ธุรกิจคราฟท์เบียร์ มาแรง! แต่ทำไมคนไทยผลิตในเมืองไทยไม่ได้?

ด้วยข้อจำกัดของกฎหมายทำให้ผู้ผลิตรายย่อยต้องไปผลิต”คราฟเบียร์”ในต่างประเทศ เรียกร้องให้ปรับปรุงกฎหมายเอื้อต่อการผลิตคราฟเบียร์ในประเทศ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ

“เบียร์”เป็นธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีมูลค่ามหาศาล โดยในปี 2560 มูลค่าตลาดเบียร์ทั่วโลกอยู่ที่ 19.47 ล้านล้านบาท ขณะที่มูลค่าตลาดเบียร์ในประเทศไทยอยู่ที่ 1.8 แสนล้านบาท แต่จะเห็นได้ว่าในประเทศไทยยังมีผู้ผลิตรายใหญ่เพียงไม่กี่เจ้า ส่วนผู้ผลิตรายเล็กก็ต้องออกไปตั้งฐานการผลิตที่ต่างประเทศ เนื่องด้วยข้อจำกัดของกฎหมายในประเทศไทย

กาญจน์ เสาวพุทธสุเวช กรรมการผู้จัดการ บริษัท กราวด์ คอนโทรล จำกัด เจ้าของคราฟเบียร์ Space Craft ซึ่งออกไปผลิตเบียร์ที่ประเทศกัมพูชา กล่าวว่า กฎหมายบ้านเราระบุว่าถ้าจะทำเบียร์บรรจุขวดหรือกระป๋อง
ขั้นต่ำของโรงผลิตจะอยู่ที่ 10 ล้านลิตรต่อปี ทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ส่วน Brewpub คือผลิตในสถานที่นั้น และขายในสถานที่นั้น ห้ามบรรจุใส่อะไรออกไปข้างนอก ผลิตขั้นต่ำคือ 1 แสนลิตรต่อปี แต่ไม่เกิน 1 ล้านลิตร

ดังนั้น การจะผลิตให้ได้อย่างต่ำ 10 ล้านลิตรต่อปี จึงเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ผลิตรายเล็ก กาญจน์จึงเลือกที่จะไปลงทุนในต่างประเทศ

“โดยเซ็นสัญญากับโรงเบียร์ที่เราจะให้เขาผลิต โดยไปใช้เครื่องจักรของเขา แต่สูตรเป็นของเรา จากนั้นบรรจุขวดเข้ามาขายในประเทศไทย แล้วเสียภาษี เหมือนเบียร์อิมพอร์ตที่มาจากประเทศต่างๆ” กาญจน์ กล่าว

กาญจน์ เสาวพุทธสุเวช

ตลาดเบียร์ในบ้านเราที่เป็นอุตสาหกรรมใหญ่ ส่วนใหญ่จะเป็น“ลาเกอร์เบียร์” ส่วน“คราฟเบียร์”ที่กาญจน์มองว่า”คราฟเบียร์”คือศิลปะแขนงหนึ่ง ที่ใส่ใจทุกรายละเอียดในการผลิต ใช้วัตถุดิบชั้นดี ใช้ทุกอย่างที่มีคุณภาพในการผลิต ซึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกาจะระบุไว้ว่าคราฟเบียร์จะต้องผลิตไม่เกินเท่าไรต่อปี ในบ้านเราตลาดคราฟเบียร์มูลค่าจะอยู่ที่ประมาณ 300 ล้านบาท เป็นคราฟเบียร์ของคนไทยประมาณครึ่งหนึ่ง ที่เหลือนำเข้าจากต่างประเทศ

ตลาดคราฟเบียร์ของไทยมีผู้เล่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยมาพีคเมื่อปลายปีที่แล้วคือมีเบียร์ไทยอยู่ประมาณเกิน 100 SKU แต่ปีนี้จะตกลงมาเหลือประมาณ 80 SKU เนื่องจากสินค้าที่เราไปจ้างเขาผลิตที่โน่น วัตถุดิบจะนำเข้าทั้งหมด ทั้งมอลต์ ฮอปส์ ยีสต์ ยกเว้นน้ำที่ใช้ของเขา ทำให้ต้นทุนค่อนข้างสูง แล้วมีค่าขนส่งด้วย กาญจน์ใช้เป็นตู้คอนเทนเนอร์เย็นขนส่งมาตลอดทาง ทำให้ราคาสูง ซึ่งตลาดของ Space Craft ก็คือเมืองไทย 100% โดยมีขายที่กรุงเทพฯ ภูเก็ต และในภาคอีสาน

กาญจน์มองว่าถ้ากฎหมายในบ้านเราเอื้อให้มีการผลิตคราฟเบียร์ได้มากขึ้น เราก็จะสามารถทำให้เบียร์เป็นสินค้าโอทอปได้ เป็นการเชิญนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบเบียร์ ชอบชิมเบียร์รสชาติใหม่ๆ ให้เข้ามาเที่ยว เป็นการสร้างรายได้ให้ชุมชน เหมือนอย่างในต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่นที่แต่ละเมืองจะมีเบียร์ท้องถิ่นเป็นของตัวเอง นอกจากนี้ ก็ยังสามารถทำอะไรได้อีกหลายอย่าง เพราะเบียร์นั้นเป็นเทรนด์ของทั้งโลก ถ้าเราขยับตัวได้เร็ว ก็คงจะส่งผลให้กับเศรษฐกิจได้ดีมากขึ้น

สมัยก่อนสหรัฐก็มีกฎหมายแบบเดียวกับบ้านเรา ที่ป้องกันไม่ให้เกิดหน้าใหม่ๆ จึงมีแต่เบียร์เจ้าใหญ่ๆ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนกฎหมายใหม่ ซึ่งก็ใช้เวลาในการเปลี่ยนหลายสิบปี ในปีแรกของการเปลี่ยนกฎหมาย ก็มีแบรนด์เบียร์เกิดขึ้น 300 แบรนด์ ในยุคแรกๆ ของคราฟเบียร์ในสหรัฐ มีมาร์เก็ตแชร์น้อยมาก เพียง 0%กว่าๆ เท่านั้น แต่ปัจจุบันคราฟเบียร์ที่สหรัฐเติบโตขึ้น 7%

กาญจน์ กล่าวว่า กลุ่มคราฟเบียร์เข้าไปคุยหลายรอบแล้วเรื่องขอให้เปลี่ยนแปลงกฎหมาย เพราะกฎหมายของเราเก่ามากแล้ว ทุกวันนี้โลกหมุนเร็ว ถ้าเราไม่ยอมหมุนตาม ก็จะไม่ทันโลก ซึ่งการผลิตเบียร์ก็คือเครื่องดื่มชนิดหนึ่ง ตนเองจึงไม่อยากให้มีข้อจำกัดเกี่ยวกับเรื่องจำนวน และถ้าโรงเบียร์เกิดขึ้น เป็นสินค้าโอทอปมากขึ้น รัฐก็จะเก็บภาษีสรรพสามิตได้มากขึ้น ทุกฝ่ายก็มีแต่ได้กับได้ จึงอยากให้มีการปรับปรุงบางอย่าง

“หากในอนาคตมีการแก้ไขกฎหมายให้คนสามารถผลิตคราฟเบียร์ได้มากขึ้น เรื่องของการดูแลมาตรฐาน คุณภาพการผลิตเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้าจะเปิดให้มีการต้มง่ายขึ้น ก็ควรจะมีคนตรวจสอบ เพราะเราทำเครื่องดื่มให้คนดื่ม ถ้าเกิดคนที่ทำงานล้างระบบไม่สะอาด เบียร์ติดเชื้อ มีปัญหาขึ้นมาจะทำอย่างไร นี่เป็นอีกข้อหนึ่งที่ต้องระวัง”

เราทำเครื่องดื่มเราก็ควรใส่ใจเรื่องความสะอาด ส่วนจะอร่อยหรือไม่อร่อยเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ความสะอาดต้องมาเป็นอันดับ 1 ซึ่งโรงผลิตที่กัมพูชาจะไม่ให้ใส่อะไรแปลกปลอมเข้าไป เพราะถ้าใส่บางอย่างเข้าไปแล้วล้างไม่สะอาด อาจติดเชื้อได้ เขามีการควบคุมคุณภาพด้วย

ส่วนที่อาจมีคนต่อต้านเรื่องการแก้ไขกฎหมายให้ผลิตคราฟเบียร์ได้มากขึ้น อาจเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับนั้น กาญจน์ยอมรับว่าก็อาจมีปัญหาตรงนั้น ซึ่งต้องมีการปลูกฝังนักดื่มว่า ถ้าจะดื่มนอกบ้านก็ไปรถแท็กซี่ เพราะการดื่มแอลกอฮอล์แล้วมาขับรถ ตนเองเห็นด้วย 100% ว่าอันตราย และคราฟเบียร์นั้นเรามองว่าเป็นศิลปะ เวลาที่ดื่มก็อยากให้มองว่าเรารับรสอะไรบ้าง ไม่ได้ดื่มเพื่อเมา และควรดื่มแบบมีความรับผิดชอบ ซึ่งคราฟเบียร์นั้นมีแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 3% ไปจนถึง 16%

กาญจน์ กล่าวว่า ตนเองเป็นแค่คนที่ชอบดื่มเบียร์ และอยากให้มองเบียร์เป็นเหมือนศาสตร์หนึ่ง ที่อยู่กับโลกเราเป็นร้อยปี และมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ ให้ดื่มอย่างมีคุณภาพ แล้วศึกษาศาสตร์นี้ไป ยิ่งเรามีความรู้เรื่องเบียร์มากขึ้น ตลาดให้ความรู้เรื่องเบียร์มากขึ้น ก็จะทำให้นักดื่มสนุกกับมันมากขึ้น และหากมาถึงขั้นที่จะทำเบียร์เป็นโอทอป ก็ควรจะต้องพูดถึงเรื่องความสะอาดก่อน แล้วต่อไปก็เป็นเรื่องคุณภาพ เพราะถ้าจะทำเป็นโอทอป ก็ควรมีคุณภาพเพียงพอที่เราจะไปสู้กับต่างชาติได้ @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น