เทคโนโลยี “Disrupt” นี่ดุนะ SME จะไหวหรือ?

เอสเอ็มอีต้องเรียนรู้ตลาดออนไลน์ ต้อง”กล้าทำ กล้าลอง” สู้กับเทคโนโลยี “Disrupt” เพื่อความอยู่รอด

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป
ในโลกยุคดิจิทัล ทำให้ธุรกิจหลายรายได้รับผลกระทบจากการถูก Disrupt

บราลี อินทรรัตน์ ที่ปรึกษาธุรกิจสื่อสารการตลาดและการตลาดออนไลน์ กล่าวว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจะถูก Disrupt ได้แก่ 1.กลุ่มที่สินค้าและบริการที่ไม่ตอบโจทย์ ตกยุคไปแล้ว เช่น เครื่องส่งแฟกซ์ 2.กลุ่มสินค้าที่มีผู้ประกอบการรายใหญ่ หรือรายใหม่ที่ทุนหนากว่า เทคโนโลยีมากกว่า เข้ามากลืนไปทั้งตลาด เช่น คอมมูนิตี้มอลล์ ร้านสะดวกซื้อ ทำให้ร้านค้าเล็กๆ ที่ขายสินค้าใกล้เคียงกัน อาจต้องปรับตัวไปทำอย่างอื่น

3.กลุ่มเจ้าของธุรกิจที่ไม่ได้สัมผัสหรือเล่นออนไลน์เลย โดยเฉพาะกลุ่มเบบี้บูม หรือ อายุ 50 ปีขึ้นไป เพราะเขามองว่า
การเล่นไลน์ เล่นเฟซบุ๊ก เป็นการเสียเวลาทำมาหากิน เป็นเรื่องของเด็กๆ คนรุ่นใหม่ เอสเอ็มอีบางกลุ่มที่คิดแบบนี้ จะเสียโอกาสในการเปลี่ยนแปลงตัวเองให้สนุกกับการเล่นออนไลน์ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่เล่นแชตสนุกกับเพื่อนในกลุ่มเท่านั้น แต่เขาจะมองไม่ออกว่าสินค้าหรือบริการของเขาจะขึ้นไปอยู่บนออนไลน์ได้อย่างไร

4.กลุ่มที่ไม่มีทายาทมารับช่วงธุรกิจต่อ เช่น ร้านโชว์ห่วย ร้านอาหาร งานประดิษฐ์ต่างๆ ทำให้การต่อยอดหายไป

ส่วนกลุ่มธุรกิจที่มาแรงจะเป็นพวกกลุ่มเจนวาย เจนเอ็กซ์ ลงไป และเป็นกลุ่มที่ต่อยอดจากธุรกิจจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ เช่น คุณแม่ทำน้ำพริก ก็ขยายช่องทางการจัดจำหน่าย โดยขายออนไลน์ และทำเดลิเวอรี่

บราลี อินทรรัตน์

บราลี กล่าวว่า เจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอีและโอทอปหลายรายยังไม่มีความรู้เรื่องตลาดออนไลน์ ตนเองจึงไปสอนเรื่องการตลาดออนไลน์ต่างๆ เรื่องการโพสต์ขายของบนไทม์ไลน์ หรือโพสต์เฟซบุ๊ก มาร์เก็ตเพลส หรือใช้แพลตฟอร์มออนไลน์บางอย่างเข้ามาช่วย เพื่อให้มีช่องทางการตลาด

โดยจะสอนตั้งแต่การโพสต์บนเพจ การตั้งค่าเพจให้ทำงานได้มากขึ้นกว่าการเปิดเพจปกติ การเขียนคอนเทนต์ การถ่ายรูป เพราะการจะโพสต์ขายของ ต้องถ่ายรูปให้สวย การใช้แอปพลิเคชั่น การตัดต่อภาพ แต่งภาพ ทำคลิป การโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ไทม์ไลน์ อินสตาแกรม ใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการทำการตลาด ซึ่งก็ช่วยให้เขามีออเดอร์ มีคนเข้ามาสอบถาม

การจะทำตลาดออนไลน์นั้น อันดับแรก จะต้องหาจุดเด่นของสินค้าเรา จะต้องรู้ว่าเรามีคู่แข่งหรือไม่ ต้องรู้จักคู่แข่ง เขาทำอะไร ใช้ช่องทางการตลาดตรงไหน จัดจำหน่ายไปทางไหน สินค้าเราแตกต่างจากคู่แข่งอย่างไร 2.จะต้องหากลุ่มลูกค้าตัวเองให้เจอ เช่น ไปยิงแอดเฟซบุ๊ก ก็ต้องรู้ว่ากลุ่มลูกค้าของเราเป็นใคร

บราลี กล่าวว่า บางคนอาจจะขายดีทางออฟไลน์ มีลูกค้าประจำ ก็ให้ทำต่อไป แต่ก็อาจลองขยับไปบนออนไลน์ เพราะเป็นช่องทางการตลาดใหม่ๆ ที่ไม่ต้องลงทุนเปิดหน้าร้าน ไม่ต้องจ้างพนักงาน ลงทุนไม่เยอะ แต่สามารถขยายปีกไปอีกหนึ่งวิธีการ

ประเด็นสำคัญคือการเลือกแพลตฟอร์มการตลาด ซึ่งแพลตฟอร์มหลักๆ ก็คือ เฟซบุ๊ก ไลน์ออฟฟิเชียลแอคเคาท์ ยูทูป
ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม การเลือกยิงแอดเฟซบุ๊ก ก็คือการหาฐานลูกค้าใหม่ๆ จากการที่ชอบเหมือนกัน อินสตาแกรมจะเป็นเรื่องตลาดพรีเมียม ภาพต้องสวย เป็นการแชร์มูฟเมนต์ แชร์เรื่องราวต่างๆ แชร์ประสบการณ์การใช้ชีวิต ส่วนไลน์ออฟฟิเชียลแอคเคาท์ จะเหมาะกับกลุ่มคนที่มีลูกค้าประจำ เป็นการดูแลลูกค้า ทำกิจกรรมต่างๆ

แพลตฟอร์มแต่ละอย่างจะมีบุคลิกที่แตกต่างกัน ต้องรู้ว่าจริตของคนบนแพลตฟอร์มนั้นเป็นอย่างไร ก็ต้องเลือกใช้ให้
เหมาะสมกับสินค้าเรา และความถนัดของเรา

บราลี กล่าวว่า การจะปรับตัวนั้นสิ่งที่จะต้องมี คือ 1.ต้องกล้าทำ กล้าลอง 2. ต้องทำอย่างต่อเนื่อง แล้ววัดผลด้วยตัวเอง เพราะการที่เรียนรู้ ลงมือทำ และปรับใช้ จะทำให้ได้เจอคำตอบด้วยตัวเอง และพัฒนาสินค้าไปเรื่อยๆ จนกว่าจะใช่ในที่สุด สุดท้ายเป็นสิ่งที่สำคัญมาก การจะทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีของเราอยู่รอด ก็คือการพัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับเอสเอ็มอีบางรายที่อยากทำออนไลน์ แต่ไม่รู้จะขายสินค้าอะไร ทำไม่เป็น และไม่รู้จะเริ่มตรงไหน มีคลาสสอนแนะนำแพลตฟอร์มออนไลน์ครบวงจร เรียน 3 ชั่วโมง เรียนฟรี โดยเข้าไปที่ www.bgdigitalsolution.com/smartonline และลงทะเบียนเลือกเรียนได้ หรือสอบถามคุยที่ line กดลิงก์  http://nav.cx/iel6H1M หรือโทรติดต่อตนเอง 084-1465665

“เอสเอ็มอีต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด เพราะ Disrupt ดุมาก ถ้าเราไม่สู้ ก็อาจพังพาบได้ ก็ขอเอาใจช่วยทุกราย และหากอยากปรึกษาพูดคุยก็ติดต่อมาได้” บราลี กล่าว

@

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น