หลังแบน 3 สารเคมี “เกษตรอินทรีย์” คืออีกทางออก?

คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ยกเลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ธันวาคม 2562

อนุพล ลิขิตพฤกษ์ไพศาล ซีอีโอ เบนซ์ บีเคเค ซึ่งเป็นคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า การยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตรทั้ง 3 ชนิด ต้องมองประเด็นปัญหาเป็น 3 มุม มุมแรกคือมุมเกษตรกร มุมที่ 2 คือมุมอุตสาหกรรม และมุมที่ 3 คือมุมผู้บริโภค ซึ่งประเด็นที่ทำให้ถูกแบนเนื่องจากกระทบต่อผู้บริโภค เพราะจากผลการศึกษาพบว่าก่อให้เกิดมะเร็ง

แต่เท่าที่ฟังจากเกษตรกร 15 ล้านคน สารทั้ง 3 ตัวอยู่ในตลาดมานานกว่า 50 ปี และ 2 ตัวแรกก็เป็นตัวที่ใช้เป็นเหมือนยาสามัญประจำบ้านไปแล้ว มีมูลค่าตลาดปีหนึ่งประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท แสดงว่ามีการใช้กันอย่างกว้างขวาง ดังนั้นสารเคมีดังกล่าวก็คงต้องมีดีต่อเกษตรกรถึงได้อยู่มานาน

อนุพล ลิขิตพฤกษ์ไพศาล

สารเคมีเหล่านี้เกษตรกรบางคนใช้แล้วเห็นว่าได้ผล ก็อัดใช้เยอะๆ กลายเป็นสารตกค้าง ซึ่งสารพวกนี้มีข้อบ่งใช้ วิธีใช้ มีตัวควบคุม ว่าใช้ปริมาณแค่นี้ไม่ตกค้างและได้ประโยชน์สูงสุด ถ้าใช้เกินกว่านี้จะได้ประโยชน์ แต่มันจะเหลือตกค้างและอาจเป็นผลลัพธ์ที่ไม่ดี ซึ่งถ้าพูดโดยทางเกษตรกรรมแล้ว สารเคมีเหล่านี้ให้ผลได้เร็ว และมันคือต้นทุนของเกษตรกรโดยตรง

แต่ถ้าเขามีทางเลือกที่ดีกว่า เช่น นักวิชาการทางการเกษตรบอกว่าการห่อ ชมพู่ ฝรั่ง ทำให้ได้ผลผลิตลูกใหญ่ สวย ไม่ถูกแมลงกิน เกษตรกรก็ทำเพื่อลดต้นทุน หรือทำอย่างไรให้ได้ผลผลิตดีที่สุด แต่ถ้าปลูกอ้อย เมื่ออ้อยโตแล้วมีหญ้าขึ้น รถหรือเครื่องจักรเข้าไปตัดหญ้าไม่ได้ เขาก็ต้องใช้สารเคมี เพราะถ้าจ้างคนไปตัด ค่าจ้างวันละ 300 บาท ก็ต้องใช้คนเยอะ ทำให้ต้นทุนสูง

ส่วนผลงานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ระบุว่า พบการปนเปื้อนของสารเคมีในน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน และสารที่ตกค้างยังสามารถแพร่กระจายต่อไปยังพืชสัตว์และแหล่งน้ำอื่นๆ ได้ ที่ จ.น่านนั้น อนุพล กล่าวว่า ก็เป็นเรื่องจริง แต่ถ้าเราไม่ใช้สารเคมีเหล่านี้ก็ต้องมีสารตัวอื่นมาให้ใช้

พร้อมยกตัวอย่างบริษัทไฟเซอร์ บริษัทผลิตยาเก่าแก่ ที่อยู่มาวันหนึ่งลิขสิทธิ์ยาของบริษัทหมดลง ใครๆ ก็ผลิตยาของเขาได้ ทำให้เกิดการแข่งขัน และทำให้กำไรของเขาน้อยลง เมื่อมีคู่แข่งมากขึ้น ยาพวกนี้ก็ถูกลง ทำให้ไฟเซอร์เกือบล้มละลาย โชคดีเขาคิดยาตัวใหม่ได้คือไวอะกร้า

ก็เหมือนกับสารเคมีทางการเกษตรทั้ง 3 ชนิดนี้ที่อยู่กับเรามา 50 ปี ต่อมาก็มียี่ห้ออื่นๆ เข้ามาขายเต็มไปหมด การทำกำไรก็ไม่มี จึงต้องหาสารเคมีตัวใหม่เข้ามา ที่มีฤทธิ์ มีประสิทธิภาพดีกว่านี้เข้ามาขาย ซึ่งจะเป็นโอกาสทางการตลาด จึงแบนตัวเก่านี้ออกไป เพื่อให้ตัวใหม่ๆ เข้ามา เท่าที่ได้ฟังมาสารเหล่านี้อยู่ในบัญชีที่มีโอกาสก่อให้เกิดมะเร็งประเภทที่ 2 มีโอกาสรองหรือน้อยกว่าพวกบุหรี่ ส่วนวิธีแก้ไขปัญหาสารเคมีทางการเกษตร คนก็มองไปที่เกษตรอินทรีย์

“เกษตรอินทรีย์ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุดถ้าถามถึงความดีและความถูกต้อง แต่การตอบโจทย์ในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม ต้นทุนมันสูงมาก ต้นทุนในการจัดการยังสูงอยู่ จนกว่าเราจะพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ตอนนี้ปุ๋ยเกษตรอินทรีย์ส่วนใหญ่แล้ว พยายามทำให้มันเบาลง เล็กลง และง่ายขึ้นด้วยการแปลงสภาพให้เป็นน้ำ สมมติถ้าเราใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ เราใช้เป็นเม็ด ก็โยนลงไปแค่ 3 เม็ด แต่ถ้าใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ถ้าใช้สารแบบทั่วๆ ไป ก็จะใช้เยอะหน่อย และนานกว่าจะย่อยสลายหมด เมื่อย่อยสลายแล้วจะเป็นน้ำ จากนั้นจึงเอามาราด”

อนุพล กล่าวว่า การจะทำเกษตรอินทรีย์ ต้องเป็นเกษตรอินทรีย์มาตั้งแต่ต้นน้ำ เช่น ฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ จะต้องเป็นเกษตรอินทรีย์มาตั้งแต่ต้นทางของอาหารที่ใช้เลี้ยงไก่ เช่น ปลายข้าว ข้าวโพด ก็ต้องมาจากเกษตรอินทรีย์ ซึ่งต้นทุนก็จะสูงขึ้นมาเป็นลูกโซ่ ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาราคาแพง ตอนนี้เกษตรอินทรีย์จึงเป็นเหมือนนิชมาร์เก็ต ซึ่งสุดท้ายแล้วก็เป็นเรื่องของตลาด เป็นเรื่องของผู้บริโภค

หลังการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตรทั้ง 3 ชนิด เกษตรกรก็ต้องหาสารตัวอื่นมาใช้แทน ส่วนผู้บริโภคก็ได้ประโยชน์ เพราะสารเคมีไม่ดีต่อสุขภาพ ตอนนี้ก็ต้องรอดูว่าถ้าหยุดใช้สารเคมีดังกล่าวแล้วผลดีที่ได้รับคืออะไร เกษตรกรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใครจะมีส่วนร่วม ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นการตื่นตัวครั้งใหญ่ของผู้บริโภค @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น