“ชิมช้อปใช้” กระตุ้นกำลังซื้อได้แค่ไหน? ใช้พันบาทอย่างไรให้คุ้ม

ภาพจาก ชิมช้อปใช้.com

คนแห่ลงทะเบียน”ชิมช้อปใช้” รองประธาน สทท.ให้แต่ละจังหวัดเร่งประชาสัมพันธ์ของดีในจังหวัดตัวเอง พร้อมชี้ช่อง ประชาชนซื้อทัวร์จากบริษัทนำเที่ยวในจังหวัดที่ลงทะเบียนไว้ แต่เลือกแพกเกจไปเที่ยวจังหวัดอื่นได้

หลังจากรัฐบาลออกมาตรการ “ชิมช้อปใช้” ส่งเสริมการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภายในประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี โดยให้ประชาชนที่สนใจลงทะเบียนใช้สิทธิผ่านเว็บไซต์ www.ชิมช้อปใช้.com ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย. -15 พ.ย. 2562 ซึ่งจะเปิดรับลงทะเบียนตั้งแต่เวลา 00.01 น. และจะปิดรับเมื่อคนลงทะเบียนครบ 1 ล้านคนในแต่ละวัน เพื่อรับเงินคนละ 1,000 บาท ผ่านแอปพลิเคชั่น“เป๋าตัง”

ปรากฏว่ามีประชาชนสนใจแห่ลงทะเบียนเป็นจำนวนมาก ทำให้ยอดเต็ม 1 ล้านคน ในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งผู้ที่ลงทะเบียนไม่ทัน จะต้องไปใช้สิทธิลงทะเบียนใหม่ในวันถัดไป ล่าสุด วันนี้ (27 ก.ย.) ซึ่งเป็นวันที่ 5 ของการลงทะเบียน มีผู้ลงทะเบียนครบ 1 ล้านคน ภายในเวลา 02.56 น.

ยุทธชัย สุนทรรัตนเวช รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ สทท. และกรรมการบริหาร บริษัท โดม ฮอลิเดย์ แทรเวิล เซอร์วิส จำกัด คาดว่าคนที่ลงทะเบียน”ชิมช้อปใช้” น่าจะครบตามเป้า 10 ล้านคน ใน 10 วัน หรืออาจจะถึงวันที่ 11 เก็บท้ายพวกที่ลงทะเบียนไม่ผ่านเกณฑ์

ยุทธชัย สุนทรรัตนเวช

ซึ่งผู้ที่ลงทะเบียนไม่ผ่านเกณฑ์อาจเกิดจากการกรอกข้อมูลผิด ยุทธชัยแนะนำว่าให้ระวังเวลากรอกบัตรประชาชน โดยเฉพาะตัวเลขด้านหลังบัตรที่ตัวเล็กกว่าด้านหน้ามาก รวมทั้งหมายเลขโทรศัพท์ อีเมล ก่อนจะตกลงขั้นสุดท้ายว่าข้อมูลที่กรอกถูกต้องหรือไม่ เขาจะให้ตรวจสอบก่อน แต่บางคนอาจรีบกรอกเพราะกลัวช้าแล้วหมดสิทธิ เพราะฉะนั้นก่อนกรอกข้อมูล อาจเขียนข้อมูลต่างๆ เตรียมไว้ในกระดาษก่อนเพื่อป้องกันความผิดพลาด แล้วเลือกเวลาลงทะเบียนที่เหมาะสม และอย่าเลือกจังหวัดที่ตนเองมีภูมิลำเนาอยู่

การที่ประชาชนให้ความสนใจมาตรการ“ชิมช้อปใช้”กันมาก ยุทธชัย กล่าวว่า น่าจะมาจากกระแสข่าวของสื่อมวลชนที่พูดถึงเรื่องนี้ตลอด และหน่วยงานภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือ สทน.กระจายข่าวค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะใช้สื่อโซเชียลมีเดีย ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาชนสนใจ รวมทั้งตอนนี้ในกระเป๋าไม่ค่อยมีเงิน ดังนั้น 1,000 บาท จึงมีค่ามาก นอกจากนี้ บางคนเห็นเป็นเรื่องสนุก เป็นเรื่องท้าทายที่จะต้องลงทะเบียนให้ทันก่อนจะเต็ม 1 ล้านคนในแต่ละวัน

ส่วนกรณีที่ประชาชนลงทะเบียนแล้วอาจไม่ไปเที่ยวจริงนั้น ยุทธชัย กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ สทน. ได้คาดการณ์ไว้แล้ว จึงพยายามให้ภาคีเครือข่าย รวมถึงประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดหลายๆ จังหวัดได้เตรียมความพร้อม โดยเข้าไปคุยกับท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด หรือ ททท.จังหวัดต่างๆ ว่าควรจะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้ว่าในจังหวัดตนเองมีของดีอะไร

โดยได้บอกไปแล้วก่อนที่จะลงทะเบียนประมาณหนึ่งสัปดาห์ว่าต้องจูงใจให้คนที่จะตัดสินใจเลือกจังหวัด ได้รู้ว่าจังหวัดที่เขาควรจะไปคือจังหวัดอะไร และให้โปรโมทในลักษณะ”พันเดียวเที่ยวได้ทั้งจังหวัด” แล้วอย่ามองว่าเป็นเพียงเงินพันเดียว เพราะถ้าในครอบครัวมี 6 คน เอาเงินมารวมกันก็ 6,000 บาท

ยุทธชัย กล่าวว่า ถ้าเราเลือกไปเที่ยวที่ จ.นนทบุรี ก็สามารถไปเลือกซื้อแพกเกจทัวร์จากบริษัทนำเที่ยว ที่มีสถานประกอบการตั้งอยู่ใน จ.นนทบุรีได้ และไปเที่ยวในเส้นทางที่อาจไม่ใช่ จ.นนทบุรี แต่เป็น จ.เชียงใหม่ สงขลา หรือตรังก็ได้ เรื่องนี้อธิบดีกรมบัญชีกลางได้บอกไว้แล้วว่า ให้ไปจ่ายกับสถานประกอบการตรงกับจังหวัดที่เลือกไว้ ซึ่งตอนนี้บริษัทนำเที่ยวก็พยายามเอาจุดแข็งนี้มาประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบว่า มาที่บริษัทนำเที่ยวได้เลย เพราะเป็นวันสต็อปเซอร์วิส สามารถส่งต่อไปที่อื่นได้หมด

“อย่างบริษัทโดม ฮอลิเดย์ มีรายการ”วันเดียวเที่ยวนนทบุรีได้ทั่ว” โดยมีรถตู้ไปรับถึงบ้าน พอเข้าเขตนนทบุรีถึงค่อยเอาโทรศัพท์ของท่านมาแตะกับโทรศัพท์ของโดม ฮอลิเดย์ เพราะเขาไม่ให้เรารับชำระเงินนอกพื้นที่นนทบุรี” ยุทธชัย กล่าว

ยุทธชัย กล่าวว่า ตอนนี้รัฐบาลกระตุ้นให้จังหวัดต่างๆ เร่งประชาสัมพันธ์ของดีในจังหวัดของตัวเองให้ประชาชนรู้ เพราะถ้าไม่ป่าวประกาศ แคมเปญที่ชูคำว่า”ท่องเที่ยว” ก็จะกลายเป็นว่าประชาชนไปใช้จ่ายที่ร้านสะดวกซื้อ ร้านธงฟ้า มากกว่าที่จะไปท่องเที่ยว

สำหรับมาตรการ“ชิมช้อปใช้”จะประสบความสำเร็จหรือไม่ อยู่ที่ทุกคนจะต้องระดมจ่ายกัน หากเป็นเช่นนั้นก็น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่ง และปลายปีนี้เราอาจจะรู้สึกดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ครั้งหน้าถ้ารัฐบาลจะทำมาตรการแบบนี้อีก ก็อยากให้ชี้เป้ามาที่บริษัทนำเที่ยวเลย เพราะตอนนี้กลัว“ชิมช้อปใช้” จะไปที่ร้านธงฟ้าเยอะ @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น