How to..อยู่รอดเติบโตปรับ “Change” เป็น “Chance” เอสซีจี โลจิสติกส์ ทำได้อย่างไร?

การเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซ ส่งผลดีต่อธุรกิจโลจิสติกส์ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว และปัจจุบันมีการแข่งขันที่สูงมาก

ไพฑูรย์ จิรานันตรัตน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเมนท์ จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจโลจิสติกส์
เป็นตลาดที่ค่อนข้างใหญ่ และมีการแข่งขันกันอย่างสมบูรณ์แบบทั้งรายใหญ่และรายเล็ก ตลาดมีการเจริญเติบโต
โดยเฉลี่ยใกล้เคียงกับจีดีพีของประเทศ ซึ่งประมาณการจีดีพีของประเทศไทยปีนี้ไม่ถึง 3% แต่ธุรกิจของเอสซีจี
โลจิสติกส์ จะโตมากกว่านั้น ตั้งแต่ปี 2018-2019 เราเติบโต 6% ปี 2020 เรากะจะโตกว่าปีก่อนนั้นประมาณ 14%

เนื่องจากเรามีธุรกิจที่หลากหลาย ตั้งแต่นำเข้าส่งออก ธุรกิจท่าเรือที่เราร่วมทุนกับ PSA ซึ่งเป็นบริษัทระดับโลก
และธุรกิจเกี่ยวกับรถบรรทุก ที่ทำการขนส่งในกลุ่มลูกค้า B2B ที่เรามีแวร์เฮ้าส์อยู่ทั่วประเทศ สามารถส่งของให้
ลูกค้าตั้งแต่ออกจากโรงงาน ไปส่งจนถึงร้านของลูกค้าของเขา หรือถ้าลูกค้าทำออนไลน์ เราก็มีธุรกิจ B2C ก็คือ
SCG Yamato Express ที่เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง เอสซีจี กับ ยามาโตะของญี่ปุ่น ที่เป็นโลโก้แมวดำ ซึ่งธุรกิจ
ของเขาดังมาก เห็นได้ทั่วประเทศญี่ปุ่น

ไพฑูรย์ จิรานันตรัตน์

นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจที่เรียกว่า Fulfillment ที่ตอบโจทย์กลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ซึ่งในประเทศไทย อีคอมเมิร์ซเติบโตมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โตโดยเฉลี่ยมากกว่า 50% และเอสซีจี โลจิสติกส์ ยังมีธุรกิจโลจิสติกส์ในต่างประเทศด้วย ทั้งในเมียนมา เวียดนาม กัมพูชา ลาว อินโดนีเซีย และจีนตอนใต้

การทำโลจิสติกส์ให้เข้าถึงใจผู้บริโภคมากขึ้น ในช่วงที่มีการแข่งขันรุนแรงนั้น ไพฑูรย์บอกว่า สิ่งแรกคือต้องตอบโจทย์ผู้บริโภคก่อน เนื่องจากผู้บริโภคจะมีความต้องการในธุรกิจโลจิสติกส์ค่อนข้างหลากหลาย บางรายต้องการตั้งแต่ต้นจนจบ คือนำสินค้าจากต่างประเทศเป็นวัตถุดิบมาป้อนโรงงาน จนกระทั่งออกไปถึงลูกค้า ถ้าเป็นอย่างนี้เราจะเสนอเซอร์วิสทั้งหมดเป็นแพ็กเกจให้กับลูกค้า ลูกค้าจะได้ไม่ต้องมาปวดหัว หาแวร์เฮ้าส์ หารถบรรทุก หรือหาเรือ เพราะเราจะเป็นคนตอบโจทย์นี้ให้กับลูกค้าเอง ส่วนลูกค้าก็สามารถไปโฟกัสในสิ่งที่ลูกค้าถนัด

เรื่องต่อไปคือต้นทุน เราต้องทำให้ต้นทุนของเราแข่งขันได้ ลูกค้าก็จะได้เซอร์วิสที่ดี ในต้นทุนที่เหมาะสม โดยเรานำ
เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยตอบโจทย์ให้ลูกค้า ทำให้ลูกค้าสะดวกสบาย และมีต้นทุนที่เหมาะสมด้วย เช่น เดิมลูกค้า
จะตามสินค้าว่าอยู่ที่ไหน ก็ต้องโทรมาที่คอลเซ็นเตอร์ ซึ่งลูกค้าอาจหงุดหงิดกับการรอสาย แต่ตอนนี้ลูกค้าสามารถ
เข้ามาในหน้าแชทบอทของเอสซีจี โลจิสติกส์ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เราจะมีแชทบอทที่ฉลาดมาก เพียงบอกหมายเลข
สินค้า แชทบอทจะเข้าไปหาข้อมูลและตอบโจทย์ลูกค้าได้เดี๋ยวนั้นว่า สินค้าของลูกค้าปัจจุบันอยู่ที่ใด แล้วจะไปถึง
ลูกค้าในเวลาใด

สำหรับธุรกิจโลจิสติกส์ เราก็มีความเก่งกับความไม่เก่ง ความเก่งบางอย่างที่เราทำได้ดี เราก็จะพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ
แต่บางอย่างที่เรายังเก่งน้อย เราก็ต้องหาคนที่เก่งมาเป็นพันธมิตร เช่น ธุรกิจ Fulfillment ซึ่งเป็นธุรกิจต่อยอดจาก
ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โดย Fulfillment คือ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ จะมาฝากของไว้ที่เรา แล้วระบบจะต่อมาที่เรา จากนั้น
เราจะส่งโดย SCG Yamato Express ไปถึงลูกค้าอย่างมีคุณภาพและตามที่ลูกค้าต้องการ

สิ่งที่เราเก่งคือเราทำเรื่องของโอเปอเรชั่นได้ดี สิ่งที่เรายังเก่งน้อยคือในส่วนของระบบการติดต่อระหว่างเรากับพ่อค้า
แม่ค้าออนไลน์ ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ เราเลยร่วมมือกับสตาร์ทอัพรายหนึ่งชื่อ My Cloud ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพของคนไทย
ให้ My Cloud ทำตัวหน้าบ้าน คือติดต่อกับลูกค้า ส่วนตัวหลังบ้าน และโอเปอเรชั่น ตั้งแต่เอาของเข้ามาใส่จนไปถึงลูกค้า เอสซีจี โลจิสติกส์จะเป็นคนทำ ดังนั้น การร่วมมือของทั้งสองฝ่าย จะทำให้ทั้งสองฝ่ายเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งและรวดเร็ว

ขณะเดียวกัน เอสซีจีก็มีนโยบายสนับสนุนสตาร์ทอัพในเมืองไทย ให้เป็นสตาร์ทอัพรายใหญ่สู้กับระดับโลกได้
ซึ่งในภูมิภาคที่ใกล้เคียงกับไทย ไม่ว่า อินโดนีเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ ก็จะมีสตาร์ทอัพรายใหญ่ๆ เป็นยูนิคอร์น มีมูลค่า
ธุรกิจเป็นพันล้านดอลลาร์ เราก็อยากเห็นสตาร์ทอัพเมืองไทยเป็นรายใหญ่บ้าง เอสซีจีก็พยายามร่วมมือกับสตาร์ทอัพ
เพื่อให้เติบโต แล้วประเทศไทยจะได้แข็งแกร่งบ้างในอนาคต

ไพฑูรย์ กล่าวว่า ปัจจุบันสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยนไปเยอะมาก แล้วเปลี่ยนเร็วขึ้นทุกวันๆ ตนเองมีภาษาอังกฤษ
2 ตัว คือ Change ที่แปลว่าเปลี่ยนแปลง เพียงเปลี่ยนตัวอักษรตัวเดียว จาก g เป็น c ก็จะกลายเป็น Chance แปลว่า
โอกาส ซึ่งความหมายจะเปลี่ยนไปทันที ดังนั้นถ้าเราจะต้องเปลี่ยนธุรกิจบางอย่าง เปลี่ยน Process บางอย่าง หรือ
เปลี่ยนกลยุทธ์บางอย่าง ก็จะทำให้เห็นโอกาสใหม่ๆ ที่รอเราอยู่ข้างหน้า

“ธุรกิจเอสซีจี โลจิสติกส์ เดิมเราจะมีรายได้จากการจัดส่งของ แต่เราเห็นโอกาสเรื่องของดิจิทัลเทคโนโลยี เราเอาดิจิทัลเทคโนโลยีมาทำให้เกิดรายได้ คือการเปลี่ยนแปลงธุรกิจของเรานิดหน่อย แต่เราเปลี่ยนไปทางดิจิทัลมากขึ้น จะทำให้เรามีรายได้มากขึ้น และเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง การแข่งขันก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง เป็นตัวอย่างว่า Change เปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนวิธีการทำงาน จะทำให้เกิด Chance คือ โอกาสทางธุรกิจ”

ไพฑูรย์ กล่าวว่า เจ้าของธุรกิจจะรู้ว่าธุรกิจของตัวเองเป็นอย่างไร ตอนนี้ก็ต้องมองว่าภาพของสิ่งที่จะมากระทบกับ
ธุรกิจของเรามีอะไรบ้าง ที่เห็นได้ชัดเจนคือเทคโนโลยีใหม่ๆ พวกสตาร์ทอัพ ที่จะเข้ามาดิสรัปต์ ซึ่งก่อนที่เขาจะเข้ามา
ดิสรัปต์ เราควรจะดิสรัปต์ตัวเองก่อน ก็จะเป็นโอกาสที่เราต้องมองและเปลี่ยนธุรกิจของเราก่อน ซึ่งนักธุรกิจต้องไป
มองธุรกิจตัวเองเพื่อหาโอกาสให้เจอ ถ้าหาโอกาสตรงนี้เจอ ก็จะอยู่รอดในธุรกิจพวกนี้ได้

การจะทำให้ธุรกิจอยู่รอดในทุกสถานการณ์นั้น มี 2 ปัจจัย ปัจจัยแรกคือต้นทุน เราต้องดูให้ดี และมั่นใจว่าต้นทุนของเรา Lean พอแล้ว จากนั้นพอเราได้ต้นทุนที่ดีพอ เราก็ไปดูเรื่องของรายได้ที่จะมีธุรกิจอะไรใหม่ๆ เข้ามา นอกเหนือจากธุรกิจเดิม ธุรกิจที่มีความแตกต่างจากที่เราเป็นอยู่ และมีการแข่งขันที่น้อยกว่าที่เราเป็นอยู่ โดยการเปลี่ยนจากมุมมองเดิมๆ ไปสู่มุมมองใหม่ๆ ที่จะเป็นการแสวงหาโอกาสใหม่ๆ เพื่อจะไปเพิ่มรายได้ ดังนั้นธุรกิจจะอยู่รอดได้ ณ ชั่วโมงนี้  @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น