มาแล้ว!! มาตรการช่วยเหลือ SME พักหนี้ เติมเงินที่ไหนดี?

การแพร่ระบาดของโรคไวรัส COVID-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในวงกว้าง ธปท.จึงได้ร่วมกับสถาบันการเงิน กำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติที่เกิดขึ้น

มงคล ลีลาธรรม อดีต CEO SME Development Bank กล่าวว่า เมื่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ผู้ประกอบการจะต้องปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว เพราะเรื่องของสภาพคล่องเป็นเรื่องสำคัญ ในวันนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ได้ร่วมกับสถาบันการเงินทั้งภาครัฐ และเอกชน ออกมาตรการช่วยเหลือเรื่อง “พัก ขยาย เติม” ซึ่งหมายถึง การพักชำระหนี้ การขยายระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ออกไป และการเติมเงินกู้เพิ่มขึ้น

โรคไวรัส COVID-19 ที่เกิดขึ้นน่าจะหนักกว่าในรอบหลาย 10 ปีที่ผ่านมา สมัยโรคซาร์ส และไข้หวัดนก เศรษฐกิจชะลอไป 14-17 เดือน แต่ครั้งนี้ประเมินว่ากว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ปกติน่าจะใช้เวลาแรมปี ในส่วนของธุรกิจจะต้องเตรียมการเรื่องนี้ให้ดี

ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือ ธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและการเดินทาง ร้านอาหาร โรงแรม รถรับส่ง ไกด์ ก็ขอให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบให้ไปติดต่อธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง เพื่อขอพักชำระหนี้ จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย 12 เดือน ไม่ต้องจ่ายเงินต้น สมมติเงิน 1 ล้านบาท เมื่อก่อนธนาคารรัฐจะจ่ายประมาณ 16,000 บาท ถ้าจ่ายดอกเบี้ยอย่างเดียว จะจ่ายไม่ถึง 1% เท่ากับราว 1,000 บาท จาก 16,000 เหลือ 1,000 บาท ท่านก็สามารถเก็บเงินสด 15,000 บาท นำไปเสริมสภาพคล่อง หรือเอาไปช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายประจำ เงินเดือนของพนักงานต่างๆ

ถ้าเราหยุดการพักชำระหนี้ ต่อไปเราก็ขอร้องธนาคารให้ขยายเวลาการชำระหนี้ออกไป เช่น เดิม 7 ปี ก็ขอขยายเป็น
10 ปี ทำให้เราผ่อนน้อยลง เมื่อครบรอบก็ค่อยๆ ทยอยจ่าย ไม่ต้องจ่ายทีเดียว 16,000 บาท ทำบันไดขึ้นไปทีละขั้น
ก็ขอจ่าย 6,000, 8,000, 12,000, 16,000 บาท

รัฐบาลขยายเวลาให้ถึง 5 ปี แต่ธนาคารต่างๆ จะให้ 3-4 ปี เผื่อเหลือเผื่อขาด ดังนั้นจะขยายระยะเวลาการชำระหนี้เดิม
ออกไปอีกอย่างน้อย 3 ปี ไม่เกิน 5 ปี และรัฐบาลยินดีให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย.
ค้ำประกันให้ โดยที่ผู้ประกอบการไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆ เนื่องจากรัฐบาลจะจัดงบประมาณมาช่วยในส่วนของ
ค่าธรรมเนียมที่ขยายนี้

ส่วนเรื่องเติมเงิน SME Development Bank ให้สินเชื่อแก่เอสเอ็มอีคนตัวเล็ก ที่มีรายได้โดยรวมไม่เกิน 1.8 ล้านต่อปี
ถ้าเป็นนิติบุคคลให้สินเชื่อ 1 ล้านบาท ดอกเบี้ย 3% คงที่ 3 ปี ส่วนบุคคลธรรมดาให้สินเชื่อไม่เกิน 5 แสนบาท
ดอกเบี้ย 5% คงที่ 3 ปี เพื่อให้เกิดสภาพคล่องเงินหมุนเวียนในช่วงที่เกิดการพักชำระหนี้

ถ้าผู้ประกอบการที่มีวงเงินใหญ่กว่านั้น ก็ต้องไปติดต่อธนาคารออมสิน กรุงไทย ธ.ก.ส. ธนาคารรัฐที่เกี่ยวข้อง
โดยเฉพาะธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ เอ็กซิมแบงก์ ซึ่งผู้ส่งออกที่ไม่เคยเป็นลูกค้า
ของเอ็กซิมแบงก์น่าจะไปติดต่อดู

เพราะเอ็กซิมแบงก์มีมาตรการด้านรับประกันการส่งออก กรณีที่มีการส่งออกไปยังผู้ซื้อในประเทศจีน จะไม่คิด
ค่าเบี้ยประกันเพิ่ม กรณีขยายระยะเวลาให้กับผู้ค้าในจีนอีก 180 วัน หากขยายเกิน 180 วัน แต่ไม่เกิน 270 วัน
จะเรียกเก็บเบี้ยประกันเพียง 50%

และในกรณีสินค้าส่งออกที่เน่าเสียง่าย กรณีนี้ก็อาจคุ้มครองให้ท่านเป็นกรณีพิเศษ ในมูลค่าถึง 50% ของมูลค่า
ใบกำกับสินค้า เพราะปัจจุบันโลจิสติกส์ของจีนอาจล่าช้า และทำความเสียหายให้กับสินค้าท่านได้ เอ็กซิมแบงก์
ก็รับประกันให้ตรงนี้

สำคัญที่สุดคือ ตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือ PN กรณีที่เป็นเงินหมุนเวียนการค้าสำหรับเรื่องการส่งออกนั้น ปัจจุบัน
เอ็กซิมแบงก์ขยายตั๋วตรงนี้ให้ได้ถึง 360 วัน แล้วมีโอกาสพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยสูงสุดถึง 6 เดือน รวมกัน
ก็ขยายระยะเวลาการผ่อนถึง 5 ปีได้ด้วย พูดง่ายๆ ก็คือ เปลี่ยนจาก PN เป็นการผ่อนชำระได้ 5 ปี โดยไม่ต้อง
เสียค่าธรรมเนียมการค้ำประกันของ บสย.เลย และเอ็กซิมแบงก์ให้สินเชื่อต่อรายได้ถึง 100 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย
2 ปีแรก เพียง 2% เท่านั้น

สำหรับนโยบาย “พัก ขยาย และเติม” มงคล กล่าวว่า ธนาคารจะให้กับผู้ประกอบการจริง และมีธุรกิจจริงเท่านั้น
โดยธนาคารจะใช้หลักประกันเดิมที่มีอยู่ ไม่ใช่ใครทั่วไปเดินเข้ามาแล้วก็ให้สินเชื่อ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ธนาคารต้อง
เข้าไปช่วยเหลือลูกค้าในยามที่เจอวิกฤติ ถึงได้เรียกว่าเป็นคู่ค้ากัน

เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้กระทบต่อรายได้โดยตรงของผู้ประกอบการ ทั้งที่ธุรกิจจริงๆ ยังมีอยู่ ยังไปได้ดี แต่เนื่องจากเกิดจากปัจจัยคนเดินทางไม่ได้ กิจกรรมทางธุรกิจก็ไม่มี ซึ่งโดยปัจจัยพื้นฐานไม่ได้เปลี่ยน แต่มาจากโรคภัยที่ระบาด หลังจากปัจจัยพวกนี้ผ่านพ้นไปได้ บางธุรกิจอาจโตขึ้นมาเป็นเท่าตัวก็ได้ เช่น ธุรกิจอาหาร หรือ ธุรกิจโรงพยาบาล

เนื่องจากอาหารบ้านเราขึ้นชื่อว่ามาตรฐานความปลอดภัยสูง แล้วแหล่งผลิตของเราก็ควบคุมเรื่องสารปนเปื้อนสูงมาก
รสชาติก็อร่อย หลังเข้าสู่ภาวะปกติ ออเดอร์ตรงนี้น่าจะมากขึ้น และเมื่อก่อนห่วงโซ่ทางอุปทานที่สำคัญคือประเทศจีน
ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารใหญ่ในโลก ต้นทุนถูก และมีความสมบูรณ์มาก แต่หลังเกิดเหตุปัจจัยที่คาดไม่ถึง ส่วนตัว
คิดว่าแหล่งการจัดหา น่าจะเพิ่มการจัดหา ซื้อเพิ่มเติมนอกจากจีน ซึ่งอาจเป็นประเทศไทย ดังนั้น ผู้ประกอบการ
ที่ทำอุตสาหกรรมด้านอาหารก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อม หลังวิกฤตินี้ผ่านไป

ส่วนเรื่องโรงพยาบาล จากวิกฤติที่เกิดขึ้นก็แสดงให้เห็นถึงศักยภาพโรงพยาบาลในประเทศไทยในการดูแลผู้ป่วย
รวมทั้งมาตรฐานในการรักษาของสาธารณสุขไทย ซึ่งเป็นที่ประทับใจของคนส่วนใหญ่ ดังนั้น ธุรกิจอาหาร และธุรกิจ
โรงพยาบาลอาจรุ่งเรือง หลังวิกฤติโรคไวรัส COVID-19 ผ่านพ้นไป

สำหรับการท่องเที่ยวที่อยู่ในเมืองรองที่มีสนามบิน เช่น นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร ระนอง กระบี่ ที่อาหาร
ทะเลยังถูกอยู่ และความเป็นธรรมชาติยังสูงมาก หลังคนถูกกักกันเรื่องการเดินทาง ก็คงอึดอัด และคงมาเที่ยว มากิน
คิดว่าเมืองไทยพร้อม อากาศดี หลังจากนี้ เดือนเมษายน เราจะเริ่มเห็นกระบวนการมาเที่ยวมากขึ้น โดยเฉพาะจาก
ประเทศอินเดีย และตะวันออกกลาง

มงคล กล่าวว่า บ้านเรายังมีจุดแข็ง และมีโอกาสอีกเยอะในท่ามกลางวิกฤติ ให้พวกเราเตรียมความพร้อมไว้
และเตรียมสภาพคล่อง คือ พัก ขยาย เติม เอาไว้ เพื่อที่หลังผ่านพ้นวิกฤติโรคไวรัส COVID-19 แล้ว จะได้เดินหน้า
ทำธุรกิจได้อย่างเต็มที่  @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น