“สูงวัย” มีค่าทางธุรกิจ ถ้ารู้จักใช้ประโยชน์

เป็นคนที่ชอบเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อศึกษาชีวิตผู้คน พบปะพูดคุยแลกความคิดเห็น จะได้มุมมองใหม่ๆ ในชีวิต

ล่าสุด อนุพล ลิขิตพฤกษ์ไพศาล ซีอีโอ เบนซ์ บีเคเค ก็เพิ่งเดินทางไปสหรัฐอเมริกา เพื่อส่งลูกไปเรียนที่มหาวิทยาลัย จอห์นส์ ฮอปกินส์ เมืองบัลติมอร์ รัฐแมรี่แลนด์ เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จากนั้นก็ไปที่เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งที่ซานฟรานซิสโก อนุพลเห็นว่าชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่นั่นคล้ายกับกรุงเทพฯ มากที่สุด และพื้นฐานของคนซานฟรานซิสโกจริงๆ แล้วเป็นคนสูงวัย แต่คนที่มาทำให้เศรษฐกิจของเมืองเฟื่องฟู จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม

กลุ่มแรกคือ กลุ่มที่เป็นกลุ่ม corporate เพราะมาจากกระแสของซิลิคอน แวลลีย์ ที่อยู่ใกล้กันประมาณ 40 ไมล์ และกลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มนักล่าฝัน คือ พวกที่เข้ามาทำงานกับพวกโครงการในอนาคต เพราะฉะนั้น คนใช้ชีวิต spending ก็คือหนุ่มสาววัยทำงาน ก็มากมาย แต่ถ้าไปตาม คอมมูนิตี้มอลล์ ก็จะเป็นคนท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่คนทำงานจะเป็นพวกที่เกษียณแล้ว

อนุพล ลิขิตพฤกษ์ไพศาล

สิ่งที่อนุพลได้เห็น ก็คือ 1.สังคมของ service industry ก็คือ service economy จะเห็นว่าอุตสาหกรรมบริการ จะเป็นพื้นฐานเลย ซึ่งเหมือนกับกรุงเทพฯ ที่มีร้านอาหารนับไม่ถ้วน 2.จะเห็นชีวิตแบบ promotional เป็น everyday promotion ทำให้เห็นว่าคนที่นั่นใช้คุณภาพชีวิตกับโปรโมชั่นของสินค้าได้ดีมาก ทั้งสองฝ่ายต่างให้เกียรติและให้สิทธิกันเต็มที่ เช่น ผู้ประกอบการ ร้านค้า หรือเจ้าของแบรนด์ หรือห้าง ก็มีโปรโมชั่นเยอะมาก ส่วนผู้บริโภคเองก็ไม่ลืมที่จะใช้โปรโมชั่นนั้นอย่างเต็มที่ คือการรักษาสิทธิที่ตัวเองพึงมีพึงได้ เมื่อเขาให้แล้วก็ใช้ ส่วนผู้ให้ก็ให้แบบจริงใจ เป็นเงื่อนไขที่ให้แล้วให้เลย

อนุพลเล่าถึงคุณป้าวัย 75 ปี ที่เป็นชาวจีนฮ่องกงที่อพยพไปอยู่ที่ซานฟรานซิสโก ซึ่งตนเองมีโอกาสได้รู้จักที่กรุงเทพฯ ก่อนจะเดินทางไปสหรัฐแค่ 1 สัปดาห์ เมื่อไปถึงที่โน่นคุณป้าเมตตาต่อครอบครัวตนเองมาก คุณป้าคนนี้ขับรถเทสลา และขับรถเบนซ์เอสแอลเปิดประทุน ซึ่งคุณป้าสอนว่าเงินเก่าพยายามอย่าใช้ แต่ให้เงินทำงาน โดยคุณป้าใช้วิธีซื้อบ้าน หลังจากอยู่ได้ 3-5 ปี ก็ขายบ้านแล้วย้ายไปอยู่ชุมชนใหม่ ซึ่งการขายบ้านเดิมก็ทำกำไรได้ สมมติซื้อบ้านในราคา 1 ล้านบาท ขายได้ 1.3 ล้านบาท ก็จะได้กำไร 3 แสนบาท ซึ่งการย้ายไปอยู่ชุมชนใหม่ ทุกที่ก็มีทุกอย่างเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ซูเปอร์มาเก็ต ร้านสะดวกซื้อ เพราะฉะนั้น มาตรฐานของชีวิตคุณป้าไม่ได้ตก แต่ได้เจอเพื่อนใหม่ๆ บรรยากาศใหม่ๆ ชีวิตใหม่ๆ

เมื่อคุณป้ารู้ว่าอนุพลไปซื้อของเข้าหอให้ลูกที่ร้านเบสท์แอนด์บียอนมา คุณป้าก็บอกว่ามีคูปองโปรโมชั่นของร้านนี้
เยอะมาก วันพรุ่งนี้ที่เจอกันจะเอาคูปองมาให้ เพราะหากยังคงเก็บสลิปไว้ และมีบัตรเครดิต ก็สามารถนำคูปองโปรโมชั่นไปรับคืนส่วนลดได้ แม้ว่าเราจะซื้อของผ่านไปแล้ว 3-4 วัน หรือผ่านไปเป็นเดือนก็ขอคืนได้ ถ้าเอกสารเราครบ

เมื่อกลับไปที่ร้าน แจ้งคุณยายที่เป็นแคชเชียร์ว่ามีคูปอง แต่ซื้อของไปเมื่อวานนี้ จะขอรับส่วนลดคืนได้หรือไม่
คุณยายก็ขอคูปองทั้งหมดมา แล้วเริ่มดูบิลและเช็กให้ ซึ่งตนซื้อของไป 500 เหรียญ หรือประมาณ 15,000 บาท
ก็ได้คืน 227 เหรียญ หรือเกือบ 7,000 บาท เป็นความประทับใจ ในคำมั่นสัญญาระหว่างผู้ประกอบการกับผู้บริโภค
ที่ผู้ประกอบการเองก็ซื่อสัตย์ ผู้บริโภคเองก็อย่าลืมใช้สิทธิ ถึงวันนี้ที่ไปซื้อของเราจะลืมคูปอง แต่กลับไปเอามาใหม่
วันพรุ่งนี้ได้

ที่ร้านเบสท์แอนด์บียอน เคาน์เตอร์แคชเชียร์เกือบครึ่งหนึ่งเป็นคนที่เกษียณแล้ว คนเกษียณพวกนี้ก็จะมาทำงาน
พาร์ทไทม์ 2-3 ชั่วโมง หรือ 5 ชั่วโมง หรือบางคนก็ทำเต็มเวลาได้ อนุพลยังได้เจอคุณลุงเจมส์ที่เป็นแคชเชียร์ อายุ
ประมาณ 72 ปี เป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยซานฟรานซิสโก คุณลุงบอกลูกชายตนเองให้มาซื้อของคืนวันพุธ
เพราะเป็น student night ถ้าโชว์บัตรนักศึกษาจะได้ส่วนลด 10% ออนท็อปของโปรโมชั่น แต่คุณลุงเองก็ไม่แน่ใจ
ว่าจะเป็นวันพุธหรือวันศุกร์ จากนั้นอนุพลก็พาลูกไปซื้อของต่อ ตอนที่จะกลับ ขนของไปขึ้นรถ คุณลุงเจมส์ก็เดิน
มาบอกว่าไปเช็กให้แล้วเป็นคืนวันพุธ ตั้งแต่เวลา 18.00-21.00 น.

อนุพลเล่าว่า ตอนไปห้างเมซี่ ลูกชายไปถามคุณป้าอายุสัก 60-70 ปีว่า ในห้างมีแผ่นเสียงขายหรือไม่ คุณป้าเสิร์ชกูเกิลให้ แล้วแนะนำว่ามีร้านอยู่ที่ถนนไหนบ้าง ตนเองดูคนสูงวัยทำงานแล้ว เห็นว่าเขามีประสบการณ์ และให้บริการที่มาจากใจ ตนเองเห็นคนสูงวัยในสหรัฐมาทำงานบริการเยอะมาก โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับอินฟอร์เมชั่น และจากที่ตนเองไปคุยด้วย พบว่าหลายคนมีตำแหน่งที่ดี มีตำแหน่งผู้บริหาร เขาบอกว่าที่มาทำงานก็มาทำเอาสนุก อยากมาเจอผู้คน อยากคุย อยากแชร์ประสบการณ์ อยากช่วยสังคม

อนุพลรู้สึกประทับใจมาก และได้เรียนรู้ว่าสังคมสูงวัยเป็นพนักงานที่น่าสนใจกลุ่มหนึ่ง เมื่อกลับมาเมืองไทย จึงเรียกฝ่ายบุคคลมาคุย เพราะมองว่าเป็นปกติที่คนหนุ่มสาวจะมองไปข้างหน้า และอยากเติบโตในสายอาชีพ เพื่อสร้างอนาคต ส่วนคนที่เกษียณแล้ว ถ้าเขามีโอกาสได้รับความรัก ความรับผิดชอบอีกครั้งจากสังคม เขาต้องการเพียงอย่างเดียวคือความยั่งยืน เขาอยากมีค่า มีงานทำ อยากดูแลตัวเอง และออกมาพบเจอสังคม

“เบนซ์บีเคเค จะทำเรื่องผู้สูงวัยจริงๆ ในทุกอุตสาหกรรมของเรา ตนเองอยากจะลอง เพราะหลายตำแหน่งคนที่ทำงาน ไม่มีความทนทาน มาแล้วก็ไป มาแล้วก็ไป คนรุ่นใหม่สมัยนี้สมัครงานแล้ว เซ็นเอกสารทุกอย่างแล้ว วันเริ่มงานไม่มา ไม่ได้เกิดเฉพาะตนเอง แต่เกิดกันทั้งอุตสาหกรรม ก็เลยมองว่าผู้สูงวัยเหมาะกับงานบริการ เช่น ขั้นตอนของงานเซอร์วิส เพื่อความพึงพอใจของลูกค้า ก็จะมีงานเอกสาร งานฟอลโลอัพ หรือโทรศัพท์ หรือตรวจสอบ หรือลูกค้าโทรเข้ามาคอมเพลน หรืออาจเป็นงานรีเซฟชั่น หรืองานเซอร์วิสทั่วๆ ไป ข้อสำคัญอีกอย่างคือคนแก่นั้น เรื่องเงินเราพอจะกำกับการจ่ายได้ แต่เด็กรุ่นใหม่ถ้าไม่ได้ตามที่กำกับแล้วเขาก็จะไป”

อนุพล กล่าวว่า ตนเองเอาข้าราชการชั้นกลางและชั้นผู้ใหญ่ที่เกษียณมาทำงานด้วย ซึ่งได้ประโยชน์เยอะมาก ให้คนพวกนี้มาเป็นครู มาสอนน้องๆ ในออฟฟิศ บอกน้องๆ ให้เรียนรู้จากเขาให้มากที่สุด เพราะคนพวกนี้มีประสบการณ์ รู้จักใช้ทั้งซอฟท์แวร์ ฮาร์ดแวร์ โครงสร้างของการบริหารเขาก็สอนให้ได้ ก็ให้มาเป็นพี่เลี้ยง เพราะฉะนั้นคนสูงวัยก็ยังมีค่า
ถ้ารู้จักที่จะใช้ และเปลี่ยนสังคมสูงวัยให้เป็นสังคมแห่งคุณค่า @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น