“เอสเอ็มอี 4.0 ต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดใหม่ มองตลาดอย่างไร? ให้ชนะใจผู้ซื้อ”

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. …. เป็นการปรับแก้คำนิยามของวิสาหกิจขนาดกลางและวิสาหกิจขนาดย่อม

มงคล ลีลาธรรม อดีต CEO SME Development Bank กล่าวว่า มติ ครม.ดังกล่าว จะเป็นประโยชน์มาก ถ้าบรรดาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งหลายจะทราบว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มไหน ซึ่งการปรับแก้คำนิยามครั้งนี้จะมีสิ่งที่แตกต่างกันดังนี้

1. มีการกำหนดนิยามที่ใช้ลักษณะแตกต่างจากเดิม โดยครั้งนี้แบ่งเป็น 2 ประเภทกิจการ คือ กิจการการผลิต กับกิจการการค้าและบริการ

2.ใช้เกณฑ์จากจำนวนลูกจ้าง กับรายได้ ซึ่งสมัยก่อนจะถือจำนวนลูกจ้าง และสินทรัพย์ที่ไม่รวมทรัพย์สินถาวร ที่เป็นที่ดิน แต่ครั้งนี้จะเอาเกณฑ์ของรายได้เข้ามาแทนขนาดของทรัพย์สิน

3. ครั้งนี้จะแบ่งเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งประเภท โดยเมื่อก่อนเป็นขนาดย่อมและขนาดกลาง แต่ครั้งนี้เพิ่มขนาดที่เรียกว่า “ไมโคร” หรือ รายย่อย ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

วิสาหกิจรายย่อย ประเภทการผลิต และการค้าและบริการ มีลูกจ้างไม่เกิน 5 คน มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 1.8 ล้านบาท

วิสาหกิจขนาดย่อม ประเภทการผลิต มีลูกจ้าง 6-50 คน มีรายได้ต่อปีมากกว่า 1.8-100 ล้านบาท และการค้าและบริการ มีลูกจ้าง 6-30 คน มีรายได้ต่อปีมากกว่า 1.8-50 ล้านบาท

วิสาหกิจขนาดกลาง ประเภทการผลิต มีลูกจ้าง 51-200 คน มีรายได้ต่อปีมากกว่า 100-500 ล้านบาท และการค้าส่งและบริการ มีลูกจ้าง 31-100 คน มีรายได้ต่อปีมากกว่า 50-300 ล้านบาท

โดยรายได้ให้นับรายได้ที่เสียภาษีกับกรมสรรพากร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนจำนวนลูกจ้างดูจากที่ลงบัญชีเงินเดือน หรือประกันสังคมต่างๆ

มงคล กล่าวว่า การกำหนดนิยามใหม่ครั้งนี้ รัฐบาลตั้งใจดึงรายเล็กที่รายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทเข้ามาในระบบ เพื่อให้เกิดความสามารถในการแข่งขัน พยายามทำนิยามตรงนี้ให้ชัด จะได้เห็นชัดเจนเรื่องการเข้าถึงเงินทุน หรือการใช้ความรู้ในการเปลี่ยนจาก 2.0 เป็น 3.0 หรือ 4.0 เพื่อจำแนกความต้องการ หรือการจะทำให้อยู่รอด หรือยั่งยืนในธุรกิจ พูดง่ายๆ ก็คือทำอย่างไรให้เกิดกำไรจากการดำเนินการเพิ่มขึ้น ก็เลยมาเน้นที่กระบวนการของยอดขาย

วันนี้ เรามีเอสเอ็มอีทั้งหมดที่เกี่ยวข้องประมาณ 10 ล้านราย แต่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแค่ 7 แสนราย และมีเพียงแค่ 3 ล้านราย ที่สามารถระบุตัวตนได้ ที่ขึ้นทะเบียนของเอสเอ็มอี ส่วนที่เหลืออีก 6 ล้านกว่าราย จะอยู่ในตลาดสด การขายเร่ การขายออนไลน์ หรือทำอาชีพบริการ เช่น คนขับแท็กซี่ จักรยานยนต์รับจ้าง ซึ่งคนเหล่านี้จะไม่มีสวัสดิการความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และไม่มีความสามารถในการแข่งขัน

ประเทศไทยวันนี้ มีการเปลี่ยนแปลง 3 เรื่องใหญ่ คือ 1.ประเทศไทยเข้าสู่โครงสร้างสังคมผู้สูงอายุแล้ว ปี 2563 เราจะมีคนแก่อยู่ประมาณ 15% และอีก 5 ปีข้างหน้า จะมีคนแก่ราว 20% พอคนแก่มากขึ้น ตลาดการซื้อขาย การบริโภค ก็จะหดตัว ไม่เหมือนพลังคนหนุ่มสาวปี 2535 ที่ประเทศไทยถูกคาดการณ์ว่าเป็นเสือเศรษฐกิจ

2.เห็นได้ชัดว่าพลังซื้อของเราความจริงแล้วมาจากการท่องเที่ยว หรือคนที่เดินทางผ่านมายังประเทศไทย ซึ่งปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 40 ล้านคน จะเห็นได้ชัดว่าของที่เราจะขาย หรือตลาดที่เราจะมอง หรือผู้ซื้อ ก็ต้องเป็นมาตรฐานที่ให้คนต่างประเทศซื้อของกลับบ้านได้ และเมื่อเราทำให้คนต่างชาติมาซื้อของในเมืองไทยได้แล้ว ทำไมเราไม่คิดเอาของไปขายในต่างประเทศ เหมือนกับที่ ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลี ทำสำเร็จแล้ว

วันนี้ ถ้าเราอาศัยการซื้อขายเฉพาะคนไทยด้วยกันเอง จะขายได้น้อย ต้องมีคนต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวในอาเซียน 10 ประเทศ ที่มีประมาณ 1 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไทย ซึ่งอาเซียน 10 ประเทศรอบข้างเรา ล้วนแล้วแต่มีเศรษฐกิจโตมากกว่าเรา 2 เท่า จีดีพีบ้านเราโตประมาณ 3% บ้านเขาโตเฉลี่ยประมาณ 6% ดังนั้นคนรอบข้างเราอยู่ในวัยที่มีกำลังซื้อ และกำลังเดินทาง ซึ่งประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางของการเดินทาง

3.การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ทำให้คนอื่นเข้ามาขายของในเมืองไทยได้ ถ้าเราไม่ปรับปรุงตัว เราก็จะหายไป ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เพราะคนอื่นจะเอาของมาขายในเมืองไทยได้ แล้วการทำอินเตอร์เน็ต จะทำให้ตลาดทั้งหมดอยู่ที่เดียวกัน คนสามารถหาข้อมูลได้ หรือซื้อขายกันได้ภายในพริบตาเดียว แล้วการส่งของเดี๋ยวนี้สะดวกมาก

ดังนั้น กลยุทธ์ที่สำคัญของผู้ประกอบการยิ่งเล็ก ยิ่งต้องใช้ความรู้คู่ทุน ซึ่งผู้ประกอบการจะต้อง 1.เปลี่ยนความคิดใหม่ ต้องแสวงหาโอกาสใหม่ แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใกล้ตัว เราต้องเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงเราจะอยู่ไม่รอด

2.เอสเอ็มอีเมื่อทำแล้วต้องถ่ายทอดออกมาเป็นเรื่องราว เพราะลูกค้าที่ซื้อของรายเล็ก เขาไม่ได้เลือกที่ยี่ห้อ แต่เขาอยากได้เรื่องราวที่เขาไปหา หรือได้พบแล้วพึงพอใจได้ จากการที่เดินทางมาถึง หรือการซื้อที่เรียกว่ามีเรื่องราวในอดีต หรือมีวัฒนธรรม หรือความเป็นเอกลักษณ์ของประเทศนั้นๆ หรือท้องถิ่นนั้นๆ ต้องมี Storytelling

3.ต้องออกแบบสินค้าให้เข้าลักษณะชีวิตประจำวันของลูกค้า ถ้าเรายังขายของเหมือนเมื่อ 50 ปีที่แล้ว 100 ปีที่แล้ว ก็ไม่มีใครซื้อไปใช้ พยายามทำให้เขาทำลองใช้ อยู่ในปัจจัยสี่ ที่เขาสามารถอยู่ในชีวิตประจำได้ เช่น อาหาร หรือ ยา เช่น ลูกอม หรือ ที่อยู่อาศัย เช่น ของตกแต่ง

แล้วทำให้เขาเชื่อถือว่าสินค้าเราปลอดภัย ไม่มีพิษเจือปน ก็คือต้องมีมาตรฐานสากล หลายคนมองว่าเรื่องนี้ เป็นเรื่องของบริษัทใหญ่ๆ บริษัทเล็กๆ ไม่จำเป็นต้องทำ ซึ่งความจริงตรงกันข้าม ยิ่งตัวเล็กสุด ยิ่งต้องทำมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อให้คนมั่นใจ แล้วค่าใช้จ่ายในการรับรองปัจจุบันถูกมาก แต่ก่อนหลักล้าน เดี๋ยวนี้หลักหมื่นก็ทำได้

“สินค้ายิ่งมีมาตรฐาน และออกแบบดี ขายน้อยชิ้นได้กำไรเยอะ ดีกว่าทำมาก ได้กำไรน้อย สินค้าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เขาจะคิดแบบจีน แต่เราต้องคิดแบบลักษณะท้องถิ่นนิยม แล้วใช้มูลค่าเพิ่ม จากการออกแบบดีไซน์เฉพาะท้องถิ่น เฉพาะตัวได้มากขึ้น เมื่อเราขยายตรงนี้เสร็จ เราก็สามารถแนะนำตัวเองเข้าไปอยู่ในแผนที่ดิจิทัลได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการรายเล็กยิ่งต้องกระตือรือร้นในการที่จะมองไกลและมองให้กว้างขวางมากขึ้นกว่าเดิม” มงคล กล่าว

@

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น