ธุรกิจควรมีหนี้เท่าใด? ที่ไม่เกินตัว

หลายคนคงเคยได้ยินคำพูดที่ว่า “การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ” แต่สำหรับการทำธุรกิจแล้ว “การไม่มีหนี้” เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก

มงคล ลีลาธรรม อดีตซีอีโอ SME Development Bank กล่าวว่า หนี้แบ่งออกเป็น 2 พวก คือ หนี้ดีกับหนี้ไม่ดี สำหรับหนี้ดี คือหนี้ที่เอาไปใช้ลงทุนในทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้ ส่วนหนี้ไม่ดี คือหนี้ที่เอามาใช้แล้วไม่ก่อให้เกิดรายได้

เช่น ถ้าเราไปซื้อของมา เอาของไปขายแล้วได้กำไร ได้รายได้ ก็เรียกว่าเป็นหนี้ดี ก็แต่ถ้าเราไปซื้อของมา แล้วของขายไม่ได้ ก็เป็นการลงทุนที่ผิด เป็นหนี้ที่ไม่ดี เป็นภาระที่เราต้องมาชดเชย

หรือ ถ้าเราไปซื้อรถยนต์ ปกติรถยนต์พอใช้งานได้ ราคาที่กรมสรรพากรให้หักเป็นรายจ่ายก็คือไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยให้หักภายใน 5 ปี ตกปีละ 2 แสนบาท ถ้าธุรกิจไปซื้อรถยนต์ที่ใช้งานเกิน 1 ล้านบาท ก็กลายเป็นหนี้ที่ไม่ดีแล้ว เพราะจะไม่สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายประกอบในธุรกิจได้ เป็นการก่อหนี้ที่เกินความจำเป็น

สิ่งสำคัญที่ต้องทบทวนเมื่อมีหนี้ คือ 1.ทัศนคติ ซึ่งสำคัญมาก ถ้าเริ่มต้นก่อหนี้แล้วบอกว่ารู้สึกว่ามีเครดิตดี ก็ถือว่าไม่ค่อยดี แต่ต้องมีทัศนคติว่ามีหนี้แล้วต้องชำระ เพราะเป็นข้อตกลง เป็นคำมั่นสัญญา และเป็นประวัติเรา ถ้าประวัติเรามีหนี้ แล้วค้างชำระ หรือชำระไม่ตรงเวลา ก็จะขาดความสามารถในการก่อหนี้เพิ่มเติมอีก จะทำให้ขาดโอกาสในการทำธุรกิจตอนที่เราเติบโต หรือตอนที่เราขาดสภาพคล่องก็จะขาดคนที่จะสนับสนุน

2.การทำบัญชีรับจ่าย โดยแยกทรัพย์สิน หนี้สิน และทุน ออกจากกัน เพื่อเราจะได้รู้ว่าเรามีรายได้เท่าไร รายจ่ายเท่าไร

มงคล กล่าวว่า ในการก่อหนี้อย่าก่อหนี้เกิน 40% ของรายได้สุทธิที่เราเหลืออยู่ เพราะเราจะต้องชำระหนี้ไม่เกิน 40% ของรายได้ เช่น ถ้ามีรายได้ 5 หมื่นบาท ก็ต้องชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยไม่เกิน 40%ของรายได้ ก็คือไม่เกิน 2 หมื่นบาท

สาเหตุที่กำหนดไว้ 40% เนื่องจากรายได้ของเราอาจไม่คงที่ เพราะอาจเกิดภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม หรืออาจเกิดเรื่องที่คาดไม่ถึง เช่น การเมือง การค้าต่างประเทศ ซึ่งคนตัวเล็กทั้งหลายจะควบคุมปัจจัยเหล่านี้ไม่ได้เลย โดยความเสี่ยงของธุรกิจที่เราควบคุมไม่ได้นั้นมีถึง 95% ดังนั้น ต้องก่อหนี้ไม่เกิน 40% ที่เราจะผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ส่วนอีก 60% เอาไว้ใช้จ่าย ชีวิตก็จะมีความปลอดภัยสูง

สำหรับแหล่งที่มาของหนี้ในการทำธุรกิจ แบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ 1.กู้หนี้บัตรเครดิต ซึ่งดอกเบี้ยแพงมาก 18% และกู้ได้เพียง 2 แสนบาท 2.กู้สถาบันการเงินของรัฐ เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน เอสเอ็มอีแบงก์ เอ็กซิมแบงก์ ซึ่งดอกเบี้ยแพงที่สุดคือ 7% แล้วให้ผ่อนได้ถึง 7 ปี สามารถกู้ได้ถึง 1 ล้านบาท 3.กู้เป็นอาคารพาณิชย์ เป็นที่ตั้งสำนักงาน จะผ่อนได้ถึง 30 ปี สมมติดอกเบี้ย 7% เท่ากัน ก็จะกู้ได้ตึกแถวในมูลค่าประมาณ 2 ล้านบาท

หลายคนบอกว่าซื้อตึกแถว 2 ล้านบาท คุ้มมาก เพราะผ่อน 30 ปี แต่ถ้าคำนวณดอกเบี้ยเป็น ระหว่างที่ผ่อน 30 ปี ค่าดอกเบี้ยอย่างเดียวประมาณ 2.8 ล้านบาท กลายเป็นว่าตึกแถวหลังนี้ราคา 4.8 ล้านบาท

ในอนาคตตึกแถวที่เราซื้อมา ราคาจะต้องเพิ่มขึ้นเป็น 1.8 เท่า ถึงจะได้กำไร โดยทั่วไปส่วนใหญ่ราคาที่ดินจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2.5 เท่า ถ้าซื้อในสภาพแวดล้อมดี ทำเลดี อนาคตก็ไม่ขาดทุน แต่ซื้อในทำเล ในสภาพแวดล้อมไม่ดี ยิ่งนานวันราคาก็ยิ่งตก หรือไม่มีใครมาซื้อ เพราะฉะนั้น ต้องระวังการก่อหนี้เรื่องพวกอาคารหรือสถานที่

มงคลไม่แนะนำแหล่งเงินกู้จากบัตรเครดิต เพราะสังเกตเห็นชัดเจนว่าจะต่างจากหนี้ธุรกิจถึง 5 เท่า เสียดอกเบี้ยแพง วงเงินน้อย แต่หลายคนก็ไม่สามารถกู้ธุรกิจได้ ถ้าไม่ทำบัญชีรับจ่าย และหลายคนเริ่มต้นใช้บัตรเครดิตในการทำธุรกิจ ทำให้เสียโอกาสในการกู้สินเชื่อธุรกิจที่ได้เงินถึง 1 ล้านบาทไป เพราะเป็นหนี้บัตรเครดิตแล้ว บางทีอาจชำระล่าช้า ทำให้ประวัติเสีย ไม่สามารถกู้ธนาคารรัฐที่มีดอกเบี้ยต่ำได้ ดังนั้น ต้องตระหนักว่าการมีหนี้เป็นเรื่องที่ต้องวางแผน แล้วต้องมีกฎเกณฑ์ชัด ต้องทำบัญชี จึงจะช่วยได้เยอะ และอย่าก่อหนี้เกิน 40% ของรายได้สุทธิที่เหลืออยู่ ซึ่ง 40%นั้นยังเพิ่มเติมได้อีกถ้ามีความจำเป็น

ผู้ประกอบการที่มีหนี้อยู่แล้ว และได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ต่างๆ เช่น น้ำท่วมที่ จ.อุบลราชธานี สิ่งที่ต้องเตรียมการ คือ เก็บเอกสารที่เกี่ยวข้อง ถ่ายรูปเก็บตัวอย่างสินค้าที่โดนน้ำท่วมไว้ให้หมด จดบันทึกไว้ให้ละเอียด แล้วก็ดูว่าอยู่ในเขตพื้นที่ที่ประกาศเป็นเขตน้ำท่วมหรือไม่ ถ้าไม่อยู่ในเขตที่ประกาศ ก็ยิ่งต้องทำรายละเอียดให้ชัดเจน เพื่อจะได้เป็นเอกสารแสดงต่อธนาคารเพื่อขอความช่วยเหลือต่อไป

ซึ่งการขอความช่วยเหลือมี 3 ระดับ ตามความหนักหนาของภัยพิบัติที่ได้รับ คือ 1.การขอผ่อนชำระที่น้อยลงกว่าเดิม
2.ขอผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ย ส่วนเงินต้นขอระงับไว้ก่อน 3.หยุดพักชำระหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งระยะเวลาที่ธนาคารจะผ่อนปรนให้ก็มีตั้งแต่ 3 เดือน 6 เดือน 12 เดือน

นอกจากนี้ ธนาคารยังมีเงินฉุกเฉิน ตั้งแต่ 5 หมื่นบาท 5 แสนบาท ไปจนถึง 2 ล้านบาท ที่สามารถกู้ใหม่เพื่อไปฟื้นฟูกิจการได้ ซึ่งหลักฐานต่างๆ เป็นเรื่องสำคัญ ในอดีตธุรกิจเคยมีรายได้ รายจ่าย ทรัพย์สิน หนี้สิน ทุน เป็นอย่างไร ถ้าทำบัญชีรับจ่ายไว้ ธนาคารก็พร้อมจะพิจารณา และพิจารณาได้เร็วภายในเวลา 7 วัน 15 วัน ทำให้ไม่เสียโอกาสในการทำธุรกิจหลังน้ำท่วม สามารถพลิกจากวิฤติเป็นโอกาส อย่าท้อถอย อย่าร้องไห้ ต้องตั้งสติให้ได้ สำคัญที่สุดคือการจดบันทึกต่างๆ บัญชีรับจ่าย

“หนี้ไม่ได้เป็นอะไรที่น่ารังเกียจ หนี้บางครั้งเราก็ต้องกู้ยืม เพื่อจะให้มาก่อให้เกิดรายได้ แล้วในช่วงวิกฤตินี้ เราก็สามารถเพิ่มหนี้ได้ แล้วก็มาเพิ่มรายได้กลับมาให้เราใหม่ได้เช่นกัน” มงคล กล่าว

@

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น