เศรษฐกิจฐานรากขับเคลื่อนอย่างไรให้ธุรกิจชุมชน-เอสเอ็มอี เข้มแข็ง

ภาพจาก Facebook : สถานีข่าวกระทรวงการคลัง : Ministry of Finance News Station

เศรษฐกิจระดับฐานรากมีความสำคัญมากต่อเศรษฐกิจไทย รัฐบาลจึงให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับฐานรากให้เติบโตอย่างยั่งยืน

มงคล ลีลาธรรม อดีต CEO SME Development Bank กล่าวว่า ในช่วง 30 ปีที่แล้ว ประเทศไทยพัฒนาประเทศ โดยเน้นการส่งออก โดยสินค้าที่ส่งออกติด 1 ใน 3 ของประเทศ คือ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ได้มีมูลค่าเพิ่มที่ธุรกิจเกษตร และอาหาร ซึ่งมีประชากรในบ้านเราเกี่ยวพันมากที่สุด

ขณะที่ทุกวันนี้ การค้าขายของคนที่อยู่ในชนบท ในชุมชน ในต่างจังหวัดไม่ค่อยดี และเห็นได้ชัดเจนว่าการส่งออกไม่ได้ไปเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจระดับฐานรากเลย

เมื่อเศรษฐกิจขยายตัว แต่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับฐานราก ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น วันนี้ รัฐบาลจึงต้องหันมา
เอาใจใส่กับฐานรากของปิรามิด ถือว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากเป็นเรื่องใหญ่ เป็นหัวใจสำคัญ โดยปลายสมัย
รัฐบาลประยุทธ์ 1 บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ ได้นำปั๊มน้ำมัน 150 แห่ง ที่สมัครใจ เข้าร่วมขายสินค้าชุมชน รวมทั้งสินค้าโอทอป เรียกว่า “โครงการไทยเด็ด” ด้วยความเชื่อที่ว่า ถ้าชุมชนโต ธุรกิจก็โตด้วย ขณะที่ ปตท.มีความมั่นคงอยู่แล้ว จึงต้องเข้ามาช่วยชุมชนให้โตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

เพราะในวันหนึ่งจะมีรถยนต์เข้าไปจอดและใช้ปั๊มน้ำมัน 2 ล้านคัน ซึ่งมีเพียง 30% เท่านั้นที่เติมน้ำมัน นอกนั้นจะแวะ
ซื้อของที่เซเว่น ซื้อกาแฟที่คาเฟ่อเมซอน หรือเข้าห้องน้ำ ซึ่งซีอีโอของโออาร์ก็ประกาศว่าในปั๊ม 1,700 แห่งของ ปตท. จะมี 1,000 แห่ง ที่ขายสินค้าไทยเด็ด

มงคล ยกตัวอย่างคุณยายอายุ 80 ปี ขายผักเหลียงอยู่ที่ตลาดสด จ.ชุมพร ต่อมาขายไม่ได้ เพราะพฤติกรรมคนเปลี่ยนไป คุณยายจึงตัดสินใจไปขายที่ปั๊มน้ำมัน ปรากฏว่าขายดี เพราะคนที่ซื้อไม่ใช่คนท้องถิ่น แต่เป็นคนที่แวะปั๊ม และซื้อผักเหลียงเป็นของฝาก จากที่ขายในตลาดสดได้รายละ 20 บาท พอไปขายเป็นของฝากในปั๊มน้ำมันก็ขายได้รายละ 100 บาท รายได้เพิ่มขึ้นเป็น 5 เท่า

ส่วนอีกราย ทำเกษตรไร่นาสวนผสม ปลูกแคนตาลูปเป็นโรงเรือน อยู่อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ได้ผลดี แต่ไม่รู้จะขายใคร วางขายหน้าบ้าน นานๆ จึงจะคนแวะซื้อ ต่อมา อ.ด่านขุนทด ทำโครงการ”ไทยเด็ด” เกษตรกรรายนี้เอาแคนตาลูปไปขายได้ทุกสัปดาห์ จึงวางแผนการปลูกให้มีผลผลิตออกขายได้ทุกสัปดาห์ นอกจากนี้ ก็มีสวนลำไย ใต้ต้นลำไยที่ว่างก็ปลูกผักหวานประมาณ 5,000 กว่าต้น ทุก 7 วันตัดได้ เอามาขายที่ตลาด มีรายได้อีกหลายพันบาท

หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนวิธีคิด พัฒนากล่องกระดาษมาทำเป็นหีบห่อ ให้คนเอาแคนตาลูปเป็นของฝากได้ สามารถขายได้
กิโลกรัมละ 100 บาท เรียกว่าเพียงปรับเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนช่องทางจัดจำหน่าย เปลี่ยนตลาด เปลี่ยนผู้ซื้อใหม่ ก็ทำให้ยอดขายพุ่งได้เลย

“เรื่องเศรษฐกิจฐานรากเป็นเรื่องสำคัญ จึงมีแนวคิดคือ 1.การสร้างสัมมาอาชีพ 2.สร้างโอกาสทางการตลาด ผ่านทางพันธมิตรก็คือโออาร์ เมื่อทำเสร็จก็สามารถเปลี่ยนหีบห่อ แปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่ม เพิ่มรายได้ ด้วยนวัตกรรม และเทคโนโลยี 3.การนำไปสู่การเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ถ้า 3 อย่างนี้ เป็น 3 เสาเศรษฐกิจฐานราก อนาคตเศรษฐกิจไทยก็จะมั่นคงมากขึ้น” มงคล กล่าว

นอกจากนี้ จะทำอย่างไรให้คนตัวเล็ก ซึ่งก็คือเอสเอ็มอีได้รับการสนับสนุนและได้รับโอกาส ในบางประเทศจะจัดประเภท แยกออกจากกันเลยว่า ไม่ให้อุตสาหกรรมระดับประเทศหรือส่งออก ทำอุตสาหกรรมท้องถิ่นกับอุตสาหกรรมชุมชน เพื่อให้คนตัวเล็กและตัวใหญ่อยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขได้

สินค้าหลายอย่างของชุมชน รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยดูแลด้วย แต่สำคัญที่สุดก็คือต้องให้ผู้ประกอบการพึ่งตัวเองให้มาก
ขณะที่ชุมชนก็จำเป็นจะต้องมีผู้นำ เพื่อที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้  @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น