Ipoh White Coffee …อัตลักษณ์เมืองกาแฟเอเชีย

เมื่อได้ยินชื่อประเทศ “มาเลเซีย” นักท่องเที่ยวอาจนึกถึงสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องแรกๆ  เช่น ตึกแฝดสูงตระหง่าน ชายหาดสวยงาม ป่าฝนเขียวชอุ่ม หรืออาหารรสเลิศ ทว่าดินแดนหลากวัฒนธรรมประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ มีมากกว่านั้น… มีกาแฟที่มีเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะตัวที่เรียกกันว่า “White Coffee” ถิ่นกำเนิดอยู่ในเมืองเล็กๆ แต่เปี่ยมมนต์เสน่ห์ที่ชื่อ “อิโปห์” (Ipoh)

รสนิยมในการดื่มกาแฟแตกต่างกันในหลายประเทศ แต่สำหรับในมาเลเซีย คนที่นั่นนิยมดื่ม “White Coffee” หรือ “กาแฟขาว” กันมากและนิยมมาช้านานแล้วด้วยอัตลักษณ์ของ “White Coffee” …ที่เมล็ดกาแฟถูกนำมาคั่วไฟพร้อมกับเนยเทียมที่ทำจากน้ำมันปาล์ม เสิร์ฟพร้อมนมข้นหวาน ในถ้วยกาแฟลายดอกไม้ ทำให้“อิโปห์” อดีตเมืองเหมืองแร่ดีบุกในรัฐเปรัคที่ถูกโอบล้อมด้วยอ้อมกอดขุนเขา กลายเป็น 1 ใน 3 เมืองกาแฟแห่งเอเชียที่จัดอันดับโดย “Lonely Planet” นิตยสารท่องเที่ยวชื่อดังระดับโลก  เคียงคู่กับ เชียงใหม่ และโตเกียว

กาแฟขาว นิยมเสิร์ฟในถ้วยเซรามิคสีขาว ตกแต่งลวดลายดอกไม้

ย่าน Old Town ของ “อิโปห์” เป็นแหล่งผลิตกาแฟขาวชั้นเยี่ยมมาเนิ่นนาน… เอาเข้าจริงๆ แล้ว เมืองนี้เองถือเป็นผู้บุกเบิกกาแฟสไตล์ White Coffee ของโลกเลยก็ว่าได้ จวบจนทุกวันนี้ อิโปห์ กลายเป็นเมืองวิถีสโลว์ไลฟ์แนวคลาสสิค ภาพวาด Street Art ของที่นี่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก อาหารรสเด็ดเลื่องชื่อมากมาย ดึงดูดนักท่องเที่ยวแนว “แชะ ชิม ชิลล์” จำนวนมหาศาลในแต่ละปี

แน่นอน…หลังจากจัดการกับ “เป็ดย่าง” หนังกรอบเนื้อนุ่มแทบละลายในปาก หรือ “ข้าวมันไก่” สูตรพิเศษ อันเป็นอาหารจานเด็ดของเมืองนี้แล้ว ก็ต้องสั่ง “กาแฟ” มาดื่มตบท้าย…. ไม่อยากบรรยายเลยครับว่า มันครบเครื่องขนาดไหน!

Koon Kee แบรนด์กาแฟขาวจากเมืองปีนัง

คำว่า White Coffee ไม่ได้หมายถึง เมล็ดกาแฟมีสีขาว แต่หมายถึงวิธีการคั่วเมล็ดกาแฟที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว คิดค้นขึ้นโดยชาวจีนที่อพยพเข้ามาอาศัยยังเมืองอิโปห์ ที่ว่าพิเศษนั้น ก็คือระหว่างการคั่ว จะใช้ไฟอ่อน และใช้ถ่านไม้ มีการนำเนยเทียมหรือมาการีน เข้าไปคลุกผสมกับเมล็ดกาแฟ ทำให้หลังจบการคั่ว เมล็ดกาแฟจะออกโทนสีน้ำตาลอ่อน จึงเป็นที่มาของกาแฟขาว

….ผลที่ติดตามมาเมื่อนำเมล็ดกาแฟไปบด ชง และเสิร์ฟพร้อมนมข้นหวาน ก็คือ กาแฟรสหวานอมขม หอมมัน แต่เข้มข้น …อร่อยไม่ซ้ำแบบใคร และถ้าใครชอบ “กลิ่นเนย” ล่ะก็ เป็นต้องโดนใจแน่ๆ

แม้จะมีข้อมูลหลายชุดเมื่อพูดถึงต้นกำเนิดของกาแฟขาวในเมืองอิโปห์ แต่ส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่า เรื่องราวเริ่มขึ้นในศตวรรษที่ 19 ในย่าน Old Town ของเมือง …ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว มาเลเซียตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และเปรัคก็เป็นรัฐที่ทำเหมืองแร่ดีบุกกันอยู่ มีบริษัทเหมืองแร่ต่างประเทศหลายแห่งเข้ามาตั้งฐานในอิโปห์ พร้อมกับนำวัฒนธรรมตะวันตก และวิถีบริโภคกาแฟที่ชื่นชอบ ติดตัวมาด้วย

แต่เมื่อชาวจีนลองชิมกาแฟสไตล์ยุโรปเข้า ก็รู้สึกประมาณว่า  ทำไมมันขม เข้ม และเปรี้ยว ขนาดนี้ …ช่างไม่ถูกปากจริงๆ

ชาวจีนเหล่านี้เป็นชาวไหหลำ ลงหลักปักฐานสร้างครอบครัวอยู่ในเมืองอิโปห์ แต่ครั้งบรรพชนล่องเรือมายังมาเลเซียในสมัยปลายราชวงศ์ชิง ไม่คุ้นเคยกับรสชาติกาแฟยุโรป  จึงตัดสินใจนำไปปรับเปลี่ยน เพื่อให้เหมาะกับ “รสปาก” ของชาวจีน …การปรับเปลี่ยนมุ่งเน้นไปที่ เทคนิคการคั่วเมล็ดกาแฟ ซึ่งก็ลองผิดลองถูกหลายครั้ง และใช้เวลานานกว่าจะเจอสูตรที่ลงตัว ได้รสชาติกาแฟสมใจปรารถนา…

หลังจากนั้นไม่นาน ความนิยมในกาแฟสไตล์นี้เริ่มขยายตัวออกไป มีการตั้งร้านกาแฟเปิดขายกันเป็นล่ำเป็นสันในเมืองอิโปห์ ก่อนแพร่ขยายออกไปทั่วมาเลเซีย และประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง มีชื่อเสียงรู้จักกันในฐานะ “Malaysia White Coffee” แบรนด์กาแฟสไตล์นี้เกิดขึ้นมากมายหลายยี่ห้อ ดังๆ ก็มี Old Town White Coffee จากอิโปห์เอง และ Koon Kee จากเมืองปีนัง กลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในรูปกาแฟพร้อมดื่ม 3 in 1

อย่างไรก็ตาม ต่อมา ผู้ผลิตบางแบรนด์ได้ถอดน้ำตาลออกมีส่วนผสมเหลือเพียง 2 in 1 คือกาแฟกับครีมเทียม  เมื่อมีการตั้งคำถามกันมากขึ้นเรื่อยๆ ในเรื่องความหวานกับสุขภาพ

Old Town Nanyang เสนอสูตรที่ใส่และไม่ใชน้ำตาล

ขณะที่ร้านกาแฟดั้งเดิมในเมืองอิโปห์ ก็กลายเป็นหนึ่งใน “แม่เหล็ก” ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างประเทศและชาวมาเลเซียเองให้เข้ามาชิม “กาแฟโบราณ” ของเมือง ก่อเกิดวัฒนธรรมการดื่มกาแฟขาวคู่กับขนมปังปิ้งไส้สังขยาและไข่ลวก เป็นอาหารมื้อเช้า…

ในงาน World Expo Shanghai 2010 ประเทศมาเลเซียได้ใช้  White Coffee มาเป็นเครื่องดื่มประจำพาวิลเลี่ยนอย่างเป็นทางการ แสดงสัญลักษณ์ว่านี่คือหนึ่งใน เครื่องดื่มประจำชาติ …ซึ่งปรารถนาใคร่ให้ลองลิ้มชิมรสกัน

Old Town White Coffee เชนร้านกาแฟขาวชื่อดังของมาเลเซีย ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1999

ห้องแถวจีนทรงสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลในเมืองอิโปห์ เป็นสถานที่ตั้งร้านกาแฟเก่าแก่สไตล์ชาวไหหลำมากมายหลายร้านด้วยกัน บางรายเปิดขายกันมาหลายชั่วอายุคนแล้ว ที่มีชื่อเสียงรู้จักกันดี ก็ได้แก่  ร้าน Sin Yoon Loong Coffee Shops (เปิดในปี ค.ศ. 1937), Nam Heong White Coffee และ Chang Jiang White Coffee ซึ่งก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันไม่รู้จบว่า กาแฟขาวจากร้านไหนดีที่สุด?

ท่านผู้อ่าน อยากรู้ว่ากาแฟขาวจากร้านไหนอร่อยถูกปากถูกใจที่สุด ต้องลองไปเที่ยวเมืองอิโปห์กันดูครับ…

facebook : CoffeeByBluehill


ตลาดกาแฟพิเศษ  เทรนด์ใหม่ที่เติบกล้าในมาเลเซีย…
มาเลเซียปลูก “กาแฟ” มาหลายศตวรรษแล้ว… ด้วยพรมแดนที่ติดกับอินโดนีเซีย สิงคโปร์ และไทย ทำให้มาเลเซียตั้งอยู่ในใจกลางพื้นที่ป่าฝนเขตร้อนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เมื่อเทียบกับพืชเศรษฐกิจยอดนิยมอีกชนิดอย่าง “ชา” ที่อังกฤษ นักล่าอาณานิคมในยุคนั้น นำเข้าไปปลูกจนเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ในมาเลเซีย เพื่อส่งกลับเข้าไปยังสหราชอาณาจักรแทนการนำเข้าจากจีนนั้น ไร่กาแฟในมลายูแทบจะไม่มีการพูดถึงกันเลย แม้จะมีการปลูกกาแฟในมาเลเซียมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1875 ก็ตาม

ทุกวันนี้ มาเลเซียมีไร่กาแฟอยู่ในราว 25,000 เฮกตาร์ ส่วนใหญ่อยู่ในรัฐกลันตัน, เคดาห์, ตรังกานู, สลังงอร์ และมะละกา รวมไปถึงในรัฐซาบาห์ ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือสุดของเกาะบอร์เนียว

การผลิตกาแฟของมาเลเซียโดยรวมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 160,000 กระสอบ ปริมาณไม่ถึงหนึ่งหมื่นตัน ถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับตัวเลขผลผลิตกาแฟทั่วโลกที่ 160 ล้านกระสอบ ในปี 2561

สายพันธุ์กาแฟยอดนิยมของโลกอย่าง โรบัสต้า และ อาราบิก้า มีพื้นที่ปลูกน้อยมากในมาเลเซีย เทียบกับสายพันธุ์ ลิเบอริก้า ที่มีสัดส่วนถึง 95% ซึ่งสายพันธุ์นี้ไม่นิยมปลูกเพื่อการค้า เนื่องจากให้รสขมมากกว่าสายพันธุ์ยอดนิยม แต่ก็สามารถนำมาผสมกับเมล็ดกาแฟสายพันธุ์อื่น เพื่อสร้างความแตกต่างทั้งในด้านกลิ่นและรสชาติ

…ผลผลิตของกาแฟชนิดนี้มีเพียง 2% ของกาแฟทั้งโลกเท่านั้น แน่นอนว่ามีมาเลเซียเป็นแหล่งผลิตรายใหญ่ของกาแฟลิเบอริก้า

คนในวงการกาแฟมาเลเซีย เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการเพิ่มประสิทธิภาพวิธีการปลูกกาแฟ รวมถึงเทคนิคการแปรรูป หวังก้าวเข้าสู่หนึ่งในผู้เล่นของตลาด specialty coffee (กาแฟพิเศษ) เพื่อสนองตอบต่อความต้องการทางการตลาดที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ราคากาแฟเองก็ปรับตัวขึ้นเมื่อเทียบกับสินค้าทางการเกษตรตัวอื่นๆ
เหมือนในอีกหลายๆ ประเทศอาเซียน วัฒนธรรมการบริโภคกาแฟเริ่มมีอัตราเติบโตสูงในมาเลเซีย เชนกาแฟสมัยใหม่ยุคออนไลน์ครองโลกเปิดตัวกันเป็นว่าเล่นในกรุงกัวลาลัมเปอร์ และตามหัวเมืองใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น Coffee Bean & Tea Leaf, San Francisco Coffee  และ Starbucks จากสหรัฐ หรือ Gloria Jean’s Coffees และ Dome จากออสเตรเลีย

บรรยากาศร้านกาแฟ Dome จากออสเตรเลีย ในกรุงกัวลาลัมเปอร์

ร้านกาแฟยุคใหม่ ได้รับความนิยมมากโดยเฉพาะในหมู่คนหนุ่มสาวที่ชอบไปนั่งแช่จิบเครื่องดื่มอย่าง ลาเต้ และคาปูชิโน  เล่นไวไฟ สนทนากับเพื่อนๆ ในบรรยากาศเย็นสบาย

ความนิยมในการดื่มกาแฟและธุรกิจกาแฟที่กำลังเติบโต  เป็นปัจจัยสนับสนุนแนวคิดที่ว่า ถึงเวลาแล้วที่มาเลเซียจะต้องหันมาผลิตกาแฟเพื่อป้อนตลาดในประเทศ ผ่านทางการปรับปรุงคุณภาพกาแฟ เพิ่มประสิทธิภาพขั้นตอนการผลิต และขยายความหลากหลายของสายพันธุ์กาแฟ …มากกว่าที่จะมุ่งเน้นเพื่อการส่งออกเชิงพาณิชย์เพียงอย่างเดียว

ไม่แน่ใจนัก ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เราอาจจะได้เห็นกาแฟในมาเลเซีย ขยับสถานะจากพืชเศรษฐกิจอันดับรองๆ ขึ้นมาเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่สำคัญ เช่นเดียวกับในประเทศไทยที่หลายฝ่ายตั้งเป้าพัฒนากาแฟพิเศษให้ก้าวขึ้นสู่ระดับโลก…@


facebook : CoffeebyBluehill

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น