“ทำ PR อย่างไรให้โลกต้องจดจำ”

คอลัมน์: สื่อสารการตลาดตามใจฉัน

โดย…บราลี อินทรรัตน์

จั่วหัวให้ดูยาก แต่เชื่อเถอะ หากนักประชาสัมพันธ์ทั้งหลาย วางแผนงานประชาสัมพันธ์และสื่อสารการตลาดเองได้ ก็อยากจะทำให้สำเร็จตามแผนที่วางไว้ แถมลงทุนลงแรงทั้งที ถ้าได้ผลลัพธ์กลับมา สินค้าและบริการ องค์กร บริษัทเป็นที่รู้จักจดจำได้ คนทั่วไปยอมรับก็นับว่าแผนการปฏิบัติงานนั้นถือว่าประสบความสำเร็จมากทีเดียว

ทีนี้มาดูว่า ก่อนจะทำ PR ให้โลกจำ เราเริ่มต้นมาจากไหน แล้วจะไปตรงจุดนั้นได้ยังไง?

PR แบบดั้งเดิม

นักประชาสัมพันธ์ทั้งหลาย เมื่อได้รับมอบหมายงานจากผู้บริหารมา ก็ต้องมาวางแผนว่า จะทำงานนั้นให้เป็นที่รู้จัก จะต้องทำอะไรบ้าง เอาแบบเบสิคๆ หากเปิดตัวสินค้าใหม่ ก็ต้องมีงานแถลงข่าว จะจัดงานอีเว้นท์หรือไม่จัดก็แล้วแต่   ข้อจำกัดหรือเหตุผลบางอย่าง แต่ถ้าไม่ได้จัดงานแถลงข่าว ก็มักจะนำเสนอประเด็นมาเสนอให้สื่อมวลชนมาสัมภาษณ์พิเศษ ทีนี้ก็เลือกเอา จะเชิญสื่อมวลชนแบบเดี่ยว แบบกลุ่ม ก็ว่าไป

แต่ถ้าเลือกจัดงานแถลงข่าวก็ต้องมีช่วงเวลาที่ให้ผู้บริหารให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ตรงนี้ก็สำคัญนะ เพราะถ้าไม่มี session ตรงนี้ ข่าวจากการแถลงบนเวที อาจไม่ได้เก็บครบเนื้อหาที่บริษัทต้องการก็ได้ เผลอๆ อาจกลายเป็นข่าวของแขกที่มางาน หรือพาร์ตเนอร์รายอื่นไปเสียนี่ อันนี้ถือว่าสอบตก คะแนนเป็น 0 เพราะจัดงานตัวเองแล้วไม่มีข่าวผู้บริหารได้พูดใน key message หลักๆ ที่ต้องการจะสื่อซะงั้น

แต่ถ้าเป็นงานใหญ่ซึ่งก็ต้องมีสื่อมวลชนสายหลักๆ ก็อาจมีสื่อสายสังคม สายบันเทิง เชิญมาเกือบครบทุกสายก็มี

หลังจบงานแถลงข่าว แล้วก็มีคิวถ่ายภาพผู้บริหารกับแขกรับเชิญพิเศษ หรือลูกค้าวีไอพี เซเลบริตี้ ดาราคนดัง บนเวที จากนั้นก็ส่งภาพข่าวที่ว่านี้ไปออกข่าวสังคม กระบวนการตรงนี้จัดว่าเป็นแบบ เบสิคที่ทุกค่ายก็ทำกันเป็นประจำ

จะพลิกแพลงหน่อยก็ตรงมีธีมงาน มีลูกเล่นต่างๆ ใส่เข้าไป ให้มีสีสรร ตรงนี้เป็นไอเดียทีม PR กับออกาไนเซอร์ ก็ต้องช่วยกันคิดให้งานออกมาดี เป็นที่ถูกใจเจ้าของ หรือผู้บริหารบริษัท

ส่วนภาพข่าวหรือเนื้อหาของข่าวที่จะออกมา ก็แล้วแต่ว่า ผู้บริหารจะมีประเด็นข่าวที่น่าสนใจให้มากน้อยขนาดไหน แนวการทำ PR แบบดั้งเดิมนี้ก็จัดว่าเป็นคลาสสิค ที่ยังคงทำกันอยู่ทุกยุคสมัย การที่ประชาชนทั่วไป จะจดจำการเปิดตัวการแถลงข่าวในครั้งนี้ อาจไม่มากนัก หากไม่มีการใช้งานโฆษณา ผ่านสื่อต่างๆมาสนับสนุน ก็จะได้ในกลุ่มที่อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ หรืออ่านจากเว็บข่าวออนไลน์เท่านั้น

ทำ PR เพื่อสังคม

ก็คือการที่องค์กร คิดกิจกรรมขึ้นมา เพื่อจะไปช่วยสาธารณประโยชน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปลูกป่า ทำฝาย ทาสีวัด ทาสีสร้าง ซ่อมแซมโรงเรียน บริจาคเลือด ทำความสะอาดป้อมยาม จราจร วิ่งมินิมาราธอนหารายได้ต่างๆ โดยจะทำกิจกรรมเป็นรายปี รายเดือน จะร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ หรือเอกชนหน่วยงานใดก็ตาม สิ่งที่ทาง PR จะทำก่อนงานก็คือการโปรโมทงานล่วงหน้า การเชิญนักข่าวมาร่วมงานกิจกรรมเพื่อสังคม การส่งภาพข่าวกิจกรรมไปยังสื่อมวลชนต่างๆ ก็ถือว่า มีกิจกรรมเพื่อสังคม ที่จะได้ประชาสัมพันธ์ ว่าองค์กรเรา บริษัทเราก็สนับสนุนหรือช่วยเหลือสังคมนะ ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไร ใครๆ ก็ทำ ไม่ทำซิแปลก แต่จะมีมั้ยนะ ที่ประชาชนทั่วไป จะได้มีโอกาสมีส่วนร่วมกับงานดังกล่าวนี้บ้าง ก็ต้องรอให้จัดงานก่อนชาวบ้านหรือประชาชนถึงจะมาร่วมงานได้

การทำ PR แบบโลกต้องจดจำ

คืออะไร ยังไง? มันจะต้องยิ่งใหญ่ ใช้งบเยอะเหรอ ในความเห็นของผู้เขียนคิดว่า การทำ PR ในรูปแบบ ที่จะให้โลกจดจำ จำองค์กร จำบริษัทได้นั้น มันต้องเป็นกิจกรรมบางอย่าง ที่สร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่คนหมู่มาก มวลมนุษยชาติ ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของแคมเปญหรือกิจกรรมที่ว่านี้ได้ งานแบบนี้แทบไม่ต้องใช้การเชิญสื่อมวลชนเลยก็ว่าได้ เพราะสื่อมวลชนเองก็อยากมามีส่วนร่วม และอยากจะทำข่าวนี้ให้เอง

ลองนึกถึงตัวอย่างเหตุการณ์ย้อนหลังไปหลายๆ ปี ที่คนกรุงเทพฯ และจังหวัดหัวเมืองใหญ่ มีงาน BiG Cleaning Day จากความขัดแย้งที่ยุติลง แล้วเราได้เห็นคนกรุงเทพช่วยเหลือกันทำความสะอาด ถือไม้กวาด ถือไม้ม้อบ ถังน้ำ มีรถกระบะขนน้ำ ขนผ้าเย็น ขนขนม ของกินมาแจกให้คนที่มาทำความสะอาด บางองค์กรก็สปอนเซอร์อุปกรณ์ทำความสะอาด ส่งกันมาเป็นคันรถช่วยกทม.อีกแรง

หรืองานที่โศกสลดที่สุดของคนไทยเมื่อเราสูญเสียในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ผู้เป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย กระแสเสื้อดำขาดตลาด แต่พักเดียวก็มีทีมย้อมเสื้อสีดำแจกประชาชนตามจุดต่างๆ มีบริษัท มีองค์กรต่างเข้ามาช่วยเหลือกันจนจำไม่หวาดไม่ไหว แต่ก็ได้ใจคนไทยทั่วกทม.หรือต่างจังหวัดกันไป

นั่นหมายความว่า หากเราอยากทำงานประชาสัมพันธ์ ที่เข้าไปนั่งในใจประชาชนทั่วไป หรือลูกค้าของเรา ก็ต้องมองหา หรือคิดกิจกรรม ที่ทำแล้วได้ประโยชน์ เป็นประโยชน์กับคนหมู่มาก แล้วที่สำคัญก็คือ สิ่งๆนั้นต้องเป็นสิ่งที่คนเหล่านั้นต้องการ อาจไม่ใช่เรื่องรายได้ เรื่องเงินอย่างเดียว อาจเป็นการสร้างอาชีพ การต่อยอดรายได้ การพัฒนาทักษะ การให้ประชาชนทั้งประเทศมีส่วนร่วมในการทำโครงการนี้

หากนักประชาสัมพันธ์ ได้ค้นพบ หรือสร้างโครงการหรือกิจกรรมที่ว่าแล้ว ได้นำมาเข้าสู่กระบวนการทำงานประชาสัมพันธ์ เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการดังกล่าวออกไปให้สาธารณชนรับรู้ เชื่อว่าผลตอบรับกลับมาจะให้คุณค่าให้ความชื่นชมองค์กรอย่างมหาศาล แถมการทำประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชน สื่อโซเชียลต่างๆ ก็จะได้รับการสนับสนุนมากกว่า การทำประชาสัมพันธ์สินค้าหรือบริการขององค์กรแต่เพียงอย่างเดียว พอจะเรียกได้ว่า ทำ PR ให้โลกจดจำได้น่ะเอง…@


เกี่ยวกับผู้เขียน: บราลี อินทรรัตน์ (ลี)

:มีประสบการณ์การเป็นผู้บริหาร บริษัทที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์และสื่อสารการตลาด การสร้างภาพลักษณ์องค์กร ดูแลวางแผนกลยุทธ์ให้ลูกค้าทุกประเภทธุรกิจ ทั้งภาครัฐและเอกชนมากกว่า 30 ปี

:ปัจจุบัน เป็นที่ปรึกษางานสื่อสารการตลาด และการตลาดออนไลน์ให้กับองค์กรและผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม

:เป็นเจ้าของธุรกิจ จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่อต้านความเสื่อมชราระดับยีน

:มีคลาสสัมมนาแพลตฟอรม์ออนไลน์ สอนฟรี 3 ชม.ให้กับ SME ที่สนใจธุรกิจออนไลน์ เลือกวันเรียนลงทะเบียนได้ที่นี่ www.bgdigitalsolution.com/smartonline

ติดต่อสอบถามแอดไลน์ที่นี่ค่ะ http://nav.cx/iel6H1M

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น