SME D Bank งัดมาตรการ “พัก-ขยาย-เติม” ช่วยเอสเอ็มอีกู้วิกฤติ โควิด-19

ภาพจาก Facebook : ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย

SME D Bank ออกมาตรการ “พัก-ขยาย-เติม” ช่วยเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระ ให้ผู้ประกอบการสามารถประคองตัวอยู่ได้ในช่วงเผชิญภาวะวิกฤติ

นารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME D Bank กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ธนาคารเร่งสำรวจลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารที่มีกว่า 70,000 ราย ว่าได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง เบื้องต้นพบว่ามีผู้ได้รับผลกระทบกว่า 10,000 ราย ทั้งทางตรงทางอ้อม เนื่องจากลูกค้าของเราเป็นเอสเอ็มอีเล็กๆ ที่ทำธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจการให้บริการ ค้าปลีกค้าส่ง ส่วนใหญ่จะอยู่ตามหัวเมือง เวลาที่หัวเมืองใหญ่ได้รับผลกระทบ ลูกค้าก็จะได้รับผลกระทบตามมา โดยภาคที่มีการท่องเที่ยวที่ชัดเจน หลักๆ ได้รับผลกระทบก็คือ ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออก

นารถนารี รัฐปัตย์

การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วมาก ในช่วงตรุษจีนตอนนั้นเพิ่งเริ่มมีข่าวการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ยังประเมินผลกระทบกันไม่ถูก ตอนแรกคิดว่าเป็นเรื่องของการท่องเที่ยว แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มยาวขึ้น ก็กลายเป็นเรื่องของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น คนที่ขายอาหารให้โรงแรม หรือธุรกิจซักรีด รถเช่า สปาที่อยู่รอบๆ สถานที่ท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบเมื่อเวลาผ่านไป 1 เดือน

สำหรับมาตรการที่ SME D Bank ออกมาเพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างแรก ให้ผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาเข้ามาพูดคุยปรึกษากัน เพราะต้องช่วยกันคิด บางคนอาจรู้สึกไม่สบายใจแล้วขาดการติดต่อไปเลย แบบนี้จะไม่เป็นผลดี เพราะไม่ทราบว่าผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 จะยาวนานแค่ไหน ควรเข้ามาหาธนาคารแล้วปรึกษากัน เพราะธนาคารก็จะได้รับทราบความต้องการหรือข้อจำกัดของลูกค้าด้วย

แต่เบื้องต้นที่ธนาคารประกาศไปแล้ว คือ การพักชำระเงินต้นสำหรับผู้ได้รับผลกระทบ 12 เดือน ถ้าผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบแจ้งความประสงค์เข้ามา ธนาคารก็จะพักเงินต้นให้เลย 12 เดือน จากการสำรวจลูกค้าได้รับผลกระทบเป็นหมื่นราย ตอนนี้ขอพักชำระเงินต้นแล้ว ประมาณ 5,000-6,000 ราย จะช่วยแบ่งเบาภาระของธุรกิจไปได้มาก ให้ผู้ประกอบการรีบเข้ามาพูดคุย สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เวลาเข้ามาพูดคุยกับธนาคาร นอกจากพักชำระเงินต้นแล้ว อาจมีการคุยเรื่องลดอัตราดอกเบี้ยได้ด้วย โดยจะปรับลดให้ช่วงระยะสั้นๆ 1-2 ปีที่ประสบปัญหา ซึ่งธนาคารจะพิจารณาเป็นรายกรณีไป

นอกจากพักชำระเงินต้นแล้ว ธนาคารยังขยายเวลาการชำระหนี้ออกไปให้ด้วย ตามสภาพของธุรกิจ โดยจะขยายออกไปได้สูงสุดอีก 5 ปี ซึ่ง SME D Bank ทำงานร่วมกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. ลูกค้าซึ่งเป็นผู้กู้ของเราที่เข้าโครงการใช้ บสย.ค้ำประกัน ในส่วนที่ขยายเวลา บสย. ขยายให้ 5 ปี แล้วช่วงเวลาที่ขยาย บสย.ไม่คิดค่าธรรมเนียม 1.75% ด้วย

SME D Bank ยังมีเรื่องการเติมทุนดอกเบี้ยถูกให้ผู้ประกอบการ ถ้าผู้ประกอบการเป็นนิติบุคคล ในช่วงที่มีปัญหาขาดสภาพคล่อง ธนาคารมีวงเงินให้สูงสุด 1 ล้านบาทต่อบริษัทต่อกิจการ อัตราดอกเบี้ย 3%ต่อปี ต่อเนื่อง 3 ปี ถ้าเป็นบุคคลธรรมดา อัตราดอกเบี้ย 5% คงที่ไป 3 ปี วงเงินสูงสุด 5 แสนบาทต่อราย

สำหรับบุคคลธรรมดาที่ทำธุรกิจ หรือคนทั่วไปที่มีอาชีพก็กู้ได้ อย่างมัคคุเทศก์ที่รายได้ลดลง และตกงานกันเยอะในช่วงนี้ ก็สามารถกู้ธนาคารได้ SME D Bank ทำงานกับหลายๆ หน่วยงานที่เข้ามาติดต่อว่าอาชีพที่ได้รับผลกระทบมากๆ จากเชื้อไวรัสโควิด-19 มีอะไรบ้าง ซึ่งธนาคารอยากทำงานร่วมกับหลายๆ สมาพันธ์ หลายๆสมาคม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่สาขาของ SME D Bank หรือติดต่อ Call Center 1357

นารถนารี ยังกล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา เรื่องสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ ซอฟต์โลน ที่ธนาคารออมสินเตรียมวงเงิน 150,000 ล้านบาท ให้แก่สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 อัตราดอกเบี้ย 2% ซึ่งธนาคารแต่ละแห่งจะออกเป็นแพ็กเกจออกมาในเงื่อนไขต่างๆ คาดว่าปลายเดือนนี้ เงื่อนไขซอฟต์โลนของธนาคารแต่ละแห่งน่าจะมีความชัดเจน

สำหรับวงเงินของ SME D Bank ที่เสริมสภาพคล่อง เตรียมไว้ 3,000 ล้านบาท ซึ่งเท่าที่ธนาคารไปสำรวจพบว่าลูกค้าที่ประสบปัญหา มีความต้องการใช้เงินประมาณ 700-800 ล้านบาท เพราะส่วนใหญ่เป็นรายย่อย ธนาคารก็จะช่วยเหลือให้ยืนอยู่ได้ในช่วง 1-2 ปีนี้ ประคองให้อยู่ได้ ไม่ล้มหายตายจากไป

การดูแลป้องกันแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของ SME D Bank นั้น นารถนารี กล่าวว่า สำหรับลูกค้าที่จะเข้ามาสัมมนา ธนาคารได้ปรับเป็นการสัมมนาออนไลน์ สามารถติดตามได้ที่เพจของธนาคาร ส่วนเจ้าหน้าที่ที่จะออกไปพบผู้ประกอบการ ก็ได้รับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ ตรวจอุณหภูมิทุกวัน เรื่องการรักษาความสะอาด ธนาคารมีการแจกแอลกอฮอล์ ดูแลพนักงานทุกคนเพื่อสุขอนามัยที่ดี  @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น