ก้าวใหญ่ “เอสซีจี” ผสานพลัง สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีนพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคต

ภาพจาก Facebook : SCG

“เอสซีจี” ได้ทำเรื่องนวัตกรรมมาหลายปี เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าและตอบโจทย์ปัญหาสังคม ได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ

ล่าสุด เอสซีจี ได้ลงนามร่วมมือกับสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน หรือ CAS เมื่อวันที่ 5 พ.ย.2562 ผ่าน CAS ICCB หรือ สำนักงานนวัตกรรมและความร่วมมือ (กรุงเทพ) สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน เพื่อร่วมกันวิจัยและพัฒนา
ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยมีนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยและนายกรัฐมนตรีของประเทศจีน
มาร่วมเป็นสักขีพยาน

ดร.สุรชา อุดมศักดิ์

ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ Vice President และ CTO ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวว่า CAS เป็นองค์กรชั้นนำของจีน เป็นพลังสำคัญของจีนในการผลักดันเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การทำเอ็มโอยูร่วมกัน ระหว่าง เอสซีจี กับ CAS ICCB จะเป็นเหมือนหน้าต่างที่ทำให้เอสซีจี เข้าถึงอีโคซิสเต็มในเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ CAS ที่เขามีนักวิจัยอยู่นับเป็นหมื่นคนเลย

การที่นายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศมาเป็นประธานในการเซ็นเอ็มโอยูครั้งนี้ ถือว่าเป็นการให้ความสำคัญและให้การสนับสนุน อีกทั้งเป็นทิศทางของประเทศไทยในการทำเรื่องนวัตกรรม ซึ่งประเทศจีนได้ทำไปมากมายหลายเรื่องแล้ว และเอสซีจีก็เลือกเรื่องที่จะมาทำร่วมกัน ในเรื่องที่จะตอบโจทย์ลูกค้าได้

สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ จะร่วมกันพัฒนาและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมใน 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ 1.เมืองอัจฉริยะ (Smart City) 2.ปัญญาประดิษฐ์ และหุ่นยนต์ (AI / Machine learning and Robotics)
3.เคมีภัณฑ์มูลค่าสูง(High Value Chemicals) 4.ธุรกิจพลังงานใหม่ (New energy business) และ 5.สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Environment and sustainability)

ดร.สุรชา กล่าวว่า เนื่องจากเอสซีจีขายสินค้าหลายอย่างในลักษณะ B2B หรือ ธุรกิจกับธุรกิจ เพราะฉะนั้นประชาชนทั่วไปอาจจะยังไม่ได้เห็น หรือไม่ได้สัมผัสโดยตรง ซึ่งเอสซีจีหวังว่านวัตกรรมที่ร่วมกันวิจัยกับ CAS จะตอบโจทย์ลูกค้าที่เป็นอุตสาหกรรมได้รวดเร็ว ดีกว่าคู่แข่ง และทำให้เราสามารถมีธุรกิจที่ยั่งยืนมากขึ้น

เทคโนโลยีของจีนปัจจุบันก็ถือว่าใกล้เคียงกับเทคโนโลยีของตะวันตก ซึ่งการเลือกใช้เทคโนโลยีนั้น เอสซีจีเปิดกว้าง
และจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุดให้ลูกค้าอยู่แล้ว เพื่อใช้ทุกเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ลูกค้า ตอบโจทย์สังคมได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งการลงนามกับ CAS ถือเป็นก้าวสำคัญของเอสซีจีในการเพิ่มศักยภาพความสามารถในการแข่งขัน

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส

ทางด้าน รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า ทั้ง 5 อุตสาหกรรมที่เอสซีจี ทำร่วมกับ CAS นั้น ประเทศไทยถือว่ามีโอกาสมาก ทั้งเรื่อง Smart City ที่ตอนนี้เรามีแผนทำให้ EEC เป็น Smart City เมื่อมี Smart City ก็ต้องมี Smart building ด้วย

เรื่อง AI ก็ตรงกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่เป็นเทคโนโลยีชั้นสูง ประเทศไทยจำเป็นที่จะก้าวขึ้นไปในอีกระดับหนึ่ง ให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ความสามารถของคนของเราในเรื่องเอไอก็มีความจำเป็น ส่วนเรื่อง High Performance Chemicals ก็เป็นสิ่งที่เอสซีจีมีพื้นฐานอยู่แล้ว และมีแผนพัฒนาสินค้าของเราให้เป็นสินค้าซึ่งมีความสามารถที่ทำได้ดีขึ้น ใช้วัตถุดิบน้อยลง แต่สามารถตอบโจทย์ได้มากขึ้น

เรื่องพลังงานทดแทนนั้น ประเทศจีนมีเทคโนโลยีที่สูงมาก เพราะอยู่ในแผนการพัฒนาพลังงานที่สะอาดของจีน และประเทศไทยต้องนำเข้าเรื่องการใช้พลังงาน เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนรูปแบบพลังงาน จากลักษณะพลังงานปกติทั้งน้ำมัน ก๊าซ ไปเป็นพลังงานสะอาด จะมีส่วนที่ทำให้การพัฒนาทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคประชาชน เป็นการพัฒนาในลักษณะที่ดีขึ้น ท้ายที่สุดเรื่อง Sustainable Development ก็เป็นเรื่องที่ทุกคนพูดถึงอยู่แล้ว

ทั้ง 5 อุตสาหกรรมที่เอสซีจีเลือกมา ก็เลือกตัวที่มีโอกาสทำให้ประสบความสำเร็จได้มากที่สุด และคงจะเริ่มจากตรงนี้ก่อน เพื่อจะตอบโจทย์ภาพรวมประเทศไทย และตอบโจทย์เอสซีจีด้วย อีกทั้งเป็นองค์ความรู้ของ CAS ICCB ที่มีองค์ความรู้ และมีเทคโนโลยีอยู่แล้ว

รุ่งโรจน์ กล่าวว่า ในโลกยุคปัจจุบัน เรื่องของความเร็วที่พัฒนา แล้วสามารถออกเป็นสินค้าหรือการให้บริการได้
เป็นเรื่องที่จำเป็น แม้จะมีเทคโนโลีขั้นสูงขนาดไหน แต่จำเป็นต้องมีความเร็วในการตอบโจทย์ด้วย เพราะสภาพการแข่งขัน หรือลูกค้าจะไม่รอ เพราะฉะนั้นการที่เราได้มีโอกาสทำวิจัยพัฒนา ได้ทำนวัตกรรมร่วมกับ CAS คิดว่าเป็นโชคดีอย่างมากของเอสซีจี และเป็นประโยชน์มากสำหรับประเทศไทย

โดยช่วงแรก เอสซีจีจะทำกับ B2B ก่อน ต้องไปทำกับเจ้าของโรงงาน เจ้าของตึก เจ้าของอาคาร พัฒนาตรงนั้นก่อน
จากนั้นถัดไปเชื่อว่าระดับ B2C หรือลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคทั่วไปจะตามมา เมื่อตอบโจทย์ในระดับ B2B แล้ว @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น