เศรษฐกิจสีเขียว เรื่องใกล้ตัว แต่ทำไมรัฐบาล-คนไทยไม่จริงจัง?

แนวคิด Green Economy หรือ เศรษฐกิจสีเขียว เป็นสิ่งที่หลายประเทศให้ความสำคัญ โดยกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ มีการวางนโยบายที่ชัดเจน เพื่อนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี

รศ.ดร.โสภารัตน์ จารุสมบัติ ผู้เขียนหนังสือ”เส้นทางเศรษฐกิจสีเขียว” ศูนย์วิจัยนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เศรษฐกิจสีเขียวเป็นแนวคิดหนึ่งที่ยอมรับในระดับสากล ที่อยากให้มีการพัฒนาแนวทางการดำเนินงานต่างๆ โดยเฉพาะกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีการคำนึงถึงองค์รวมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน

เนื่องจากในปัจจุบันและที่ผ่านมา กิจกรรมต่างๆ ของเรา โดยเฉพาะกิจกรรมด้านเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการผลิต หรือการบริโภค จะใช้ทรัพยากรเยอะ และทำลายสิ่งแวดล้อม มีผลกระทบในหลายๆ ด้าน เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้เพื่อนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดี มีสังคมที่ดี มีสิ่งแวดล้อมที่ดี

ปัจจุบันเป็นยุคทรานส์ฟอร์เมชั่น มีการเปลี่ยนแปลง มีการพัฒนาหลายๆ อย่าง ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่เราน่าจะมีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ มีเทคโนโลยีใหม่ๆ มีคนรุ่นใหม่ๆ หรือการทำธุรกิจแบบใหม่ๆ ที่เอื้อต่อการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนได้ เพื่อให้สิ่งเหล่านี้ช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของคนทั้งในปัจจุบันและอนาคตอยู่ได้เป็นอย่างดี

สำหรับประเทศไทยนั้น ในระดับนโยบายมียุทธศาสตร์ มีนโยบายต่างๆ มีโรดแมป มีคณะกรรมการต่างๆ มากมายที่ทำงานเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจสีเขียว แต่เรายังขาดมาตรการในเชิงปฏิบัติที่จะทำให้เกิดการทำงานอย่างเป็นรูปธรรมจริงๆ ทั้งที่มีการเสนอในเชิงวิชาการค่อนข้างเยอะว่าเราควรทำอะไรบ้าง แต่ก็แทบจะไม่เห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในเชิงนโยบาย

“เศรษฐกิจสีเขียวถ้าเราจะไปถึงตรงนี้ได้ เราไม่ต้องมาสนใจว่ามันคืออะไร เป็นอะไร คำจำกัดความคืออะไร แล้วไปยึดติดตรงนั้น โดยที่เราไม่ได้มองว่าแล้วทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้ เราน่าจะให้ความสำคัญกับการทำให้มันเกิดผลในแง่ของการปฏิบัติมากกว่า” รศ.ดร.โสภารัตน์ กล่าว

รศ.ดร.โสภารัตน์ จารุสมบัติ

หลายๆ ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการทำเศรษฐกิจสีเขียวนั้น ต้องยอมรับว่ามีรัฐบาลเป็นหัวหอกสำคัญในเรื่องนี้ ในแง่ที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกที่จะเอื้อให้ภาคส่วนต่างๆ สามารถทำได้ ส่วนภาคเอกชนทั้งในประเทศไทย และในต่างประเทศ โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่จะตื่นตัวกันมาก และให้ความสำคัญทำกิจกรรมเรื่องพวกนี้เยอะ เพราะเขาเห็นประโยชน์ เห็นความสำคัญว่าสิ่งที่เขาทำ นอกจากธุรกิจเขาจะได้ประโยชน์แล้ว ก็ยังมีประโยชน์ต่อสังคม ต่อประเทศอีกด้วย

ธุรกิจเล็กๆ ในประเทศไทยอาจมีข้อจำกัดบ้าง เพราะการจะขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจสีเขียวได้ จะต้องมีนวัตกรรม ต้องมีเทคโนโลยี ต้องมี capacity บางอย่าง ซึ่งยังต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐค่อนข้างเยอะ ขณะที่เอกชนขนาดใหญ่ก็ต้องการให้รัฐอำนวยความสะดวกบางอย่าง เช่น มีอินเทนซีฟบางอย่างสำหรับคนที่ปฏิบัติดีอยู่แล้ว ในต่างประเทศเขาทำเยอะ เช่น เรื่องการลดภาษี การให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่ไม่ติดขัด สิ่งเหล่านี้ภาครัฐทำได้ แต่ยังไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ในประเทศไทยเท่าที่ควร

ส่วนภาคประชาสังคมก็มีกิจกรรมแบบนี้ที่เรียกว่า”ไมโครสเกล”ค่อนข้างเยอะ และทำงานเชื่อมโยงกับองค์กรระหว่างประเทศจำนวนมากเพื่อที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพียงแต่ยังไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนให้การทำงานขยายวงกว้างมากขึ้น

รศ.ดร.โสภารัตน์ กล่าวว่า ถ้ามองในแง่ของบทบาทความสำคัญของภาคส่วนต่างๆ คงต้องไปพร้อมๆ กัน เพียงแต่ตัวขับเคลื่อนสำคัญคงจะเป็นระดับนโยบาย เพราะระดับล่างค่อนข้างให้ความสำคัญแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเอกชน ภาคประชาสังคม แต่ประชาชนในแง่ของผู้บริโภคอาจยังมีความรู้ค่อนข้างน้อย อาจยังมีความสนใจไม่มากนัก ก็ต้องมีการสื่อสาร ซึ่งการจะปรับเปลี่ยนต่างๆ ก็ต้องอาศัยกลไกการทำงานของภาครัฐ

ส่วนการจะให้นักการเมืองให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งมักจะถูกจัดลำดับความสำคัญอยู่ท้ายๆ ก็เป็นเรื่องค่อนข้างยาก เพราะนักการเมืองโดยทั่วไปจะไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องที่คิดว่าเขาไม่ได้ประโยชน์ ประเทศไทยยังขาด Political Commitment เรื่องสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ผู้นำของเราไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนัก

โดยเฉพาะทำให้มาตรการ หรือกลไกต่างๆ ของภาครัฐที่ออกมานั้นเอื้อต่อการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม จะเห็นว่านโยบายหรือมาตรการหลายๆ อย่างดูเหมือนจะใช่ แต่มันก็ขัด แล้วไปไม่ถึงปลายทาง เวลารัฐบาลทำงานหรือออกมาตรการต่างๆ ออกมา จะไม่ครบวงจรเหมือนประเทศอื่น ซึ่งประเทศอื่นเขาทำครบวงจรและประสานไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าภาครัฐ ฝ่ายค้าน กลไกของระบบราชการในหน่วยงานต่างๆ

แต่ในประเทศไทย รัฐบาลไปทาง ฝ่ายค้านไปอีกทาง ราชการไปอีกทาง เวลาทำงานต่างคนต่างทำตามโครงสร้างของอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของตนเอง ทำงานแบบแยกส่วน ทั้งที่เรื่องสิ่งแวดล้อม หลายๆ ส่วนต้องทำงานไปพร้อมกัน ในประเทศไทยทำงานบูรณาการด้วยกันไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็ไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร

รศ.ดร.โสภารัตน์ ยกตัวอย่างประเทศที่เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องของเศรษฐกิจสีเขียว เช่น เยอรมนีให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ในเชิงนโยบาย ประกาศเป็นยุทธศาสตร์ แล้วมีการปรับประเด็นสำคัญอย่างชัดเจนว่าจะให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร แล้วทำให้สอดคล้องกันทั้งระบบ ดูผลกระทบให้ครบทุกด้าน คิดให้ครบทั้งวงจร แต่บ้านเราเวลาทำอะไร จะคิดแค่ส่วนหนึ่งแล้วก็หยุด ส่วนที่เหลือก็ต่างคนต่างทำ หรือใครอยากทำอะไรก็ทำ แต่ไม่ได้มาเชื่อมร้อยกัน เรื่องเดียวกันแต่ถ้าไม่ครบวงจร ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้

ส่วนญี่ปุ่นเน้นความร่วมมือกับการทำงานกับภาคอุตสาหกรรมเยอะมาก เป็นโมเดลที่ดี เป็นการร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน ภาคเอกชนอยากทำอะไร ภาครัฐก็จะเสริม ภาครัฐไม่ได้ทำบทบาทเหมือนบ้านเรา ที่รัฐเป็น Regulator เวลาทำงานกับเอกชน แต่ญี่ปุ่น เวลาทำงานกับเอกชน ภาครัฐจะเป็น Facilitator ทั้งที่ความจริงภาคเอกชนไทยพร้อมมาก และทำอะไรไปเยอะมากเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม พร้อมถึงขนาดรัฐบอกมาว่าอยากได้อะไร แล้วเขาจะช่วยทำ แต่รัฐไม่มีแพลตฟอร์มในการดึงเอกชนเข้ามาร่วม

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะเป็นหน่วยสำคัญระดับย่อย แต่เป็นกลไกสำคัญที่จะเชื่อมโยง ซึ่งท้องถิ่นของญี่ปุ่นเข้มแข็งและทำงานได้ดี ขณะที่รัฐก็เอื้อในการทำงานของท้องถิ่นเยอะมาก ส่วนประเทศไทยยังมีข้อด้อยอยู่ในเรื่องนี้

ที่เกาหลีใต้ ผู้นำให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก และเป็นโมเดลสำคัญในการวางยุทธศาสตร์ที่กำหนด ซึ่งไม่ใช่แค่มียุทธศาสตร์ แต่เขาจะมีมาตรการและนโยบายชัดเจน เช่น ลงทุนโครงสร้างขนาดใหญ่ในเรื่องของ Infrastructure ในเรื่อง Green ไปเลย ซึ่งก็จะเอื้อต่อการขับเคลื่อนในเรื่องนี้

สำหรับข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจสีเขียวในบ้านเรา รศ.ดร.โสภารัตน์ กล่าวว่า 1.ต้องมี Political Commitment ไม่ว่าการเมืองจะเปลี่ยนอย่างไร แต่สิ่งเหล่านี้ควรจะต้องคงอยู่ และการที่จะเกิดได้ ผู้นำต้องเปลี่ยน Mindset ต้องคิดนอกกรอบ ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องต่างๆ ที่เชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะการมอง 3 มิติเรื่องของความยั่งยืนให้ได้ ต้องคิดทำงานแบบครบวงจร แล้วออกมาตรการที่มีความสำคัญต่อประเทศ

2. กลไกการทำงานของภาครัฐที่เป็นปัญหาทุกวันนี้ อยากให้เปลี่ยนวิธีคิด รวมทั้งกระบวนการในการทำงาน เรามักจะแก้ปัญหาของประเทศด้วยการตั้งคณะกรรมการ ซึ่งต้องเลิกได้แล้ว เพราะเราเรียนรู้มา 10-20 ปีแล้วว่าการแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ไม่ประสบความสำเร็จ คงต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานแบบใหม่

และอีกส่วนที่สำคัญคือ การพยายามดึงให้ภาคส่วนอื่นๆ เข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพราะการทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อม แม้ภาครัฐจะเป็นหัวหอก แต่ก็มีข้อจำกัดหลายอย่างที่ทำให้ภาครัฐทำได้ไม่เต็มที่ ซึ่งการจะให้ภาคส่วนอื่นมีบทบาทมากขึ้น ภาครัฐก็ต้องปรับกฎระเบียบให้เอื้อต่อการทำงานมากขึ้น ยืดหยุ่นมากขึ้น คล่องตัวมากขึ้น ทำงานง่ายขึ้น และมีแรงจูงใจเพียงพอที่ทำให้เขาอยากเข้ามาทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษี หรืออินเทนซีฟ ควรทำอย่างยิ่ง

และในฐานะผู้บริโภคคนหนึ่งในสังคม ในยุคที่โลกเปลี่ยนไปเยอะ เราต้องเลือกสิ่งที่ดี ที่ถูกต้องได้ และการเลือกนั้นควรมีเหตุผลเพื่อให้เราสามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้ อยากให้สังคมไทยไม่ใช่สังคมที่ตามกระแส เฉพาะเรื่องที่หวือหวาชั่วครั้งชั่วคราว แต่อยากให้เป็นสังคมที่ตามกระแสในเรื่องดีๆ อยากให้เราเริ่มต้นด้วยตัวของเราเองในส่วนที่เราทำได้ ถ้าเราอยากเห็นสิ่งที่ดี และอยากทำให้สิ่งนั้นดีขึ้น เราจะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงตัวเราเอง

@

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น