไฟฟ้าที่จะเข้ามาใหม่เพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มภาระมากขึ้น โดยแผนคร่าวๆ ในระยะสั้นกับระยะปานกลาง ก็คงพยายามลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด

การปรับแผนหรือปรับแนวทางระยะสั้น เป็นหน้าที่ของ กกพ. แต่แผนระยะยาวเป็นเรื่องของภาคนโยบาย เพราะเป็นเรื่องของการลงทุน เป็นหน้าที่ของสำนักงานนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่จะมองไปข้างหน้า มองเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งคงต้องหารือกับหลายภาคส่วน

“กกพ.ยังมีภารกิจส่งเสริมให้ประชาชนหันมาสนใจเรื่องพลังงานทางเลือก พลังงานหมุนเวียน ซึ่งพลังงานหมุนเวียนคือการนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ไม่หมดสิ้น ไม่เหมือนกับฟอสซิลที่ใช้ไปแล้วก็จะน้อยลงไปเรื่อยๆ เช่น น้ำมัน ก๊าซ แต่พลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าแสงอาทิตย์ ลม มันจะมีขึ้นมาใหม่ แม้แต่ชีวมวล ขยะ มันก็จะหมุนเวียนมาเรื่อยๆ พวกนี้จะช่วยลดภาวะทางด้านสิ่งแวดล้อมให้กับโลก”

นอกจากสามารถนำมาผลิตไฟฟ้าแล้ว มันยังช่วยส่งเสริมการลดคาร์บอน ลดมลภาวะในโลก เดิมทีในอดีตพวกนี้ต้นทุนในการผลิตจะราคาสูง แต่ปัจจุบันราคาก็เริ่มถูกลงมาเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่งที่ราคาใกล้เคียง หรือแพงกว่าพลังงานที่ผลิตจากฟอสซิลเล็กน้อย เรามองว่าถ้ามีการบริหารจัดการที่ดี ก็จะสามารถเอามาผสมผสานกับพลังงานฟอสซิล ทำให้มีไฟฟ้าใช้ ขณะเดียวกันสิ่งแวดล้อมก็ดีขึ้น

แต่การนำมาผสมผสานก็ต้องดูความเหมาะสม และดูสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางระบบไฟฟ้าด้วย อย่างพลังงานแสงอาทิตย์ จะได้ไฟฟ้าเฉพาะช่วงกลางวัน แต่กลางคืนก็จะไม่ได้พลังงานไฟฟ้า เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็ต้องมีการผสมผสานกันในระบบ เพื่อทำให้ระบบออกมามีทั้งความมั่นคง มีเรื่องของราคา และความสมดุลทางด้านสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน

ขยะก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเรามองเรื่องการนำขยะมากำจัดเป็นเรื่องหลัก ไฟฟ้าเป็นอันดับรอง ที่เราส่งเสริมมาในอดีต คือเราให้กระบวนการกำจัดขยะมาเริ่มต้นก่อน เสร็จแล้วกระบวนการผลิตไฟฟ้าก็จะมาต่อเนื่องจากกระบวนการกำจัดขยะ โดย กกพ.จะอำนวยความสะดวกในเรื่องการเชื่อมต่อระบบ และการบริหารจัดการไฟฟ้าให้เหมาะสมกับขยะ และดูเรื่องของสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งโรงไฟฟ้าขยะที่มีมลพิษต่างๆ ออกมา จะต้องอยู่ในมาตรฐานที่ยอมรับได้

ส่วนที่มีคนคัดค้าน ก็ต้องดูว่าเขาคัดค้านบ่อขยะ หรือคัดค้านโรงไฟฟ้า ต้องมองว่าถ้าไม่มีการกำจัดขยะด้วยการผลิตไฟฟ้า ขยะมันก็ไม่ได้ไปไหน จะกองอยู่ตรงนั้นเป็น 20-30 ปี แล้วจะมีมลภาวะด้านกลิ่น สุขอนามัย มีแมลงวันมากมาย การผลิตไฟฟ้าก็คือการเอาขยะมากำจัดทำลายทิ้ง เป็นเรื่องกระบวนการกำจัดขยะเป็นหลัก แล้วไฟฟ้าเป็นผลพลอยได้จากการกำจัดขยะ

ต้องทำความเข้าใจว่าหลายๆ คนที่คัดค้าน ไม่ได้คัดค้านเรื่องโรงไฟฟ้า แต่คัดค้านเรื่องบ่อกำจัดขยะมากกว่า เพราะฉะนั้นเราก็พยายามดูว่าโรงไฟฟ้าขยะควรอยู่ในบริเวณพื้นที่ขยะเดิม เพราะพื้นที่ขยะเดิมมีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งโรงไฟฟ้าจะช่วยให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น แทนที่จะปล่อยให้ขยะหมักหมม มีกลิ่นเหม็น มีแมลงวัน น้ำเสีย เมื่อไปตั้งโรงไฟฟ้าที่มีระบบการกำจัดขยะอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ กลิ่นเหม็นของขยะก็จะดีขึ้น เรามองว่าโรงไฟฟ้าขยะมาทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น

คมกฤช กล่าวว่า กกพ.มีกองทุนพัฒนาไฟฟ้าที่มีหลายส่วนประกอบกัน ส่วนหนึ่งเราจะนำมาใช้เพื่อเสริมสร้างความรู้ให้กับประชาชนในเรื่องพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้เข้าใจรูปแบบกระบวนการผลิตพลังงานหมุนเวียนอย่างถ่องแท้ คือ เข้าใจว่ามันผลิตอย่างไร มีข้อจำกัดอย่างไร และมันช่วยอะไรได้บ้าง

เราอยากจะสร้างความเข้าใจให้มีความรู้ทั้งหมดทุกด้าน ทั้งสิ่งแวดล้อม ความมั่นคง การผลิตไฟฟ้า ถ้ารู้ทั้งหมดจะทำให้คนสามารถตัดสินใจต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง กระบวนการความรู้เหล่านี้ เทคโนโลยีก้าวไปค่อนข้างเร็ว บางอย่างที่ตอนนี้ราคาแพง แต่อีก 1-2 ปี ก็อาจจะถูกลงได้ เพราะฉะนั้น ความรู้พวกนี้ก็ต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ แล้วก็ต้องทันกับเทคโนโลยี ทันกับกระบวนการต่างๆ เราก็อยากสร้างโครงข่ายในการให้ความรู้ ในการเรียนรู้ เอาประสบการณ์มาแลกเปลี่ยน ถ้าสามารถทำเป็นโครงข่ายเป็นเครือข่ายได้ก็จะดีมากเลย ทำให้เราสามารถจะพัฒนาไปได้อย่างต่อเนื่อง

ตอนนี้ก็มีเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกพลังงานไฟฟ้าเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งเป็นรูปแบบที่ให้ความรู้กับสื่อ เพราะสื่อเป็นหัวใจสำคัญในการเป็นกระบอกเสียง ในการสนับสนุนต่างๆ ถ้าสื่อเข้าใจทั้งหมดทุกด้าน การนำเสนอเรื่องนี้ไปสู่ประชาชน ให้ประชาชนรับรู้ด้วยความเข้าใจและถูกต้อง ถือเป็นประเด็นที่สำคัญมาก  @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น