ย้อนรอย 139 ปี “Coffee Break”

เคยสงสัยกันบ้างไหมครับว่าCoffee Break” มีความเป็นมาอย่างไร ไฉนจึงถูกมองว่าเป็นวิธีคลี่คลายอาการ “สมองอ่อนล้า” หรือ “เครียด” ระหว่างทำงานได้ดีที่สุดวิธีหนึ่ง จนช่วงเวลาพักเบรกสั้นๆ 10 นาที บ้าง 15 นาทีบ้าง กลายมาเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมองค์กรทั่วโลกไปแล้วเสียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

บริษัทที่ผู้เขียนเคยทำงานอยู่ด้วยหลายสิบปี แม้ไม่ได้เขียนนโยบาย coffee break ไว้อย่างชัดเจน แต่ก็อะลุ่มอล่วยให้ลูกจ้างออกไปหากาแฟดื่มหรือของกินได้ช่วงสั้นๆ ในเวลาทำงาน โดยต้องไม่กระทบต่อการทำงาน

จะเคยมีประสบการณ์ coffee break อย่างเป็นทางการอยู่บ้าง ก็ตอนออกไปประชุมหรือสัมมนาที่มีการจัดเวลาให้พักเบรกดื่มชา-กาแฟ ไว้ 2 ช่วง สายๆ และบ่ายแก่ๆ แต่ละช่วงกินเวลาประมาณ 10-15 นาที

คำว่า coffee break นี้มีที่มาที่ไหนอย่างไร ต้นกำเนิดอยู่ที่ไหน ลูกจ้างบริษัทใดได้รับโอกาสเป็นครั้งแรกของโลก ???

แง่คิดประการหนึ่งก็คือ ในจุดเริ่มต้น เมื่อมีการนำคำ Coffee” มาใช้ผสมกับคำ “Break” แสดงว่าในสังคมหรือประเทศนั้นๆ กาแฟต้องเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมากๆ ดื่มกันเป็นนิจในชีวิตประจำวัน…

มีเรื่องราวที่บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรตามเว็บไซต์ทั่วไปว่า Coffee Break เกิดในปีค.ศ. 1880 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มต้นจากครอบครัวชาวนอร์เวย์ที่อพยพมาอาศัยอยู่ในเมืองสตัฟตัน รัฐวิสคอนซิน แล้วก็ได้งานทำที่โรงงานผลิตเกวียนชื่อ T.G. Mand ขณะที่บรรดาสามีเป็นลูกจ้างทำเกวียนอยู่นั้น ภรรยาก็อยู่เป็นแม่บ้านเลี้ยงลูกเลี้ยงเต้า ใกล้ๆ กันนั้น มีโกดังเก็บใบยาสูบ Gunderson Tobacco Warehouse ตั้งอยู่ และเจ้าของกำลังประสบปัญหาเรื่องเก็บเกี่ยวใบยาสูบ อยากได้แรงงานมาช่วย

เจ้าของโกดังเก็บใบยาสูบ จึงขอให้บรรดาแม่บ้านนอร์เวย์มาช่วยจัดเรียงใบยาสูบ ฝ่ายแม่บ้านก็เห็นด้วย เพราะเห็นว่าช่วยเพิ่มรายได้ แต่ตั้งเงื่อนไขแลกเปลี่ยนว่า ขอหยุดพักสั้นๆ ในตอนเช้า และอีกครั้งในตอนบ่าย เพื่อกลับไปเตรียมอาหารเย็น และต้มกาแฟให้สามี

….ด้วยข้อตกลงอันเรียบง่ายเช่นนี้เอง coffee break ก็ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ 139 ปีก่อน เมื่อพิจารณาในทุกแง่มุม จะใช่เป็น coffee break หนแรกหรือไม่อย่างไร ทว่า ชาวชุมชนสตัฟตัน ได้อ้างสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ “ครั้งแรกของโลก” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ถนนเส้นหนึ่งที่อยู่ใกล้กับโกดังยาสูบ ได้รับการตั้งชื่อว่า Coffee Break Street” แถมชาวเมืองที่นี่ยังมีการจัดงานเฉลิมฉลองเป็นประจำทุกปี ชื่อว่า “Stoughton Coffee Break Festival” ในปีนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมานี้เอง กิจกรรมในงานก็มีการเปิดให้ชิมกาแฟฟรี พร้อมโหวตเลือกกาแฟสุดโปรดจากร้านกาแฟที่มาเปิดบูธจำนวน 7 แห่งด้วยกัน

โปสเตอร์งาน “Coffee Break Festival” ประจำปี 2014 บนเฟซบุ๊ค Stoughton Coffee Break Festival

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องเข้าสู่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นั่นแหละ ที่การหยุดพักทำงานเพื่อดื่มกาแฟในสหรัฐอเมริกา เริ่มมีบทบาทจริงจังในภาคธุรกิจ นับจากมีการออกกฎหมายกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ และเพิ่มสวัสดิการต่างๆ ให้ลูกจ้าง ส่งผลให้บริษัทและโรงงานทั่วสหรัฐ ต้องสร้างสถานที่ไว้ให้ลูกจ้างกินอาหารกลางวันกัน สามารถใช้เป็นห้องพักผ่อน พูดคุย ดื่มกาแฟ ช่วงสั้นๆ ในเวลาทำงานด้วย …แน่นอน coffee break เริ่มเข้าไปส่วนรวมในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ด้วย

แล้วบริษัทใดในภาคธุรกิจของสหรัฐอเมริกาเป็นต้นกำเนิด “ช่วงพักดื่มกาแฟ” เป็นแห่งแรก มีข้อมูลว่า ในปี ค.ศ. 1902 บริษัทชื่อ Barcolo Manufacturing ในเมืองบัฟฟาโล่ รัฐนิวยอร์ก (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Barcalounger ทำธุรกิจขายเก้าอี้ปรับนอน) เริ่มมีนโยบายนี้ก่อนใคร

ถึงขั้นอ้างหนังสือพิมพ์ฉบับที่ลงตีพิมพ์ข่าวของบริษัทประมาณว่า “ลูกจ้างชื่นชอบการหยุดเบรกในช่วงสายและช่วงบ่าย แล้วก็มีพนักงานคนหนึ่งขันอาสาตั้งเตาต้มกาแฟให้เพื่อนๆ ดื่มกัน” …แต่ไม่ใช่กาแฟฟรีนะ สมัยนั้นลูกจ้างต้องควักเงินจ่ายค่ากาแฟที่บริษัทจัดหามาให้

ประเด็นที่มีการเชื่อมโยงกันคือ มีข้อมูลว่า ในปี ค.ศ. 1901 Larkin Company บริษัทผลิตสบู่ที่อยู่ในเมืองบัฟฟาโล่เช่นกัน ให้บริการกาแฟฟรีแก่ลูกจ้าง แต่ไม่ได้จัดเวลาให้ลูกจ้างพักเบรกดื่มกาแฟ แต่เนื่องจากบริษัท Barcolo กับบริษัท Larkin ทำธุรกิจร่วมกันอยู่ มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน จึงมีความเป็นไปได้ที่ผู้บริหาร Barcolo จะลอกไอเดียมาใช้ โดยจัดเตรียมกาแฟให้เป็นเครื่องดื่มแก่พนักงานในช่วงพักเบรก

เรื่องราวของ coffee break เริ่มเข้มข้นขึ้น… ในปีค.ศ. 1951 นิตยสาร Time ให้ข้อสังเกตไว้ว่า “หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา เป็นครั้งแรกที่คำ coffee break ถูกเขียนไว้ในข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานอเมริกัน” …คำๆ นี้ ต่อมากลายเป็นที่นิยมผ่านทาง “แคมเปญโฆษณา” ในปี ค.ศ.1952 มี Pan-American Coffee Bureau สำนักงานที่ตั้งขึ้นมาเพื่อกระตุ้นการบริโภคกาแฟในครัวเรือน เป็นผู้จัดทำ ด้วยสโลแกนว่า Give yourself a Coffee-Break” และGet What Coffee Gives to You”

แบรนด์กาแฟชั้นนำของสหรัฐที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปีค.ศ.1892 อย่าง Maxwell House” ย่อมไม่พลาดโอกาสทองที่จะหยิบฉวยไปทำการตลาดเพื่อเพิ่มยอดขายกาแฟ จึงว่าจ้างนักจิตวิทยาด้านพฤติกรรมที่มีชื่อเสียง มาช่วยทำสื่อโฆษณา หวังโหมกระแสให้ coffee break ฝังรากลึกกลายเป็นวัฒนธรรมหนึ่งของอเมริกันชน

หนึ่งในโปสเตอร์โฆษณาชวนเชิญดื่มกาแฟในยุค 1950 ของ Pan-American Coffee Bureau ภาพ : http://www.coffeebureau.co/platform

ในปีค.ศ.1964 coffee break ได้เป็นประเด็นข้อพิพาทระดับ “วาระแห่งชาติ” ของสหรัฐอเมริกา ภายใต้ความขัดแย้งระหว่างสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมรถยนต์ กับกลุ่มบิ๊กทรี ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ ซึ่งประกอบด้วย จีเอ็ม, ฟอร์ด และ ไครสเลอร์ หลังจากผู้นำสหภาพแรงงานเสนอให้ลูกจ้างได้หยุดพักเบรก 15 นาทีระหว่างทำงาน

ขณะที่การเจรจาเป็นไปอย่างเข้มข้นทั้งในเรื่องประกันสุขภาพ ทุนสำรองเลี้ยงชีพ และเพิ่มอัตราเงินเดือน 5% แต่เป็นประเด็น “coffee break” ที่เกือบจะทำให้เกิดการประท้วงนัดหยุดงานของลูกจ้างหลายหมื่นคน เนื่องจากบิ๊กทรียอมรับได้เพียง 12 นาทีของการพักเบรกเท่านั้น

จากวันนั้นจนถึงวันนี้…เกือบ 140 ปีมาแล้ว ไม่ว่าจะถูกจิตถูกใจหรือไม่ อย่างน้อยที่สุด Coffee Break” ก็สะท้อนถึงจุดยืนขององค์กรธุรกิจว่า มีทัศนคติเชิงบวกเรื่องการบริหารจัดการพนักงาน… ประหนึ่งวรรคทองที่ว่าบริษัท “ให้คุณค่าแก่ฉัน”…@


facebook : CoffeebyBluehill

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น