“ชิมช้อปใช้” ค้าปลีกรายย่อยก็ได้ประโยชน์ TC Supermart บางบัวทอง ยอดทะลุแล้ว 30 ล้าน

ภาพจาก Facebook : TC Supermart

มาตรการ “ชิมช้อปใช้” ที่รัฐบาลออกมากระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปีนี้ ได้รับความสนใจจากประชาชนมากมายมหาศาล จนรัฐบาลต้องออก “ชิมช้อปใช้ เฟส 2”

ในมุมมองของ นุกูล สามัคคยานุสรณ์ กรรมการผู้จัดการ TC Supermart บางบัวทอง นนทบุรี ที่เข้าร่วม “ชิมช้อปใช้” กล่าวว่า มาตรการนี้ทำให้มีลูกค้าหน้าใหม่มาซื้อของที่ร้านเพิ่มขึ้นเยอะมาก จากที่ตนเองคาดการณ์ไว้ในเฟสแรกว่า มีคนลงทะเบียน 10 ล้านคน อย่างน้อยน่าจะมีคนมาซื้อของที่ร้านสักประมาณ 10,000 คน

ปรากฏว่าตั้งแต่วันที่ 27-29 ต.ค. 2562 ลูกน้องส่งตัวเลขคนที่มาซื้อของในโครงการ “ชิมช้อปใช้” กว่า 31,200 คน
เกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ 3 เท่า ส่วนใหญ่จะใช้จ่ายเฉลี่ยคนละประมาณ 900 บาทขึ้นไป ถ้าคิดให้ง่ายๆ ว่าใช้จ่ายคนละ
1,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 27-29 ต.ค. ตนเองก็ได้เงินแล้ว 30 ล้านบาท ในส่วนของของโครงการ “ชิมช้อปใช้” ยังไม่นับรวมลูกค้าประจำ และลูกค้าที่ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

นุกูล สามัคคยานุสรณ์

ทั้งที่มีการวางแผนรับมือไว้แล้ว แต่เนื่องจากยอดขายที่เข้ามาเยอะมากกว่า 4-5 เท่าของยอดขายปกติ ทำให้ซัพพลายเชนเกิดปัญหามาก ทั้งการจัดเรียง ทั้งการสั่งสินค้าจากซัพพลายเออร์ เนื่องจากมีระยะเวลาสั้น และเกินจากที่เราคาดไว้ ที่ร้านไม่ได้ขายปลีกอย่างเดียว แต่ขายส่งด้วย ปกติจะมีสต๊อกมากกว่ายอดขายประมาณ 3 เท่าอยู่แล้ว แต่ยอดขายที่เข้ามานั้น 4-5 เท่า จึงอาจจะทำให้ช็อตไปบ้าง ซึ่งไม่ได้ช็อตเกิดจากเราคนเดียว แต่ซัพพลายเออร์ก็ช็อตไปด้วย เพราะเป็นเหมือนกันทั่วประเทศ ที่ไปกระจุกตัวอยู่ในระยะเวลาสั้นๆ ทีเดียว

จากตัวเลขของรัฐบาลพบว่าคน 10 ล้านคน ใช้จ่ายไปแล้วกว่า 9,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้พบว่าเอาไปช้อปประมาณกว่า 5,000 ล้านบาท แสดงว่าครึ่งหนึ่งไปอยู่ที่ช้อป ซึ่งลูกค้าของโครงการ “ชิมช้อปใช้” จะเป็นลูกค้าต่างถิ่น เพราะในการลงทะเบียนจะต้องเลือกจังหวัดที่ไม่ตรงกับทะเบียนบ้าน ต้องเลือกจังหวัดอื่น

ดังนั้น การบริหารจัดการจึงเป็นเรื่องสำคัญ ทำอย่างไรให้ลูกค้ารู้ว่าร้านเราคือร้านอะไร มีขนาดเท่าไร มีสินค้าอะไรบ้าง หน้าตาร้านเป็นอย่างไร มีที่จอดรถหรือไม่ สินค้ามีอะไรบ้าง ลักษณะการซื้อเป็นอย่างไร พวกนี้เป็นของใหม่สำหรับเรา ตอนนี้เป็นยุคของออนไลน์ เป็นยุคสื่อสาร เป็นดิจิทัล

เพราะฉะนั้นเรื่องเฟซบุ๊ก เรื่องไลน์ โดยเฉพาะเฟซบุ๊กไลฟ์ เพื่อให้ลูกค้ารู้ว่าร้านเราอยู่ที่ไหน แอดมินของเพจร้านเรา
ต้องตอบให้ข้อมูลลูกค้าอยู่ตลอดว่า ร้านเราอยู่ที่ไหน มีขนาดเท่าไร มีสินค้าอะไร โชว์รูปสินค้าให้หมด ใช้เส้นทางไหน
เดินทางมา เพราะเขาเป็นลูกค้ารายใหม่ เรื่องการให้ข้อมูลในโลกของการสื่อสารนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ ภายในเวลาอันจำกัด ซึ่งจะขาดแคลนทั้งข้อมูลข่าวสารของลูกค้าและข้อมูลของเราเอง หรือการบริหารจัดการที่ไม่อยู่ในภาวะปกติ

สิ่งที่นุกูลมองต่อจากนี้ก็คือกลยุทธ์ต่อไป ทำอย่างไรให้ลูกค้ามาร้านเราแล้วพอใจมากที่สุดเท่าที่เราจะสามารถทำได้
และคาดหวังว่าเขาอาจมาเป็นลูกค้าครั้งต่อไป ถึงจะไม่ได้มีมาตรการนี้แล้ว แต่ถ้าเขาติดใจสินค้าและบริการของเรา
เขาก็อาจมาซื้อสินค้าอีก

นอกจากเรื่องการให้ข้อมูลแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดที่จะต้องมี และร้านค้าทุกคนจะต้องใช้ ก็คือใจที่มีการบริการ การให้ข้อมูลลูกค้า เพราะลูกค้ามีปัญหาตลอดตั้งแต่เปิดหน้าเว็บ ที่ร้านเปิดเวลา 8.00 ปิด 20.30 น. ช่วง 24 วันที่ลูกค้ามาใช้บริการเยอะมาก เวลา 5.30 – 6.00 น. มีลูกค้ามารอคิวแล้ว 100-200 คิว เพราะฉะนั้นกระบวนการที่ยากขึ้นก็คือการจัดคิว ระบบการจัดการต้องดูว่าทำอย่างไร

ถ้าเป็นร้านอื่นอาจซื้อสินค้าเสร็จแล้ว มาคิดเงิน ถึงเอาโทรศัพท์มือถือมาสแกนที่แคชเชียร์ ซึ่งจะทำให้เกิดความล่าช้า
แต่ที่ TC Supermart เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว และไม่ยุ่งยากตอนไปชำระเงินกับแคชเชียร์ เราจะให้ลูกค้าเอาโทรศัพท์มือถือไปสแกนคิวอาร์โค้ดก่อน เพื่อให้ได้สลิปเงินมาเหมือนเป็นคูปองเงินสด จากนั้นก็ไปเลือกซื้อของ แล้วมาจ่ายที่แคชเชียร์

“สิ่งที่ผมและพนักงานเราทำด้วยใจ ตั้งแต่การแนะนำลูกค้าตอนเกิดปัญหา สแกนคิวอาร์โค้ด ถามลูกค้าจะใช้เงินเท่าไร เลือกสินค้าเสร็จแล้ว และมาจ่ายที่แคชเชียร์ เราพูดจายิ้มแย้มแจ่มใส และยิ้มให้ นี่คือเซอร์วิสที่สำคัญ นอกเหนือจากต้องมีสินค้าให้เลือกซื้อเยอะๆ แล้ว ผมเป็นซีอีโอ ผมก็ต้องลงไปแจมกับเขาด้วย เพราะนั่นคือกำลังใจของพนักงานผมทุกคน เขาเหนื่อย เราก็เหนื่อยด้วย” นุกูล กล่าว

จากที่นุกูลได้เทียบกับร้านค้ารายอื่น พบว่าร้านอื่นให้บริการลูกค้า“ชิมช้อปใช้” เร็วสุด 4 ชั่วโมงครึ่ง ถ้าช้าก็ใช้เวลาครึ่งวัน แต่ของ TC Supermart ช้าสุดประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง นับตั้งแต่ลูกค้าเข้าคิวจนออกจากร้าน จะใช้เวลาช้าหรือเร็ว ก็ขึ้นอยู่กับการเลือกซื้อสินค้าของลูกค้า และสังเกตเห็นว่าเมื่อลูกค้าถือถุงออกไปจากร้านแล้ว เขามีรอยยิ้ม ส่วนที่ลงในเฟซบุ๊ก ลูกค้าส่วนใหญ่ที่มีปฏิสัมพันธ์กลับมา เขาจะแฮปปี้ ขอบคุณเรา แต่ก็มีบ้างที่ติมา เราก็น้อมรับไว้

สำหรับร้านค้าที่ไม่เข้าร่วม “ชิมช้อปใช้” นุกูล บอกว่า น่าเสียดาย เท่าที่ฟังมาเขาให้เหตุผลว่ากลัวเรื่องภาษี แต่กลับไม่กลัวว่าจะขายไม่ดี

“เราเปิดร้านขายของ ทุกคนก็ต้องอยากขายดี ให้ยอดขายโตขึ้น แต่คุณให้เหตุผลตรงนี้ ให้ยอดขายเท่าเดิม หรือมองคนอื่นขาย ผมว่ามันไม่ถูก มันเสียโอกาส เจ้าหน้าที่รัฐบาลก็บอกแล้วว่าครั้งนี้จะไม่เอามาเป็นฐานภาษี ไม่เหมือนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่”ชิมช้อปใช้”เป็นสิ่งที่รัฐบาลบอกว่าอยากให้เข้ามาร่วมเยอะๆ ซึ่งในรอบ 2 เนื่องจากกระแสมันแรง เห็นว่ามีร้านสนใจอยากเข้าร่วมอีกจำนวนมาก”

วิธีการสมัครเข้าร่วม “ชิมช้อปใช้” นั้นง่ายมาก เพียงขอให้ที่ร้านมีทะเบียนการค้า แล้วถ้าขายดีขึ้น ต้องเสียภาษี ก็ถือเป็นโอกาสที่จะได้มีการพัฒนาร้านค้า และสรรพากรไม่น่ากลัวอย่างที่คิด เรากลัวไปเองหรือเปล่า แล้วความกลัวทำให้เราไม่พัฒนาอะไรสักอย่างเลย ตัวเราเองก็ไม่พัฒนาในการจัดร้านใหม่ หาสินค้าใหม่ให้ร้านใหญ่โตขึ้น ไม่ได้พัฒนาในเรื่องระบบการบริหารจัดการ ไม่ได้พบเจอลูกค้าใหม่ เรื่องนี้ถ้าเราไม่แข่งกับใจตัวเราเองแล้ว เราจะไปแข่งกับใคร ดังนั้น ร้านค้าที่ไม่เข้าร่วมมาตรการรัฐก็จะเสียโอกาสไปเลย

นุกูล กล่าวว่า “ชิมช้อปใช้” เป็นมาตรการกระตุ้นระยะสั้น ร้านค้าได้อานิสงส์แน่ๆ โดยเฉพาะโชวห่วย หรือร้านโอทอป ถ้าคนไปใช้เงินที่ร้านเหล่านี้ จะทำให้เงินนั้นหมุนไปหลายรอบ ไปถึงซัพพลายเออร์ ไปถึงบริษัทที่มีวัตถุดิบ แต่ถ้าเราเป็นร้านเล็กๆ แล้วเราหยุด ไม่เข้าร่วม ก็เท่ากับเราไปส่งเสริมให้ร้านใหญ่ได้ประโยชน์ ไม่ใช่รัฐบาลไปส่งเสริมร้านใหญ่ แต่เป็นตัวเราที่ไปส่งเสริม เพราะเราไม่ลงไปเล่นสนามเดียวกับเขา แต่ไปยืนดูเฉยๆ เราต้องไปสู้กับเขา

“เวลาเกิดปัญหา เรามีปัญหาไว้แก้ไข เราไม่ได้มีปัญหาไว้โวยวาย ถ้ามีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการ เรื่องภาษี เรื่องอะไรก็แล้วแต่ หรือดูแลลูกค้าไม่ทัน ท่านก็ต้องมานั่งแก้ไข ถ้าเรารักในสายงานอาชีพเรา เพื่อให้กิจการเรามีพัฒนาการและโตขึ้น ปัญหานี่แหละคือบทเรียนที่สอนเราดีที่สุด”

นุกูลยังพูดถึงประชาชนที่ได้รับสิทธิ“ชิมช้อปใช้” ว่า ส่วนใหญ่จะใช้กระเป๋า 1 คือใช้เงิน 1,000 บาท ส่วนที่รัฐบาลหวังจะให้ใช้กระเป๋า 2 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้แรงขึ้นนั้น ในส่วนของการคืนเงิน 15% – 20% นั้น รัฐบาลควรคืนเงินให้เร็ว ไม่ใช่รอไปคืนเงินในเดือนธันวาคม แต่ควรคืนให้ใน 1- 2 วัน หลังประชาชนใช้เงินซื้อสินค้า เพื่อเป็นเชิงจิตวิทยา ทำให้คนอยากใช้เงิน เพราะได้เงินคืนเร็วขึ้น @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น