เศรษฐกิจซึมต่อเนื่อง ครัวเรือนผวา! รายได้ลด กระทบกำลังซื้อตรุษจีนติดลบ

ผลสำรวจดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ในเดือนธันวาคม 2562 พบว่ามีการปรับตัวสูงขึ้น

ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจาก
เดือนธันวาคมเป็นช่วงที่มีการปรับเงินเดือน มีโบนัส ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราว แต่ถ้ามองไปข้างหน้าอีก 3 เดือน
ครัวเรือนเองหรือประชาชนทั่วไปยังมีความกังวลเรื่องรายได้และการมีงานทำ เนื่องจากมีข่าวการปิดโรงงาน
หรือการปรับลดคน ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้คนประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น

ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล

นอกจากนี้ยังมีเรื่องภัยแล้ง ที่มีข่าวว่าปีนี้จะมีความรุนแรงมากกว่าปี 2557, 2558 ที่ตอนนั้นเราก็มองว่าหนักที่สุดในรอบ 20 ปีแล้ว แต่ครั้งนี้อาจหนักกว่านั้น ก็จะเป็นอีกความกังวลหนึ่ง ถ้าไปดูระดับน้ำในเขื่อน จะเห็นว่าต่ำกว่าปีที่แล้วค่อนข้างเยอะ เราก็ต้องมาลุ้นกันว่าฝนทิ้งช่วงจะลากยาวไปจนถึงฤดูฝนหรือไม่ หรือทิ้งช่วงแค่ช่วงเดือนมีนาคม เมษายน พฤษภาคม ความจริงหลายๆ ภาคส่วนคงเตรียมการไว้บ้างแล้วบางส่วน แต่เรื่องภูมิอากาศ และสภาพฝนจะมาหรือไม่มา ก็คงต้องไปลุ้นกันอีกที

เรื่องภัยแล้ง เกษตรกรจะได้รับผลกระทบโดยตรง ช่วงเพาะปลูกไม่มีน้ำ เขาก็ทำการเกษตรไม่ได้ ก็จะไม่มีผลผลิตมาขาย ทำให้พืชผลทางการเกษตรมีราคาแพงขึ้น ก็อาจลากมาถึงเรื่องการใช้จ่ายของประชาชน อย่างตรุษจีนปีนี้ คนก็จะจับจ่ายใช้สอยประหยัดขึ้น มีการปรับลดขนาดของเซ่นไหว้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสำรวจคนในกทม. พบว่าตรุษจีนปีนี้อาจไม่คึกคักมากนัก ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ และผู้บริโภคอาจมีการปรับพฤติกรรมด้วย การเซ่นไหว้อาจมีการปรับลดขนาดลงให้พอดีกับขนาดครัวเรือน ส่วนใหญ่คนจะปรับเรื่องค่าใช้จ่ายในการทำบุญ การท่องเที่ยว และซองที่ให้แต๊ะเอีย สำรวจเม็ดเงินออกมาแล้ว จะหดตัวมากกว่าค่าใช้จ่ายเรื่องเซ่นไหว้ ประเมินว่าปีนี้ค่าใช้จ่ายในการทำบุญและท่องเที่ยวอาจจะหดตัวประมาณ 5%

สำหรับเทศกาลตรุษจีนปีนี้คิดว่าเม็ดเงินจะสะพัดประมาณ 13,000 กว่าล้านบาท ถ้าเทียบกับปีที่แล้วจะหดตัวประมาณ 3% เนื่องจากหลายๆ ปัจจัย ในเชิงจิตวิทยา ทั้งความกังวลเรื่องของรายได้ในอนาคต กำลังซื้อที่มีอยู่ กลัวตกงาน และเรื่องภัยแล้ง

ประเด็นภัยแล้งเป็นปัจจัยชั่วคราว จึงไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก เพราะเดี๋ยวจะกลัวของขาดตลาด
แล้วเกิดการกักตุน และความจริงมันอาจไม่ได้รุนแรงถึงขนาดนั้นก็ได้ เพียงแต่เรามองล่วงหน้าไว้ก่อน และ
ถ้ามีปัจจัยชั่วคราว หรือปัจจัยลบอะไรที่มากระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ เชื่อว่ารัฐบาลเข้ามา
ดูแลอยู่แล้ว คงจะมีมาตรการอะไรออกมาบรรเทา ดูแลราคาสินค้าในประเทศไม่ให้สูงเกินไป

ส่วนปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนที่ตอนนี้อาจใกล้ๆ 80% ของจีดีพีนั้น ณัฐพร กล่าวว่า หนี้สูงไม่ได้แปลว่าไม่ดีทั้งหมด
และขึ้นกับวัตถุประสงค์ของการก่อหนี้ ถ้าเรามีหนี้เพื่อเอาไปซื้อของที่จำเป็นแล้วเอาไปประกอบอาชีพ เพื่อ
สร้างรายได้ ก็ถือว่าเป็นการก่อหนี้ในเชิงบวก แต่ถ้าเป็นการก่อหนี้เพื่อเอาไปซื้อของฟุ่มเฟือย ใช้แล้วหมดไป
ไม่ก่อให้เกิดรายได้ แล้วยิ่งถ้ารายได้เราไม่พอแล้วยังไปก่อหนี้แบบนี้ มันก็จะทับถมไปเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม นิยามของคำว่าฟุ่มเฟือยของแต่ละคนก็แตกต่างกัน การกู้ยืมเงินไปเที่ยวอาจเป็นความฟุ่มเฟือย
สำหรับบางคน แต่บางคนก็มองว่าเป็นการสร้างประสบการณ์ เป็นการหาแรงบันดาลใจเพื่อเอามาทำงาน
ซึ่งประเด็นสำคัญก็คือวินัยทางการเงิน ตัวเราจะรู้ดีว่าเราหารายได้ได้เท่าไร ใช้จ่ายเท่าไร แล้วที่เหลือเราต้องไป
กู้หนี้ เราต้องดูว่าระยะข้างหน้า รายได้เราจะพอชำระหนี้คืนหรือไม่ ไม่ใช่ไม่ชำระคืนแล้วไปสร้างหนี้ในหลายๆ
แหล่ง มันก็จะทับถมพอกพูนเป็นปัญหางูกินหาง

เรื่องหนี้ภาคครัวเรือน ทางการก็พยายามดูแลกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ไม่ให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งเขา
ก็ทำได้เต็มที่แล้ว ดังนั้น คนที่เป็นหนี้ต้องกลับมาบริหารจัดการตัวเองก่อน ถ้าเรามีหนี้หลายก้อน ก็ต้องพยายาม
ไปเจรจากับเจ้าหนี้ก่อน แล้วจัดการหนี้ก้อนเล็กไปก่อน เพื่อให้เหลือเจ้าหนี้น้อยราย แต่ประเด็นสำคัญคือเรื่องนี้
จะบรรเทาเบาบางลง ก็ต่อเมื่อคนมีรายได้เพิ่มขึ้น ถ้ามีรายได้เพิ่มขึ้น ความสามารถในการไปผ่อนชำระหนี้ก็จะ
มากขึ้นไปด้วย

ณัฐพร กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ เราต้องรองบประมาณภาครัฐ ซึ่งสิ้นเดือนนี้น่าจะเรียบร้อย
แล้วต้นเดือนกุมภาพันธ์น่าจะเร่งเบิกจ่ายได้ ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่มีเม็ดเงินใหม่ๆ เข้าไปในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งอาจ
ต้องรอการหมุนเวียนของเม็ดเงินสักพักหนึ่ง เมื่อมีเม็ดเงินใหม่ๆ เข้าไปหมุนเวียน ก็น่าจะเป็นปัจจัยบวก ดังนั้น
ในไตรมาสแรก เศรษฐกิจอาจเติบโตได้ประมาณ 2% กว่าๆ คล้ายๆ ไตรมาส 4 ปีที่แล้ว เพราะเรื่องส่งออกยังเป็น
ตัวกดดันอยู่

สรุปว่าเศรษฐกิจไตรมาสแรกยังซึมต่อไป และครัวเรือนก็ยังผวาเรื่องรายได้ที่จะลดลง และยังเป็นกังวลอยู่ เพราะส่งออกไม่ได้ บางโรงานก็อาจลดโอที ลดการจ้างงานลง ทำให้กำลังซื้อลดลง ทำให้คนต้องคิดมากขึ้นในการจับจ่ายใช้สอย

@

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น