ลดขยะ ลดถุงพลาสติก CHULA Zero Waste ทำสำเร็จ ได้อย่างไร?

ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ซูเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงร้านสะดวกซื้อ เลิกแจกถุงพลาสติกแบบหูหิ้ว หรือถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

วรุณ วารัญญานนท์ ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการ CHULA Zero Waste กล่าวว่า มาตรการงดแจกถุงพลาสติกหูหิ้ว
ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะสถิติถุงพลาสติกหูหิ้วในประเทศไทย อยู่ในห้างโมเดิร์นเทรด 30% ส่วนที่เหลือ 70% จะอยู่ในตลาดสด หรือส่วนอื่นๆ ของธุรกิจ ที่ยังไม่ได้เข้าร่วมในเอ็มโอยูครั้งนี้ ความจริงแล้วมาตรการจัดการขยะประเภทพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ประเทศไทยตามหลังประเทศอื่นๆ นานมาก เช่น ในยุโรปเริ่มมาตรการลักษณะนี้เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว แต่เขาค่อยๆ เริ่มเป็นขั้นๆ ไป แต่เนื่องจากประเทศไทยมาช้า เราจึงตัดสินใจไม่แจกเลยในวันที่ 1 ม.ค.

วรุณ วารัญญานนท์

ปัจจุบันเราใช้ขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเยอะมากเกินความจำเป็น ส่วนใหญ่เป็นถุงลักษณะบางๆ ใช้แล้วขาด เอาไปใช้อีกไม่ได้ รวมถึงระบบรีไซเคิลของไทย ก็ยังไม่ดีเท่าประเทศอื่นๆ จึงทำให้ถุงเหล่านี้มีโอกาสกลับไปรีไซเคิลได้น้อยมาก ซึ่งน่าเสียดายที่ผลิตแล้วใช้ครั้งเดียว อยู่ได้เพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่อยู่เป็นภาระให้โลกไปอีก 400 กว่าปี

การที่ประเทศไทยเริ่มขยับมาตรการเกี่ยวกับถุงพลาสติกก็เป็นสิ่งที่ดีกับประเทศและสิ่งแวดล้อม ซึ่งในช่วงแรกๆ คนก็จะตกใจกันหน่อย ซึ่งเป็นเรื่องปกติมาก และเมื่อถึงจุดหนึ่ง คนก็จะเริ่มปรับตัวได้ จะพบว่าเรามีชีวิตปกติได้ เราซื้อของปกติได้ เราพกถุงผ้าได้โดยที่ไม่ได้มีความเดือดร้อน

ส่วนการโพสต์รูปภาพหรือข้อความดราม่าในโลกโซเชียลนั้น วรุณ กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติ ตอนที่โครงการ CHULA Zero Waste ประกาศเรื่องไม่แจกถุงพลาสติกฟรีเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ก็เจอเหตุการณ์ลักษณะเดียวกัน เราประกาศว่าจะไม่แจกถุงพลาสติกฟรี ถ้าอยากได้ถุงหูหิ้วก็ต้องจ่ายเงิน 2 บาท จะเป็นถุงพิเศษแบบหนา ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล 100% เราต้องขายให้คนรู้สึกว่าไม่อยากจะจ่าย เขาจะได้คิด หรือถ้าเขาลืม ถุงนี้ก็สามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้

เมื่อเราประกาศไปแล้วก็จะมีกลุ่มคนที่ใช้เวลาในการปรับตัวเยอะ กลุ่มนี้จะเสียงดัง จะมีการโพสต์ดราม่า
หรือโพสต์แนวต่อต้าน ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ในช่วงแรกๆ จะมีการโพสต์ลักษณะนี้ แต่หลังจากนี้ที่กระแสเริ่มหาย
คนก็จะเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว เลิกโพสต์และพกถุงผ้าเป็นเรื่องปกติ ซึ่งจากประสบการณ์พบว่าทุกคนปรับตัวได้
เมื่อถึงจุดหนึ่ง ทุกคนก็ปรับตัวกันหมด พกถุงผ้าเป็นเรื่องปกติ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคนเกือบ 100%
พกถุงผ้า

วรุณ กล่าวว่า โครงการ CHULA Zero Waste ถือว่าทำได้สำเร็จในระดับหนึ่ง และปีนี้เป็นปีที่ 4 แล้ว ก็เลยมีมาตรการเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ มาตรการที่เราใช้ สามารถลดถุงพลาสติกลดลงมาได้ 90% ถึงปัจจุบันก็ลดไปประมาณ 4 ล้านใบ ก็ถือว่าพอใช้ได้กับสังคมเล็กๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ ในจุฬาฯ เฉพาะร้านสะดวกซื้อและร้านสหกรณ์ ตอนนั้นเราแจกถุง 1.3 แสนใบต่อเดือน ยังไม่รวมตลาดนัด โรงอาหาร และส่วนอื่นๆ ที่เราตามข้อมูลไม่ได้ชัดเจน

กลยุทธ์หลักที่ทำให้ CHULA Zero Waste ปฏิบัติได้จริง คือ 1.เราได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากผู้บริหารทุกระดับ
รวมถึงผู้บริหารสูงสุดคืออธิการบดี ที่สนับสนุนในแง่ของเวลา ในแง่ของการให้นโยบายที่เป็นรูปธรรมชัดเจน คือเป็น
นโยบายแบบเขียน ไม่ใช่นโยบายแค่พูด แต่สนับสนุนโครงการ ให้ทรัพยากรต่างๆ ทำให้พวกเราสามารถทำงาน
ได้อย่างเต็มที่

2.ทีมงานที่เข้าใจกัน มีใจอยากทำเพื่อสิ่งแวดล้อม ทำทุกอย่างบนพื้นฐานข้อมูลที่เป็นจริง ในช่วงแรกยังไม่ได้ทำอะไร
เป็นการเก็บข้อมูล ซึ่งเราต้องยอมรับภาพตัวเองก่อนว่าจุฬาฯ สร้างขยะปีละ 2,000 ตัน จากนั้นเราก็มาดูว่าจะแก้ปัญหา
อย่างไร มีประเภทอะไรบ้าง ถุงพลาสติก แก้วพลาสติก หลอด แก้วกาแฟ แล้วก็ทำเป็นโปรเจกต์เพื่อแก้ปัญหาแต่ละชนิด ทำงานเพื่อมองระยะยาว โปรเจกต์ส่วนใหญ่จะไม่บอกว่าทำ 6 เดือน จะติดตามผลให้มั่นใจว่างานสำเร็จ

“ทีมงานเราจะคุยกันว่า “เสร็จ” กับ “สำเร็จ” นั้นแตกต่างกันอย่างมาก เราไม่ได้เอาแค่งานเสร็จ เป้าหมายเราคือจะต้องสำเร็จ และที่ผ่านมาไม่มีโปรเจกต์ไหนที่ทำครั้งเดียวแล้วสำเร็จ เรามีทีมงานที่ต่อเนื่อง ทำระยะยาว เก็บข้อมูล เบื้องต้นเราวางแผนไว้ 5 ปี เรารู้ตั้งแต่ต้นว่างานลักษณะนี้ใช้แผน 1 ปีไม่ได้แน่นอน เพราะมันเป็นแค่เหมือนจุดพลุแล้วหายไป แผนงานของเราวางไว้ 5 ปี แล้วตั้งเป้าว่า 5 ปีเราจะทำอะไรบ้าง”

วรุณ กล่าวว่า เมื่อวางมาตรการแล้ว ก็จะมีกลุ่มที่ยังไม่ทำตาม หรือกลุ่มที่รอดูว่าเราจะเอาจริงหรือไม่ ดังนั้นเราก็
ต้องเตรียมมาตรการรองรับ โดยจะต้องเตรียม 1 ทีมในการไปเผชิญหน้ากับเขา คุยกับเขา เริ่มต้นต้องเข้าใจเขาก่อน ว่าเขาติดปัญหาอะไร แล้วเริ่มมาตรการจากเบาจนกระทั่งหนักขึ้นเรื่อยๆ ตอนแรกก็จะส่งทีมไปคุยก่อน แต่ถ้ายังมีครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ก็เปลี่ยนจากคุยเป็นลุยแล้ว พอเขาเห็นว่าเราเอาจริง ทุกอย่างก็จะเป็นไปตามนั้น ทุกคนก็จะเข้ามาอยู่ในแถว

บทเรียนที่ได้อีกบทก็คือ การจะสร้างการเปลี่ยนแปลงเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการสวนกระแสทั้งหมด
จึงมักจะมีเสียงต่อต้านเสมอ ดังนั้นอะไรก็ตามที่เราทำแล้วมีเสียงต่อต้าน ให้คิดว่าเราทำถูกทางแล้ว และการทำเรื่อง
สิ่งแวดล้อม อยากให้เข้าใจหลักการที่ถูกต้องว่าจะทำอะไร แล้วทุกคนมีทางเลือกมากมาย ไม่ใช่บอกว่าการแบน
ถุงพลาสติกจะใช้ได้กับทุกที่ หรือการคิดเงินถุงพลาสติกจะใช้ได้กับทุกที่ ให้มองรอบข้าง มองสิ่งแวดล้อม มองสถานการณ์ แล้วลองปรับให้มาตรการนี้เหมาะสมกับสถานการณ์นั้นๆ

สำหรับ CHULA Zero Waste ยังมีโครงการที่จะดำเนินการอีกหลายโครงการ เพราะตัวเลขสุดท้ายคือตัวเลขขยะฝังกลบของมหาวิทยาลัยยังเยอะอยู่ เพราะฉะนั้นก็ยังต้องปรับอีกเยอะ เป้าหมายที่เราวางไว้แรกๆ คือพลาสติกประเภทที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งก่อน แล้วมาตรการก็จะเข้มข้นมากขึ้น หลังจากนั้นก็เป็นมาตรการการขยายพื้นที่ออกไปนอกพื้นที่การศึกษา

อีกกลุ่มหนึ่งก็คือการสร้างความตระหนัก คือเรื่องของการศึกษา หลังจากทำมาปีนี้ปีที่ 4 เราได้องค์ความรู้เยอะพอสมควร เราก็นำองค์ความรู้เหล่านี้ไปสร้างเป็นบทเรียนสอนเด็กๆ ในโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ทั้งระดับประถม และมัธยม รวมถึงนิสิต เราพยายามสอดแทรกเนื้อหาเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไปให้กับบุคคลเหล่านี้ เราไม่ได้หวังว่าทุกคนจะเปลี่ยนพฤติกรรมหมด แต่เราหวังว่าสิ่งที่เราใส่เข้าไป วันหนึ่งเหมือนเมล็ดที่อยู่ในตัวเขา แล้วพอเขาออกไปทำงานในสังคม เมล็ดเหล่านี้จะเติบโตเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ช่วยประเทศ ช่วยสิ่งแวดล้อมของโลก นั่นคือสิ่งที่เราจะขยายในปีถัดๆไป

ส่วนไฮไลต์ของปี 2563 เราจะเริ่มรณรงค์เรื่องหลอดมากขึ้น และปลายทางของขยะ คือส่งเสริมการรีไซเคิลให้มากขึ้น
ซึ่งเป็นเรื่องของการศึกษา ตอนนี้มีทีมงานที่ไปทำงานกับกลุ่มของกระทรวงศึกษาธิการ

วรุณ กล่าวว่า มาตรการงดแจกถุงพลาสติกของรัฐบาลในขณะนี้ เป็นเอ็มโอยูที่ทำกับเอกชนด้วยความสมัครใจ
เราอยากให้รัฐบาลผลักดันกฎหมายเรื่องสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เป็นแผน เป็นแนวทางที่สำคัญของประเทศ ขอให้รัฐบาล
ผลักดันกฎหมายออกมาให้มากที่สุด ในแง่ของการจัดการขยะ การรีไซเคิล ขยะอิเล็กทรอนิกส์ การนำเข้าขยะ
ถ้ามีกฎหมายออกมา ก็จะมีความชัดเจนว่าประเทศเราจะเดินไปทางไหน  @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น