“อเมริกาโน่” กาแฟดำในร่องรอย World War II

เคยสงสัยกันบ้างหรือไม่ว่าทำไมร้านกาแฟแทบทุกสไตล์แม้แต่คาเฟ่ในอิตาลีเองก็ตาม มีเมนูที่เรียกกันว่า กาแฟอเมริกาโน่ หรือ Caffe Americano ไว้ประจำร้านคอยเสิร์ฟลูกค้า ใช่หมายถึงกาแฟของคนอเมริกันหรือไม่ ที่มาที่ไปเป็นอย่างไร…เรื่องนี้ต้องย้อนเวลาไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 โน่น หรือประมาณ 80 ปีมาแล้วทีเดียว

“อเมริกาโน่” เป็นหนึ่งในเมนู”กาแฟดำ” ที่ได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลก มีวิธีชงไม่ยุ่งยากซับซ้อนอะไรมากมายนัก ใช้หลักการเจือจาง “เอสเพรสโซ” ด้วย “น้ำร้อน”  ได้กลิ่นและรสชาติที่แตกต่างจากกาแฟที่ชงแบบดั้งเดิมที่เทน้ำร้อนผ่านผงกาแฟคั่วบดหรือเรียกกันว่า Brewed coffee ”

ความเข้มข้นของกาแฟอเมริกาโน่นในแต่ละถ้วยนั้น ขึ้นอยู่กับจำนวนช้อตของเอสเพรสโซ่ และปริมาณน้ำร้อนที่เติมเข้าไป เรียกว่า เป็นกาแฟ+น้ำร้อนก็ได้ รสชาติจะอ่อนกว่ากาแฟเอสเพรสโซมากพอควร ถ้าชอบเข้มหน่อยก็เพิ่มเป็น “ดับเบิ้ลช้อต” ได้ เหมาะสำหรับคนชอบดื่ม “กาแฟดำ” แต่ไม่ต้องการความเข้มมากเกินไป

สองเมนูกาแฟยอดนิยม อเมริกาโน่ (ซ้าย), เอสเพรสโซ่ (ขวา)

ถ้าเกิดไปเที่ยวอิตาเลียน แล้วสั่ง Caffe Americano ในบาร์กาแฟที่โรมหรือเมืองอื่นๆ บาริสต้าที่นั่น จะทำเอสเพรสโซ่ แล้วเพิ่มน้ำร้อนลงไปให้ ซึ่งเป็นคนละเมนูกับกาแฟดริป ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของคนอเมริกัน

หลายๆ ท่านอาจจะสับสนระหว่างคำว่า Caffe Americano กับ American Coffee คิดว่าเป็นกาแฟตัวเดียวกัน จริงๆ แล้ว American coffee เป็นคำเรียกทั่วๆ ไปที่หมายถึง กาแฟดริปสไตล์เมริกัน ซึ่งก็เป็นประเภทหนึ่งของ Brewed coffee นั่นเอง แตกต่างไปจากกาแฟอเมริกาโน่ (ในอิตาลี เรียกกาแฟดริปว่า Caffe All’americana หรือ Caffe filtro)

แม้อเมริกาโน่จะเป็นเมนูกาแฟอันโด่งดัง แต่ต้นกำเนิดยังไม่มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร สืบสาวลงไปก็พบข้อมูลให้พิจารณากันสองสามชุด …ชุดข้อมูลที่น่าเชื่อถือและมีความเป็นไปได้มากที่สุด ก็คือ กาแฟอเมริกาโน่ มีต้นกำเนิดในสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ “ทหารอเมริกัน” ที่สู้รบอยู่ในอิตาลี ไม่คุ้นลิ้นกับรสชาติกาแฟอันเข้มขลังทรงพลังของคนที่นั่น จึงนำไปสู่การ “เจือจาง” กาแฟเอสเพรสโซด้วยการเติมน้ำร้อนลงไป

ในเว็บบล็อกของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ ว่าด้วยเรื่อง อาวุธลับของนาวิกโยธิน : กาแฟ ( The Marine’s Secret Weapon: Coffee) ระบุเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ความที่ทหารอเมริกันดื่มกาแฟกันมากจนติดเป็นนิสัย ถึงขั้นที่กรมพลาธิการทหารบกต้องนำกาแฟคั่วบดมาบรรจุเป็นหีบห่อทำเป็นเสบียงแล้วส่งไปให้กำลังรบในภาคพื้นยุโรป … ให้ทหารพกติดตัวไหนมาไหนด้วย เนื่องจากคนอเมริกันดื่มกาแฟกันตลอดทั้งวัน ไม่จำกัดช่วงเวลา

โปสเตอร์แบ่งปันส่วนกาแฟของทหารอเมริกันในสงครามโลกครั้งที่ 2 ภาพ : https://digital.library.unt.edu

อย่างไรก็ตาม กาแฟในฐานะเสบียงบำรุงขวัญทหารก็เริ่มขาดแคลนลงไปทุกๆ วัน ทหารอเมริกันที่ประจำการในประเทศที่ชื่อว่ารักกาแฟมากที่สุดในยุโรปอย่างอิตาลี ก็จำเป็นต้องพึ่งพากาแฟท้องถิ่น เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในเวลานั้น แน่นอนว่าสำหรับคอกาแฟแล้ว ถ้าเกิดมีโอกาสไปถึงอิตาลีไม่ว่าอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม จะต้องหาเวลาไปดื่มกาแฟที่นั่นให้ได้สักแก้วหนึ่ง…ก็ยังดี

ในอิตาลี มีวัฒนธรรมกาแฟที่ต่างไปจากพวกอเมริกัน คนที่นั่นดื่ม คาปูชิโน่ หลังอาหารมื้อเช้า และจัดการกับ เอสเพรสโซ หลังมื้อเที่ยง ดื่มกันเพียวๆ สองสามอึก ในเวลาไม่กี่นาทีก็หมดจด ไม่ต้องเติมนมสดแต่ประการใด อาจจะมีบ้างที่เติมน้ำตาลใส่ความหวานลงไป เพื่อสกัดเอาความขมออกมาเล็กน้อย

โชคไม่ดีนัก… ทหารอเมริกันผู้กรำศึกในกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตร ปกติคุ้นเคยกับกาแฟดริปที่ชงดื่มกันเป็นประจำที่บ้าน เมื่อต้องมาสู้รบในสมรภูมิอิตาลี ต้นตำรับเมืองกาแฟของโลก และต้องมาเผชิญหน้ากับกาแฟท้องถิ่นอย่างเอสเพรสโซ ที่แตกต่างไปจากกาแฟบ้านเกิดอย่างชัดเจน ทั้งรสและความเข้มข้นดุดัน จึงไม่ถูกปาก ไม่ถูกใจ และไม่อร่อยลิ้น

หลังจากลองจิบเอสเพรสโซแล้ว ทหารอเมริกัน บอกว่า “มันขมมากเกินไป” อยากจะดื่มกาแฟที่นุ่มนวลขึ้นเหมือนตอนอยู่ที่บ้านมากกว่า

เดือดร้อนถึง บาริสต้า ในบาร์กาแฟอิตาลี ที่เข้ามาเป็นตัวช่วยแก้ปัญหาเรื่องรสนิยมการเสพกาแฟให้ลูกค้าจากอเมริกา นั่นคือ ใช้วิธีเติมน้ำร้อนลงในเอสเพรสโซ ที่ชงจากเครื่อง espresso machine และเสิร์ฟเอสเพรสโซอันเข้มข้นในถ้วยที่ใหญ่กว่าเดิม พร้อมน้ำร้อน 1 แก้ว หรือใช้วิธีเติมน้ำร้อนลงไปในถ้วยเลย แล้วเตรียมนมสดหรือน้ำตาลไว้เป็นบริการเสริม… ดูเหมือนว่านี่จะเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ถูกอกถูกใจคอกาแฟทหารอเมริกันมากในยุคนั้น

เชื่อกันอย่างเข้มข้นดุดันว่า…นี่คือจุดกำเนิดของ “กาแฟอเมริกาโน่” ก่อนที่จะกลายเป็นเครื่องดื่มยอดฮิตทั่วทุกมุมโลก เป็นเมนูที่คุ้นลิ้นเป็นที่สุดของคอกาแฟทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่า ก็ว่าได้…

เครื่องชงเอสเพรสโซ ต้นทางชงกาแฟดำ 3 แบบ ภาพ : https://commons.wikimedia.org,Weetjesman

อีกหนึ่งเรื่องเล่าที่ถูกนำมาเชื่อมโยงกับต้นกำเนิดอเมริกาโน่ ก็คือ ในนวนิยายของ วิลเลียม โซเมอร์เซต เมอแฮม นักเขียนชื่อดังชาวอังกฤษ ที่เขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1928 มีความตอนหนึ่งระบุว่า เขาได้เคยดื่มสิ่งที่เรียกกันว่า “อเมริกาโน่” ในเมืองเนเปิลส์ของอิตาลี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่เคสนี้มีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะฟันธงลงไปว่าเป็นเครื่องดื่มประเภทเดียวกันหรือไม่

มีผู้รู้บางคนก็โต้แย้งว่า กาแฟอเมริกาโน่นั้น จริงๆแล้ว เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา แต่ก็ขาดเอกสารหลักฐานมาสนับสนุนทฤษฎีนี้

อย่างที่ทราบกัน… กาแฟส่วนใหญ่มีพื้นฐานมาจากเอสเพรสโซ …อเมริกาโน่ก็เป็นเช่นนั้น แต่วิธีการชงหรือสูตร/อัตรส่วนนั้นอาจแตกต่างกันไปบ้างเล็กน้อยตามการคิดค้นของบาริสต้า และตามพฤติกรรมการดื่มของคนในแต่ละประเทศ   ทว่าท้ายที่สุด… ครีมาหรือฟองกาแฟสีทองจะสลายไปแทบจะหมด เพราะการเติมด้วยน้ำร้อน

มาดูกันก่อนว่า เอสเพรสโซมีวิธีการชงอย่างไร… เริ่มจากนำกาแฟคั่วบดละเอียด 1 ช้อต (7-8 กรัม) อัดเข้าเครื่องทำกาแฟเอสเพรสโซ ให้น้ำกาแฟรวมครีมา ออกมา 1-1.5 ออนซ์ ใช้เวลาสกัด 20-30 วินาที เสิร์ฟด้วยถ้วยกาแฟทรงสูงขนาดเล็กแบบจอก ถ้าเป็นอเมริกาโน่ ก็ใช้ถ้วยกาแฟที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ชงเหมือนเอสเพรสโซทุกประการ แต่ให้เติมน้ำร้อนเข้าไปอีก 3 – 4 ออนซ์ จนเต็มถ้วย เพื่อเจือจางความเข้มข้น เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบดื่มกาแฟดำ

กาแฟดำ หรือ Black Coffee ที่ทำจากเครื่องชงเอสเพรสโซ หลักๆ มีอยู่ด้วยกัน 3 แบบ คือ 1. Americano มาจากเอสเพรสโซเติมน้ำร้อน 2. Long Black และ 3. Lungo

“Long Black” เป็นสไตล์กาแฟที่พบได้ทั่วไปในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ คล้ายคลึงกับอเมริกาโน่มาก ต่างกันตรงขั้นตอนการชง มีการเพิ่มน้ำร้อนในถ้วยกาแฟก่อนที่จะกดปุ่มเครื่องชงให้ช้อตเอสเพรสโซค่อยๆไหลรินลงด้านบน วิธีนี้ช่วยรักษาฟองครีมาเอาไว้ได้ และให้กลิ่นกาแฟที่ชัดเจนกว่า ส่วนอเมริกาโน่นั้น จะมีครีม่าจางๆ แต่ก็ได้รสชาติที่กลมกล่อมและลงตัวเช่นกัน

ส่วน Lungo” ซึ่งในภาษาอิตาลี หมายถึง Long ที่แปลว่ายาว เป็นเมนูกาแฟดำที่จะมีรสชาติออกแนวติดขม เข้ม และฝาดกว่าเมื่อเทียบกับอีกสองชนิด เนื่องจากไม่ใช้วิธีผสมน้ำร้อนเข้ากับช้อตเอสเพรสโซ แต่จะใช้การ “ลากช้อต” หรือสกัดน้ำกาแฟยาวไปจนถึง 3-4 ออนซ์ คือยืดช็อตเอสเพรสโซ่ออกไป แทนที่จะเป็นเพียงช้อตสั้นๆ

ทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกา คำว่า   Italiano ในศัพท์กาแฟนั้น อาจหมายถึง ช้อตสั้นๆของกาแฟอเมริกาโน่ ในอัตราส่วนเอสเพรสโซต่อน้ำ 1: 1 ส่วน

เนื่องจากอเมริกาโน่นั้น ดื่มง่าย ไม่เข้มจัด ได้กรุ่นกลิ่นกาแฟหอมละมุน จึงเป็นเมนูกาแฟถ้วยโปรดของใครหลายๆ คนแทบจะทั่วทุกมุมโลก และมักถูกตีความว่าหมายถึง…กาแฟของชาวอเมริกัน

Long Black เสิร์ฟคู่กับคุกกี้

เดือนพฤศจิกายน 2016 นายกรัฐมนตรีรัสเซีย “ดมิทรี เมดเวเดฟ” เคยพูดเอาไว้อย่างติดตลกในช่วงที่ความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างรัสเซียกับสหรัฐดูไม่ค่อยจะราบรื่นนัก ว่า “อยากเปลี่ยนชื่อกาแฟอเมริกาโน่”   โดยระหว่างประชุมระหว่างประเทศนัดหนึ่งในกรุงมอสโก นายกฯรัสเซียพลันสังเกตเห็นว่า มีผู้ร่วมประชุมร้องขอกาแฟอเมริกาโน่เพิ่ม จึงพูดขึ้นว่า “จริงๆ แล้ว มันไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องในทางการเมืองเลย น่าจะมีการปลี่ยนชื่อ Americano” เสียใหม่ …. สมาชิกคนหนึ่งของคณะผู้แทนอาร์เมเนีย จึงส่งเสียงหัวเราะขึ้นเบาๆ พร้อมกับเอ่ยขึ้นว่า “Russiano”

แม้จะเป็นเพียงการพูดเล่นติดตลกระหว่างการประชุมก็ตาม แต่ร้านกาแฟชื่อ Ryazan’s Gin Mill 29 bar ในกรุงมอสโก เมืองหลวงรัสเซีย เกิดปิ๊งไอเดียนี้ขึ้นมา เลยเปลี่ยนชื่อเมนูกาแฟจริงๆ จาก Americano เป็น Russiano แถมขายกาแฟชื่อใหม่เพียง 39 รูเบิล (ราว 18 บาท) เท่านั้น ถูกกว่ากาแฟชื่อเดิมถึงกว่า 50%

ข่าวชิ้นนี้เรียกเสียงฮือฮาขึ้นในโลกโซเชียลมีเดีย ถึงกับมีการทวิตแนะนำว่า กาแฟ Cappuccino” ก็ควรเปลี่ยนชื่อใหมเป็น Caputtino” เพื่อเป็นเกียรติแก่ประธานาธิบดี วลาดีมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เสียด้วยเลย

ก่อนหน้านี้ ในปี ค.ศ. 2014 ร้านกาแฟบางแห่งในไครเมีย ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อกาแฟอเมริกาโน่ หลังจากไม่ชอบใจที่รัฐบาลสหรัฐออกโรงวิพากษ์วิจารณ์แผนการผนวกคาบสมุทรไครเมียของรัสเซีย ซึ่งอธิปไตยเหนือดินแดนนี้เป็นข้อพิพาทกันระหว่างรัสเซียกับยูเครน จึงมีการแจ้งเตือนลูกค้าในร้านว่า

“โปรดทราบ! สถานการณ์ทางภูมิศาสตร์การเมือง ณ เวลานี้ เราไม่มี “อเมริกาโน่” อีกต่อไป… โปรดสั่ง “กาแฟไครเมีย” แทน!


facebook : CoffeebyBluehill

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น