โควิด-19 ขยายวงกระทบอุตสาหกรรม ให้ พนง.หยุดแบบไม่รับค่าจ้าง ยืดเยื้อมีปลดคนแน่!!!

โรคไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย และยังส่งผลกระทบถึงภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ต้องลดกำลังการผลิต ลดเวลาการทำงาน หากสถานการณ์ยืดเยื้อ ก็คงถึงขั้นต้องเลิกจ้าง

เกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. กล่าวว่า โรคไวรัสโควิด-19 เป็นเรื่องใหญ่ อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคืออุตสาหกรรมท่องเที่ยว เครื่องจักรที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมา หนึ่งในนั้นคือภาคท่องเที่ยว โดยเฉพาะปี 2562 เรามีนักท่องเที่ยวเข้ามาเกือบ 40 ล้านคน ในจำนวนนี้ 11 ล้านคน คือนักท่องเที่ยวจีน หรือคิดเป็นราว 28% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด ปีหนึ่งก็สร้างรายได้และมีผลต่อจีดีพีของประเทศค่อนข้างมาก

เกรียงไกร เธียรนุกุล

เมื่อเกิดโรคไวรัสโควิด-19 ภาคท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง สิ่งเหล่านี้ทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งหมดตั้งแต่ต้นน้ำ เริ่มตั้งแต่อุตสาหกรรมการบิน โรงแรม ได้รับผลกระทบหมดเลย และยังพ่วงไปยังภาคอุตสาหกรรมหลักๆ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร เพราะดีมานด์ลดลง หลายอย่างก็เริ่มมีปัญหามากขึ้น

อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมี 2 ประเภท คือ อุตสาหกรรมที่ทำหน้าที่เป็นวัตถุดิบ เช่น ไฟฟ้า ก็ลดลง เพราะโรงแรมไม่มีคนมาพัก ร้านค้าปลีกไม่มีคนมาซื้อของ การใช้ไฟก็ลดลง ส่วนภัตตาคาร คนไม่มากินอาหาร พวกอาหารทั้งหลาย พืชผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ก็ลดลง รวมทั้งภาคการขนส่งที่ไม่มีนักท่องเที่ยว รถทัวร์ และเรือ ต่างก็ได้รับผลกระทบ

แต่ในวิกฤติก็ยังมีบางอุตสาหกรรมที่เป็นโอกาส โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เจลล้างมือ แอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย รวมทั้งพวกทิชชู วิตามินซี อาหารเสริม ตอนนี้ขายดีมาก และคนเดี๋ยวนี้ไม่กล้าไปในที่ที่มีคนหนาแน่น เลิกงานก็รีบกลับบ้าน พวกธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่ ตอนนี้งานเพิ่มขึ้น 3-4 เท่า เพราะฉะนั้นในวิกฤติก็มีโอกาส แต่วิกฤติลักษณะนี้ถึงจะมีโอกาสขึ้นมาจริง แต่วิกฤติก็ทำให้หลายๆ อุตสาหกรรมเสียหายมากกว่า

ส่วนปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลน ที่แม้กระทั่งบุคลากรทางการแพทย์ก็ยังขาดแคลนนั้น เกรียงไกร กล่าวว่า เนื่องจากประชาชนตื่นตระหนก จึงมีการซื้อกันเยอะเพื่อกักตุนเอาไว้ใช้ และมีบางส่วนที่ส่งออกไปบ้าง นอกจากนี้ ยังมีพ่อค้าที่กักตุนหน้ากากอนามัยด้วย

ซึ่งวันนี้ภาครัฐได้เข้ามาควบคุม โดยกระทรวงพาณิชย์จัดระเบียบใหม่ เพิ่งจะเริ่มออกคำสั่ง ให้ 11 โรงงานที่เป็นผู้ผลิตหน้ากากอนามัย ส่งผลผลิตให้กระทรวงเป็นผู้ดูแล โดย 70% ของผลผลิตจะจัดสรรให้บุคลากรทางการแพทย์ตามโรงพยาบาลต่างๆ ส่วนอีก 30% ให้ประชาชนใช้ ขณะนี้ 11 โรงงาน ผลิตหน้ากากอนามัยได้ 1.2 ล้านชิ้นต่อวัน แต่ละเดือนจะมีประมาณ 36 ล้านชิ้น เรามีประชากรเกือบ 70 ล้านคน ถ้ามีการจัดสรรกันก็พอได้อยู่ ถ้าไม่มีการกักตุน

โรงงานผลิตหน้ากากอนามัย 11 โรง ส่วนใหญ่เป็นโรงงานที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ซึ่งเงื่อนไขของบีโอไอ ก็ต้องผลิตเพื่อการส่งออก วันนี้เราต้องขอร้องเขาว่าอย่าเพิ่งส่งออก เอาปริมาณที่ส่งออกมาช่วยในประเทศก่อน

สำหรับวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตหน้ากากอนามัย คือตัวฟิลเตอร์ หรือตัวไส้กรองนั้น ประเทศไทยยังผลิตไม่ได้ ต้องนำเข้า ซึ่งประเทศที่เรานำเข้ามากที่สุด และผลิตเยอะที่สุดคือจีน วันนี้ที่ 11 โรงงานผลิตอยู่ ส่วนใหญ่เป็นสต๊อกเดิม และแต่ละโรงงานก็เริ่มร่อยหรอลง ซึ่งแต่ละโรงงานก็ไม่ได้นิ่งนอนใจพยายามหาจากแหล่งอื่น เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย

แต่วันนี้ทั่วโลกก็ต้องการหน้ากากอนามัย เพราะโรคไวรัสโควิด-19 ระบาดไปเกือบ 80 ประเทศ และตอนนี้ประเทศไทยห้ามส่งออกหน้ากากอนามัย ประเทศอื่นก็ห้ามส่งออกเช่นกัน ในส่วนของฟิลเตอร์ที่นำเข้าจากจีน ขณะนี้ทางจีนเริ่มกลับมาผลิต โรงงานเริ่มกลับมาทำงาน ซึ่งเราก็ต้องขอไปเยอะกว่านี้ แล้วก็หาจากแหล่งอื่นมาทดแทน

เกรียงไกร กล่าวว่า สิ่งที่กังวลคือจีนเป็นประเทศที่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาโรคระบาดได้ดี เพราะเป็นประเทศพิเศษที่มีอำนาจสั่งการจากส่วนกลางไปแล้วทุกคนต้องทำตาม แต่ประเทศอื่นที่เป็นเสรี สั่งใครไม่ได้ จะทำได้หรือไม่ ประเทศไทยยังโชคดี ลำดับผู้ติดเชื้อของเราอยู่อันดับ 2 ในตอนต้น แต่ปัจจุบันเราตกมาอันดับมาเรื่อยๆ แต่ประมาทไม่ได้ ทุกคนต้องเตรียมพร้อม เพราะเชื้อโควิด-19 ถ้าระบาดแล้วจะไปเร็ว ซึ่งคิดว่าภาครัฐคงวางแผนเรื่องการสต๊อกหน้ากากอนามัย เตรียมพร้อมไว้ถ้าเกิดเหตุขึ้้นมา อย่างน้อยคนในประเทศจะได้มีใช้กัน

เมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้หารือกับ ส.อ.ท. และ ส.อ.ท. ได้เชิญกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ เพื่อมาดูมาตรการที่จะช่วยทำหน้ากากอนามัยจากผ้าที่สามารถซักแล้วนำมาใช้ซ้ำได้ เพื่อเป็นการบรรเทาการขาดแคลน และกระจายให้ชาวบ้านทั่วไปได้ใช้ โดยรัฐบาลต้องการ 30 ล้านชิ้นต่อเดือน แต่กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอคิดว่าเราน่าจะช่วยได้ประมาณ 10-15 ล้านชิ้น ที่เหลือก็คงต้องหาส่วนอื่นมาช่วยด้วย ซึ่งรัฐบาลจะให้งบประมาณ

“ภาคอุตสาหกรรมมีการปรับตัวตั้งแต่ปีที่แล้ว ก่อนโควิด-19 จะมา เพราะปีที่แล้วสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนถือว่าหนักมาก ตลอดทั้งปีทำให้หลายอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบในเชิงลบ แต่ก็มีหลายอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบในเชิงบวก ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงในเชิงลบ เช่น ออเดอร์ลดลง เพราะต้องส่งไปจีนแล้วจีนถูกสหรัฐขึ้นภาษี ก็ทำให้หลายอุตสาหกรรมต้องลดกำลังการผลิต มาตรการที่ผ่านมาก็คือลดเวลาการทำงาน ไม่มีโอที ลดกะ ท้ายสุดก็คือเลิกจ้างพวกที่เป็นลูกจ้างรายวัน หรือลูกจ้างที่เป็นจ้างเหมาก็เลิกจ้าง รวมถึงผู้ที่ไม่พ้นช่วงทดลองงาน 4 เดือน ท้ายสุดถ้าไม่ได้จริงๆ ก็ต้องให้หยุด หรือปิดไป” เกรียงไกร กล่าว

มาถึงปีนี้ ตอนแรกคิดว่าสงครามการค้าคลี่คลายในเฟสหนึ่งน่าจะดีขึ้น แต่มาเจอโควิด-19 ตอนนี้หนักเลย ในหลายอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะเราส่งไปจีนไม่ได้ เพราะจีนช่วงนี้ยังไม่รับสินค้า ยังไม่มีออเดอร์ใหม่ ขณะเดียวกันเราก็นำเข้าจากจีน พวกชิ้นส่วน พวกแผงวงจร พวกอุปกรณ์มากมาย ในทุกๆ อุตสาหกรรมจะต้องนำเข้าจากจีนไม่มากก็น้อย เพราะฉะนั้นตอนนี้หลายอุตสาหกรรมของเราเริ่มประสบปัญหาเรื่องสต็อกขาดของแล้ว แล้วสั่งของจากจีน ทางจีนก็ไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าจะส่งของได้เมื่อไร แต่เราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ จัดหาจากประเทศอื่นที่สามารถทดแทนได้ ถึงแม้ราคาจะแพงกว่าในช่วงนี้ ดีกว่าของขาด แต่ท้ายสุด ถ้าหาไม่ได้จริงๆ ก็ต้องหยุดการผลิต

ถ้าหยุดการผลิตขึ้นมา สิ่งที่เราพยายามทำตอนนี้ จากมาตรการอ่อนที่สุด คือ ให้พนักงานลาหยุดโดยไม่รับค่าจ้าง และให้คงสิทธิการเป็นพนักงานอยู่ ตอนนี้ก็เริ่มมีแล้วหลายราย ส่วนจะถึงกับเลิกจ้างเลยหรือไม่ ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ก็เริ่มเห็นว่ามีการเลิกจ้างกันเยอะ พวกโรงแรม ร้านอาหาร ภัตตาคารต่างๆ ตอนนี้ปิดกิจการพอสมควร แต่ในภาคอุตสาหกรรมเรายังประคองอยู่ เพราะเราได้รับบทเรียนจากปีที่แล้วมาแล้ว เราก็พอเข้าใจ ก็ต้องช่วยกันทั้งลูกจ้าง นายจ้าง ต้องอยู่กันให้ได้

ตอนนี้เราวางไว้ว่าสถานการณ์จะค่อยๆ ดีขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม สิงหาคม คือ ครึ่งปีแรกนี่คงไม่ได้ เพราะยังอยู่ในปัญหาโควิด-19 เพราะฉะนั้นในช่วงครึ่งปีหลังก็ต้องมาลุ้นกันว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะสามารถควบคุมได้ในระดับไหน แล้วก็มีเงื่อนไขสำคัญคือ ต้องดูแต่ละประเทศนอกเหนือจากจีนว่าจะเอาอยู่หรือไม่ ถ้าเอาไม่อยู่ เศรษฐกิจจะชะลอตัวไปหมดทั้งโลก แต่ถ้าเป็นตามภาพที่ดีที่สุดว่าครึ่งปีแรกนี้ไม่ดี แต่ครึ่งปีหลังถ้าฟื้นตัวก็ยังพอไปได้ แต่ถ้าปัญหาโควิด-19 เอาไม่อยู่ทั่วโลกไปจนถึงสิ้นปี เราต้องมาประเมินกันใหม่ ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดกันต่อไป  @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น