แนวโน้มราคาพลังงาน&น้ำมัน ในวิกฤติโควิด-19

วิกฤติไวรัสโควิด-19 ทำให้ราคาน้ำมันปรับลดลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ แต่การส่งเสริมเรื่องการใช้พลังงานทดแทนก็ยังคงต้องทำต่อไป อย่าให้หยุดชะงัก

มนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวว่า แนวโน้มราคาพลังงาน น้ำมัน ในช่วงวิกฤติไวรัสโควิด-19 ยังคงมีทิศทางปรับตัวลง แม้เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา มีข่าวประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ทวีตข้อความว่าจะให้ประเทศรัสเซีย และซาอุดิอาระเบีย พูดคุยกันเรื่องการลดกำลังการผลิต 7-15 ล้านบาร์เรล/วัน ก็ทำให้ราคาน้ำมันกระเตื้องขึ้นมาบ้าง

มนูญ ศิริวรรณ

แต่ข่าวนี้รัสเซีย และซาอุฯ ยังไม่ยืนยัน โดยรัสเซียบอกว่ายังไม่มีการพูดคุยกับซาอุฯ ขณะที่ซาอุฯ ก็เรียกร้องให้มีการประชุมวาระฉุกเฉินของกลุ่มโอเปกและพันธมิตร แต่ไม่ได้ระบุว่าจะประชุมกันเมื่อไร อย่างไร เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทรัมป์ทวีตข้อความมาก็คล้ายๆ ข่าวที่ไม่ได้รับการยืนยัน เข้าใจว่าราคาน้ำมันก็น่าจะปรับตัวขึ้นเพียงชั่วคราว แล้วหลังจากนั้นก็จะลดลง ถ้าไม่มีข้อมูลอะไรเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้

ในภาวะการณ์แบบนี้ ทิศทางราคาน้ำมันตอนนี้ก็เป็นขาลง ราคาน้ำมันตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้ ลงมาแล้วร่วม 60% หรือ ประมาณ 40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากต้นปีอยู่ที่ 60 เหรียญ ตอนนี้มาอยู่ที่ 20 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

ถือว่าเป็นการปรับลดลงมากที่สุดในรอบ 18 ปี ซึ่งเป็นไปในทิศทางที่ซัพพลายเองก็มีปัญหาเพิ่มขึ้นมากมายจากสงครามราคาระหว่างซาอุฯ กับรัสเซีย ในขณะที่ดีมานด์ ก็เกิดดีมานด์ช็อก เพราะสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ความต้องการน้ำมันลดลงอย่างมาก ประมาณ 30 ล้านบาร์เรล/วัน ลดลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์

เรายังไม่เคยพบกับสถานการณ์ที่ความต้องการน้ำมันลดลงมากขนาดนี้ แม้กระทั่งช่วงวิกฤติสงครามอ่าวเปอร์เซีย หรือช่วงที่เกิดเหตุการณ์ 911 ความต้องการน้ำมันก็ไม่ได้ลดมากขนาดนี้ แต่ขณะนี้วิกฤติไวรัสโควิด-19 ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างหยุดหมดเลย ทั้งการเดินทางทางรถ การเดินทางทางเครื่องบิน รวมทั้งเรื่องกิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกอย่าง การค้าขาย หยุดชะงักหมดเลย เพราะฉะนั้นการไม่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และกิจกรรมทางสังคม ขณะที่รัฐบาลก็บอกให้คนอยู่แต่ในบ้าน มี Social Distancing ก็ยิ่งทำให้น้ำมันแทบจะไม่มีความต้องการเลย

มนูญ กล่าวว่า ภายใต้สภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ก็อาจไม่ค่อยดีต่อการที่เราจะส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น เพราะเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจมากๆ แบบนี้ คนก็อาจไม่สนใจเรื่องการใช้พลังงานทดแทนกันมากนัก เพราะต้องเอาตัวรอดก่อนภายใต้ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ

ที่สำคัญคือพอราคาน้ำมันพลังงานจากฟอสซิลถูกลงมากๆ ก็ทำให้การแข่งขันระหว่างพลังงานสีเขียวหรือพลังงานทดแทน กับพลังงานฟอสซิล ทำได้ยากมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ น้ำมันอยู่ที่ลิตรละ 30 บาท ตอนนี้น้ำมันลงมาอยู่ที่ลิตรละ 20 หรือ 10 กว่าบาท คนก็ไม่สนใจเรื่องการเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ หรือการไปใช้พลังงานประหยัด หรือพลังงานสีเขียวมากนัก

แล้วต้นทุนของการผลิตพลังงานสีเขียว ไม่ว่าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานลม พลังงานขยะ พลังงานชีวภาพ จะมีต้นทุนที่แพงกว่าพลังงานจากฟอสซิล นอกจากวิกฤติด้านการจัดหา วิกฤติด้านความต้องการแล้ว ยังถือว่าเป็นวิกฤติของพลังงานทดแทนด้วย แต่ด้วยนโยบายของรัฐบาลที่มองระยะยาว เราก็ยังคงต้องเดินหน้าส่งเสริมเรื่องของพลังงานทดแทนต่อไป เพราะมันเป็นความยั่งยืนของการใช้พลังงานประเทศ เนื่องจากเราไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานมากนัก

“จริงอยู่ขณะนี้เราอาจเกิดวิกฤติ เราใช้พลังงานน้อยลง หรือพลังงานฟอสซิลมันมีราคาถูกลงก็จริง แต่หลังจากที่เหตุการณ์โควิด-19 ผ่านพ้นไป เศรษฐกิจดีขึ้น ขยายตัวขึ้น เหตุการณ์กลับมาเหมือนเดิม เราก็จะกลับมาพูดถึงเรื่องพลังงานราคาแพง เรื่องของโลกร้อน การปล่อยสารคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศอีก ถึงตอนนั้นเราจะมาส่งเสริมพลังงานทดแทนกันอีก มันก็จะช้าไป เพราะฉะนั้นตอนนี้เราก็ต้องพยายามส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนต่อไป อย่าให้มันหยุดชะงัก”

มนูญ กล่าวว่า ได้มีการอนุมัติเงินทุนให้กับหน่วยงานต่างๆ ในการไปจัดอบรม สัมมนา และทำโครงการเพื่อให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานขยะมากขึ้น เพราะเราต้องการให้ประชาชนมีความรู้ว่าพลังงานจาก 2 แหล่งนี้มีประโยชน์ และสามารถที่จะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศได้

ที่เราเน้นเฉพาะพลังงาน 2 แหล่งนี้ เพราะเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ ประเทศไทยมีแสงอาทิตย์ที่เหลือเฟือ และมีความเข้มของแสงอาทิตย์สูง ถ้าเราเน้นเรื่องการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นประโยชน์ก็จะเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้เราประหยัดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปได้เยอะ แล้วพลังงานแสงอาทิตย์ก็ไม่มีมลภาวะ ไม่ได้ปล่อยคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศเลย

และการเน้นพลังงานแสงอาทิตย์ก็จะทำให้ประชาชนสามารถติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา หรือที่เรียกว่า โซลาร์ รูฟ ได้อย่างง่ายดายกันทุกครัวเรือน เพราะฉะนั้นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ก็เป็นโครงการหนึ่งที่รัฐบาลส่งเสริม และคิดว่าน่าจะเป็นโปรเจกต์หนึ่งที่ทำให้ประชาชนทั่วประเทศหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์กันอย่างทั่วถึง

ส่วนเรื่องพลังงานขยะก็เป็นอีกโครงการหนึ่งที่รัฐบาลคิดว่าน่าจะส่งเสริมให้เป็นโครงการที่แก้ไขเรื่องมลภาวะของประเทศไทย เพราะเรามีขยะค่อนข้างเยอะ แล้วในเมืองใหญ่ๆ ทุกเมือง จะมีปัญหาเรื่องการกำจัดขยะทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ถ้าสามารถทำให้ประชาชนเข้าใจเรื่องการกำจัดขยะ แล้วนำขยะนั้นมาเป็นพลังงานได้ ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ 2 อย่างเลย คือ 1.ปัญหาเรื่องการกำจัดขยะ และ 2.สามารถนำขยะมาเป็นพลังงานได้ด้วย

รัฐบาลมองว่าสองอย่างนี้เป็นพลังงานทดแทนที่ควรจะเน้นและส่งเสริมมาก จึงมีโครงการให้ทุนจัดสัมมนา อบรม ให้ประชาชนมีความเข้าใจ โดยกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ สำนักงาน กกพ. ได้อนุมัติเงินจากกองทุนนี้ให้ไปใช้ในโครงการต่างๆ นอกจากให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนแล้ว ยังให้ความรู้กับสื่อมวลชนท้องถิ่นด้วย เพราะสื่อท้องถิ่นสามารถเข้าถึงประชาชนในชนบทได้ เราต้องการให้ประชาชนในพื้นที่ชุมชนต่างๆ มีความเข้าใจเรื่องพลังงานทั้ง 2 อย่างนี้ แล้วจะได้ไม่ต่อต้าน เวลาที่เราจะเอาขยะมาใช้ให้เป็นประโยชน์

มนูญ กล่าวว่า เทคโนโลยีในการนำขยะมาทำเป็นเชื้อเพลิงหรือผลิตไฟฟ้าขณะนี้ก้าวหน้าไปมาก สามารถที่จะกำจัดเรื่องมลภาวะ เรื่องกลิ่น เรื่องควัน ได้ดีมาก สามารถที่จะเอามาเผาทำเป็นเชื้อเพลิงได้ภายใต้อุณหภูมิที่สูงมาก และขยะที่กองเอาไว้ ก่อนที่จะเอามาป้อนเข้าเป็นเชื้อเพลิงก็ได้ใช้สารเคมีฉีดพ่นเพื่อลดกลิ่นลงไป ไม่ให้ส่งกลิ่นเกิดความรำคาญ

ตนเองได้จัดให้สื่อไปดูงานโรงผลิตไฟฟ้าจากขยะของทีพีไอที่ จ.สระบุรี เป็นโรงงานที่ใหญ่และได้มาตรฐาน ซึ่งทุกคนก็เห็นกับตาว่าการผลิตไฟฟ้าจากขยะที่ได้มาตรฐานและไม่ก่อให้เกิดมลภาวะนั้นเป็นอย่างไร เพื่อจะได้เอาไปเผยแพร่และเอาไปพูดคุยต่อกับชุมชน

หลังจากจัดสัมมนาในเชิงโฟกัสกรุ๊ป 6 ครั้งในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ก็พบว่ามีสื่อที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของพลังงาน และพลังงานสะอาดมากขึ้น ซึ่งมีจำนวนหนึ่งที่ให้ความสนใจอยากจะเข้ามาร่วมเป็นเครือข่าย เพื่อนำความรู้นี้ออกไปเผยแพร่ต่อ ขณะนี้มีเครือข่ายอยู่ในทุกภาคของประเทศ ก็สามารถที่จะประชุมร่วมกันและดำเนินโครงการนี้ในเชิงลึกต่อไป ตอนนี้มีประมาณ 20-30 คนแล้ว ต่อไปก็คงรวบรวมเครือข่ายเหล่านี้มาพูดคุยกันถึงแผนงานที่จะทำต่อไป รวมทั้งอัปเดตข้อมูลต่างๆ ให้เครือข่ายเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ จะได้มีข้อมูลเชิงลึกเพิ่มขึ้นในการที่จะไปสื่อสารกับประชาชนต่อไป  @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น