ทำอย่างไรให้เมืองไทยบอบช้ำน้อยที่สุด จากวิกฤติไวรัสโควิด-19 ในมุมมองอาจารย์หมอ!

อาจารย์หมอเชื่อภายใน 6 เดือน จะเริ่มมีวัคซีนต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 ช่วงนี้ใครที่มีความเสี่ยง ต้องรับผิดชอบต่อสังคม ส่วนคนทั่วไปใช้ชีวิตปกติ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม แต่ต้องระมัดระวังป้องกันตัวเอง

นพ.ฆนัท ครุธกูล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรมโรคหัวใจ และนายกสมาคมส่งเสริมธุรกิจบริการผู้สูงอายุไทย กล่าวว่า การที่หน้ากากอนามัยขาดแคลน เนื่องจากในสถานการณ์ปัจจุบันคนตื่นกลัวเชื้อไวรัสโควิด-19 มาก ก็อาจมีการใช้หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกัน เพราะต้องเดินทางไปในสถานที่ชุมชนต่างๆ เพื่อป้องกันการปนเปื้อน ก็เลยมีการรณรงค์ให้ใช้หน้ากากอนามัยในช่วงแรก แต่พอมีการรณรงค์ ต่อมาก็เกิดภาวะขาดแคลน เพราะปริมาณการใช้หน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันประมาณเกือบ 5 เท่า

นพ.ฆนัท ครุธกูล

ความจริงหน้ากากอนามัยควรใช้อันดับแรกในคนที่มีความเสี่ยงสูง คนที่เจ็บป่วย บุคลากรทางการแพทย์ ส่วนคนทั่วไปแนะนำให้หลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่พบปะชุมชน แต่ถ้าจะไป ก็แนะนำว่าไม่จำเป็นต้องใช้หน้ากากสำหรับทางการแพทย์ที่สามารถกันน้ำได้ สามารถใช้หน้ากากผ้า หรือหน้ากากอย่างอื่นเพื่อป้องกันชั่วคราว

เพราะการติดต่อของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ได้ติดต่อจากอากาศ แต่ติดต่อจากสารคัดหลั่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากการสัมผัสมากกว่า เช่น การที่เราไปจับหรือสัมผัส เช่น การสัมผัสมือ การกดลิฟท์ หรือจับราวบันได แล้วเอามือมาสัมผัสปากหรือใบหน้า

เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือการล้างมือ หรือการใช้แอลกอฮอล์เจลมากกว่า เพราะเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ได้ติดง่ายอย่างที่คิด และระยะห่างเกิน 3 เมตรก็คือปลอดภัย และจากข่าวล่าสุดที่ติดเชื้อ 11 คน กรณีไปเที่ยวผับ ก็เนื่องจากมีความใกล้ชิดกัน ดื่มเหล้าแก้วเดียวกัน และสูบบุหรี่มวนเดียวกัน

“เราต้องตระหนักรู้ แต่อย่าตระหนก ตระหนักรู้ว่าถ้าเราเป็นพาหะ หนึ่งคนจะสามารถกระจายเชื้อไปได้ ดังนั้นต้องป้องกันด้วยการล้างมือ ไปข้างนอกก็ใส่หน้ากาก ปัจจุบันมีหน้ากากหลายประเภท ซึ่งหน้ากากทางการแพทย์ที่สามารถกันน้ำได้ ก็ให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้ จะได้ไม่เกิดปัญหาขาดแคลน แล้วใช้ชีวิตปกติ มีธุรกรรมทางเศรษฐกิจ การเงินปกติ ไม่ใช่กลัวแล้วไปกักตุนสินค้า หยุดการใช้จ่ายเงิน อย่างนี้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม ส่วนใหญ่ผมแนะนำว่าให้ work at home คุณยังต้องมีกิจกรรม ยังต้องทำงาน ยังต้องใช้ชีวิตเหมือนเดิม เพียงแต่ต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัส ทำอะไรที่ไม่ต้องออกไปข้างนอก และพยายามมีกิจกรรมเหมือนเดิม เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เพราะกลัวว่าพอพ้นโควิด-19 ไป แต่เราก็บอบช้ำทางเศรษฐกิจมาก อันนี้อาจเป็นผลเสียในระยะยาวมากกว่า” นพ.ฆนัท กล่าว

นพ.ฆนัท กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขบอกแล้วว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 จะกระจายอยู่ในวงจำกัด ไม่ได้กระจายไปทั่ว แล้วก็จำกัดในระยะที่ 2 คิดว่าแนวโน้มบ้านเรา กราฟไม่น่าจะพุ่งขึ้นไป น่ากระจายไปแล้วก็ลดลงมา เพราะฉะนั้นไม่ต้องตระหนก ใช้ชีวิตปกติ แต่ต้องระมัดระวังตัวและป้องกัน คนที่รู้ว่าตัวเองมาจากต่างประเทศที่มีความเสี่ยง และไม่รู้ว่าเป็นระยะฟักตัวหรือไม่ ให้กักตัวอย่าไปไหน

ส่วนการระบาดของโรคเข้าสู่ระยะที่ 3 นพ.ฆนัท กล่าวว่า สมมติเราเป็นคนแรกที่ติดเชื้อ แล้วมาเมืองไทย ถ้าเกิดติดแล้วกระจายไปอยู่ในวงจำกัด เช่น เราไปอยู่ในครอบครัว ใช้ของร่วมกัน ติดกระจายไป ก็ถือว่าเป็นระยะถัดไป แต่ถ้ามันเริ่มติดแล้วกระจายไปยังคนในชุมชนมากขึ้น มีการกระจายแบบรวดเร็วขึ้น ก็คือเข้าสู่ระยะที่ 3 เพราะฉะนั้นหมายถึงระยะในการกระจายของโรคในขอบเขตจำกัด กับกระจายในวงกว้าง ตอนนี้เราก็พยายามจำกัดโรคให้อยู่ในขอบเขตที่จำกัด และควบคุมได้ ไม่ให้มันกระจายออกไป

ต้องเข้าใจว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ใช่เอดส์ที่รักษาไม่หาย แต่มันคือไวรัส ซึ่งในแต่ละปีเราติดเชื้อไวรัสกันหลายครั้ง แล้วเชื้อไวรัสก็มีหลายล้านสปีชีส์ มันก็เป็นเหมือนหวัดอย่างหนึ่ง เพียงแต่ว่าเราไม่เคยมีภูมิคุ้มกันมาก่อน พอเราติด เราสัมผัส ก็โอกาสติดง่ายขึ้น และไปแพร่ให้คนอื่นมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่รักษาไม่หาย แต่ถ้าคุณเป็นเบาหวาน เป็นโรคหัวใจ เป็นโรคที่มีความเสี่ยงไตวาย พวกนี้ก็มีความเสี่ยงสูง อายุมากๆ อาจทำให้เสียชีวิตได้

และเนื่องจากโรคนี้เป็นการกลายพันธุ์มา ยังไม่เคยมีใครมีภูมิคุ้มกันมาก่อน เราก็เลยกลัวว่ามันอาจจะกระจายไปเยอะมาก แล้วมันก็กระจายเหมือนสมัยก่อนที่การแพทย์ สาธารณสุขไม่ดี จะสังเกตได้ว่าส่วนใหญ่ไข้หวัดใหญ่มักจะเสียชีวิตในแถบยุโรป เพราะอากาศหนาว ในประเทศไทยก็ไม่ถึงกับกระจายรุนแรงแบบในยุโรปแน่นอน ส่วนตัวเห็นว่าก็ต้องป้องกันไม่ให้มันกระจายออกไปรวดเร็ว เชื่อว่าภายใน 6 เดือนน่าจะเริ่มมีวัคซีนออกมา แล้วทุกอย่างก็จะกลับเข้าสู่ปกติประมาณ 1 ปี

แต่ความที่ตระหนก สื่อสารไปเร็ว ความไม่เข้าใจกัน และบางคนก็ไม่กลัวที่เชื้อจะแพร่ไปยังคนอื่น อย่างกรณีผีน้อย ทำให้ซ้ำเติมสถานการณ์ เพราะฉะนั้นใครมีความเสี่ยง ก็ต้องรับผิดชอบต่อสังคม ส่วนคนทั่วไปก็ใช้ชีวิตปกติ ออกไปข้างนอกได้ แต่ต้องป้องกันตัวเอง พอมีวัคซีนออกมา ทุกอย่างก็จะเริ่มดีขึ้น หรือผ่านไป 1 ปี มันก็จะกลายเป็นเชื้อประจำฤดู และเราก็จะเริ่มมีภูมิคุ้มกันกันแล้ว สถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้ก็จะดีขึ้น

สำหรับผู้สูงอายุ นพ.ฆนัท กล่าวว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว สุ่มเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้ง่ายขึ้น เมื่อเป็นกลุ่มเสี่ยงเราก็ต้องป้องกัน ซึ่งในสมาคมส่งเสริมธุรกิจบริการผู้สูงอายุไทยจะมีความเคลื่อนไหวของความต้องการอยู่ 4 อย่าง ได้แก่ 1.หน้ากากอนามัย 2.เครื่องวัดไข้ 3.แอลกอฮอล์เจล 4.น้ำยาทำความสะอาดต่างๆ ต่อไปที่เรามองว่าที่จะเริ่มขาดแคลน คือ พวกทิชชู แพมเพิร์สสำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากจีนเป็นแหล่งผลิต เมื่อจีนหยุดผลิตก็เกิดปัญหา ยังโชคดีที่จีนแก้สถานการณ์ได้ และเขาจะเริ่มผลิตสินค้าแล้ว

นพ.ฆนัท กล่าวว่า การจะทำให้เมืองไทยไม่บอบช้ำจากเชื้อไวรัสโควิด-19 มากไปกว่านี้ ทุกคนจะต้องตระหนัก แต่อย่าตระหนก คือตระหนักว่าเราทุกคนมีส่วนทำให้โรคเกิดการแพร่กระจายได้ ถ้าเรามีความเสี่ยงเราต้องหยุด ต่างประเทศต้องพยายามลดลง ขณะเดียวกันเราต้องใช้ชีวิตแบบปกติ มีคนถามว่าห้ามไปที่ชุมชน แต่รัฐบาลกลับส่งเสริมให้มีการสัมมนามากขึ้น ก็ต้องมองว่าเป็น 2 เรื่อง เราต้องรู้ว่าต้องลดการเดินทางท่องเที่ยวบางที่ และป้องกันตัวเองไว้ แต่ขณะเดียวกันกิจกรรมต่างๆ เราก็ยังต้องมีเหมือนปกติ ไม่อย่างนั้นพอเศรษฐกิจอันหนึ่งหยุด มันจะเหมือนห่วงโซ่ ที่จะกระทบออกไปเรื่อยๆ

แล้วอนาคตเราคงต้องมีการป้องกันความเสี่ยง หลังจากนี้ไปทุกคนต้องป้องกันความเสี่ยง เพราะมันกระทบอย่างยิ่ง เช่น ของขาดแคลน เนื่องจากซัพพลายอยู่ที่จีน ดังนั้นอย่าพึ่งจีนเพียงอย่างเดียว ต้องมีสำหรับเตรียมตัวในประเทศไทยด้วย ต้องมีสต๊อกกรณีขาดแคลนด้วย เชื่อว่าเรื่องโควิด-19 อาจแก้ปัญหาได้ แต่ในวัฏจักรอีก 5-10 ปี ก็อาจเกิดขึ้นมาได้อีกเหมือนกัน  @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น