ชวนล่ารางวัล ELMA เครื่องมือการตลาดผู้ประกอบการ “โลจิสติกส์”

ภาพจาก Facebook : Excellent Logistics Management Award – ELMA

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เชิญชวนผู้ประกอบการโลจิสติกส์สมัครเข้าประกวดรางวัล ELMA เพิ่มความน่าเชื่อถือ พัฒนาศักยภาพองค์กร และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

อารดา เฟื่องทอง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจบริการ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สัดส่วนโครงสร้างต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยปัจจุบันจะอยู่ที่ประมาณ 13.8% ซึ่งโครงสร้างต้นทุนด้านค่าขนส่งสินค้าของไทยค่อนข้างสูง คือ 7.5% ต่อจีดีพี

อารดา เฟื่องทอง

แต่ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ทางมาตรฐานสากลจะใช้ LPI หรือ Logistic Performance Index ซึ่งใช้กันทั่วโลก ในปี 2018 ที่มีการวัดดัชนีชี้ประสิทธิภาพทางโลจิสติกส์ ประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 32 ของโลก ขึ้นมา 13 อันดับ จากอันดับที่ 45 ในปี 2016 รอดูของปี 2020 ว่าจะมีการวัดอีกหรือไม่ ซึ่งคิดว่าถ้ามี LPI ประเทศไทยก็น่าจะดีขึ้น

เมื่อเทียบกันในอาเซียน ประเทศไทยเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศสิงคโปร์ ที่มี LPI ด้านโลจิสติกส์ดีมาก เนื่องจากสโคปและสเกลของประเทศเขาไม่ได้กว้างมาก คือ เขาอาจไม่ได้มีการขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ที่จำเป็นต้องมีเครือข่ายสูงนักภายในประเทศ แต่เรื่องการบริหารจัดการ ทั้งเรื่องศุลกากร เรื่องกระบวนการการขนส่งด้านการส่งออกนำเข้า เขาทำได้ดีมาก เพราะใช้ดิจิทัลมาเป็นตัวช่วย

ต่อไปต้นทุนโลจิสติกส์ประเทศไทยน่าจะลดต่ำลงไปเรื่อยๆ จะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของเราเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่เราใช้ระบบดิจิทัลต่างๆ ระบบเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการ Track-and-trace ช่วยในการบันทึกข้อมูล สามารถทำให้เรามีความเชื่อมั่นมากขึ้นในการขนส่งสินค้า ซึ่งจะเป็นตัวหลักสำคัญที่ทำให้ LPI ของเราดีขึ้น

ขณะเดียวกันการลดต้นทุนที่มีนัยสำคัญก็จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้แน่นอน เพราะอย่างที่ประชาชนทั่วไปจะรู้สึกกับการขนส่งที่เป็น B2C คือ การขนส่งในบ้านเราที่มีผู้เล่นเข้ามามากมาย ทั้งบริษัทต่างชาติ และบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทย ซึ่งการขนส่งภายในประเทศก็ยังต้องใช้ผู้ประกอบการไทยที่มีเครือข่ายครบถ้วน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานโลจิสติกส์ที่ดีของไทยเรื่องการขนส่งทางบกในประเทศ

อารดา กล่าวว่า สำนักพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจบริการ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มีหน้าที่สำคัญคือ การพัฒนา
และการส่งเสริม สิ่งที่กรมฯ ช่วยพัฒนาก็มีหลายด้าน สำหรับเอสเอ็มอีรายใหม่ๆ ที่เพิ่งเปิดธุรกิจโลจิสติกส์ หรือเคยเป็น
ผู้ประกอบการให้บริการธุรกิจโลจิสติกส์แบบดั้งเดิมมาก่อน สิ่งที่กรมช่วยพัฒนาเขาก็คือ พยายามที่จะให้ความรู้
แชร์ประสบการณ์ หาผู้เชี่ยวชาญมาให้ข้อมูลใหม่ๆ รวมถึงช่วยเรื่อง Business Matching ให้เขาได้เจอกับเน็ตเวิร์คกิ้ง
ที่จะช่วยทำให้เขาต่อยอดศักยภาพเขาได้ดีขึ้น

“บางเรื่องถ้าเราอยากจะพัฒนาอย่างก้าวกระโดดเราอาจต้องเรียนรู้จากคนอื่น ซึ่งเขามีการพัฒนาที่เร็วกว่าเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลจิสติกส์ ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารจัดการค่อนข้างมาก ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มีสำนักงานในต่างประเทศมากกว่า 58 แห่งทั่วโลก และเราจะมีเครือข่ายอยู่ในต่างประเทศเหล่านั้น เราก็จะรู้ว่าใครคือกูรู ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ดี เราก็จะพยายามเอาข้อมูลเหล่านั้นส่งมาให้ผู้ประกอบการที่เป็นเอสเอ็มอีของไทยอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการสามารถเข้าไปหาข้อมูลเหล่านี้ได้ที่เว็บไซต์ ditp.go.th และ tradelogistic.go.th ได้ตลอดเวลา”

ส่วนอีกด้านคือการส่งเสริม นอกจากการให้ความรู้ พัฒนาต่อยอดศักยภาพให้ผู้ประกอบการแล้ว เวลาเขาลงมือทำธุรกิจจริงๆ ธุรกิจโลจิสติกส์เป็นธุรกิจที่มีความพิเศษ เพราะทำคนเดียวไม่ได้ ไม่มีบริษัทไหนที่จะสามารถซื้อทั้งรถ ทั้งเรือ ทั้งรถไฟ ทั้งราง แค่ในประเทศก็ไม่ไหวแล้ว การที่เราจะสามารถเป็นเทรดโลจิสติกส์ ส่งเพื่อการค้าระหว่างประเทศได้นั้น เครือข่ายของเราเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมีความเชี่ยวชาญและมีความเข้มแข็งมาก เพราะกรมฯ ก็เป็นเหมือนมาร์เก็ตเตอร์ ของประเทศ เรามีหน้าที่แมทช์กับเครือข่ายเหล่านี้ เพื่อที่จะให้เขามาเจอกับคนที่ใช่ และแต่งงานทางธุรกิจ ซึ่งเราต้องคัดกรองอย่างดี และเราก็มีแพลตฟอร์มต่างๆ ในการที่จะช่วยให้เขาเจอคนที่ใช่ ไม่ว่าจะเป็นงานแฟร์ ซึ่งกรมฯ จัดงาน TILOG – LOGISTIX ประมาณเดือนสิงหาคม เป็นประจำทุกปี ซึ่งจัดมากว่า 20 ปีแล้ว งานนี้เป็นงานที่ให้คนไทยได้แสดงศักยภาพของการเป็นผู้ประกอบการโลจิสติกส์ที่มีความน่าเชื่อถือ โดยเราพยายามผลักดันให้ประเทศไทยเป็นอาเซียนโลจิสติกส์ฮับ

อารดา กล่าวว่า โลจิสติกส์เป็นธุรกิจที่ต้องได้รับการยอมรับเรื่องความน่าเชื่อถือ ถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง เราจึงคิดว่ารางวัลเป็นเรื่องที่ทำให้ผู้ประกอบการได้รับความน่าเชื่อถือแบบก้าวกระโดดขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง เพราะการได้รับรางวัลจากรัฐบาลไทยเป็นสื่อสัญลักษณ์ที่ทำให้ผู้ค้ามีความเชื่อถือต่อเรามากขึ้นแบบเท่าตัว เพราะปกติการที่รัฐบาลจะให้รางวัลใครได้ ต้องผ่านกระบวนการหลายอย่าง

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเห็นความสำคัญตรงนี้ จึงจัดทำโครงการประกวดให้รางวัล Excellent Logistics Management
Award หรือ ELMA เพื่อเป็นรางวัลมอบให้กับผู้ประกอบการที่มีความเป็นเลิศด้านการบริหารจัดการโลจิสติกส์ โดยวิธีการประเมินเราใช้แนวทางมาตรฐานสากล ซึ่งทั่วโลกให้การยอมรับ ทั้งการประเมินในแง่การดำเนินการบริหารจัดการตัวธุรกิจเอง ผลประกอบการ ความโปร่งใส ความมีธรรมาภิบาลกับผู้รับบริการ เราดูครบหมด

รางวัล ELMA จะช่วยยกระดับผู้ประกอบการ ช่วยทำให้เขาเป็นที่รู้จักและมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นรางวัล โดยรางวัลมี 4 สาขา ได้แก่ 1.สาขาผู้ให้บริการขนส่งสินค้า 2.สาขาผู้ให้บริการคลังสินค้า 3.สาขาผู้ให้บริการตัวแทนในการจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ หรือ ตัวแทนออกของ 4.สาขาผู้ให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจร

ผู้ประกอบการที่สมัครเข้าประกวดรางวัล ELMA จะได้ประโยชน์สูงสุดจากการที่มาขอรับการประเมิน โดยเขาจะได้รับการอบรม มีเวิร์กช็อปให้ มีผู้ให้คำแนะนำมาบอกว่าเขาต้องทำอย่างไรเพื่อพัฒนาให้เขาสามารถไปได้ถึงมาตรฐานสากล และผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดในแต่ละสาขาจะได้รับการเสนอชื่อพิจารณาเข้ารับรางวัล Prime Minister’s Export Award 2020 หรือ PM Award ด้วย

สำหรับเกณฑ์การประเมินมอบรางวัลนั้นมี 7 ด้าน ได้แก่ เรื่องวิสัยทัศน์องค์กร เรื่องการวางแผน เรื่องการให้ความสำคัญกับลูกค้า เรื่องการใช้เทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการโลจิสติกส์ เรื่องการให้ความสำคัญกับบุคลากรในองค์กร เรื่องการบริหารจัดการกระบวนการทางโลจิสติกส์ และเรื่องผลประกอบการของบริษัท

ผู้ประกอบการที่สนใจจะสมัครเข้าประกวดรางวัล ELMA สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ในเว็บไซต์ของสำนักพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจบริการ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยจะเปิดรับสมัครวันที่ 2 มีนาคม – 20 พฤษภาคม 2563 และมีกิจกรรมเสวนา”ยกระดับโลจิสติกส์ไทยด้วยรางวัล ELMA” ในวันที่ 5 มีนาคม 2563  @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น