ปรับตัวด่วน!! เศรษฐกิจไทยโตต่ำลากยาว หลายปัจจัยรุมเร้า แก้ยาก

กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผย เศรษฐกิจไทยยังไม่ทรุด แค่ชะลอตัว เติบโตอัตราต่ำต่อเนื่องลากยาวถึงปีหน้า ชี้ เกิดจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะสงครามการค้า กระทบไทยที่พึ่งพาส่งออก

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี ไตรมาส 2 ปี 2562 ขยายตัว 2.3% ต่ำสุดในรอบเกือบ 5 ปี และปรับลดประมาณจีดีพีปี 2562 โต 3% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.6% ขณะที่คาดว่าส่งออกปีนี้ ติดลบ 1.2% จากเดิมคาดโต 2.2%

ดร.เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นทรุดตัว แต่เป็นการชะลอตัว ส่วนตัวเลขส่งออกเดือนกรกฎาคมที่กลับมาเป็นบวก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขยายตัวในระดับสูงของการส่งออกทองคำ แต่ถ้าไม่รวมทองคำ ตลาดสหรัฐก็ขยายตัวได้เยอะ เพราะผู้ประกอบการในสหรัฐเร่งสต๊อกสินค้าก่อนที่จะมีการขึ้นภาษี

โดยสหรัฐจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน 10% มีผลเดือนกันยายนนี้ ดังนั้น จึงไม่ได้ชี้ถึงแนวโน้มที่ดีขึ้นจริงๆ และเรื่องสงครามการค้ายังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม ทั้งนี้ การที่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 3.16 แสนล้านบาท ในจังหวะที่ตัวเลขเศรษฐกิจชะลอตัวลงก็ถือว่าน่าที่จะพอประคองสถานการณ์ได้บ้าง และคิดว่าถ้าสถานการณ์จำเป็น หากใน 1-2 เดือนข้างหน้าตัวเลขไม่ดีขึ้น ก็คิดว่าทางการยังพอมีเวลาที่จะพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม

ดร.เชาว์ เก่งชน

ดร.เชาว์ กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังระบุว่ามาตรการดังกล่าวน่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 0.5% ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยก็มองใกล้เคียงกันที่ 0.3-0.4% ตัวเลขที่คลาดเคลื่อนก็ขึ้นกับมุมมองในเรื่องการใช้สิทธิประโยชน์ว่าจะมีผู้ใช้สิทธิ์มากน้อยเพียงใด ทั้งในส่วนสินเชื่อที่ให้เกษตรกร และมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม มาตรการหลักที่จะช่วยกระตุ้นจีดีพี น่าจะมาจากมาตรการสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ช่วยคนมีรายได้น้อย เพราะต้องรีบไปใช้สิทธิ มีระยะเวลาเดือนสิงหาคมถึงกันยายน และส่วนใหญ่ได้เงินแล้ว ก็น่าจะมีการจับจ่ายใช้สอยทันที ตรงนี้น่าจะมีเม็ดเงินเข้ามาได้เร็วหน่อย

การที่เศรษฐกิจประเทศไทยชะลอตัวนั้น ดร.เชาวน์ กล่าวว่า เกิดจากปัจจัยภายนอกประเทศมากกว่าปัจจัยภายใน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพิงการส่งออกและการท่องเที่ยวเยอะมาก เฉพาะส่งออกก็กว่าร้อยละ 60 ของจีดีพีแล้ว อีกทั้งการที่เงินบาทแข็งค่าก็มีผลทั้งการท่องเที่ยวและการส่งออก

แม้ตัวเลขส่งออกเดือนกรกฎาคมจะดีขึ้น แต่ 7 เดือนที่ผ่านมา ตัวเลขของเรายังติดลบเกือบ 2% และ สศช.ได้ปรับตัวเลขประมาณการลงไปแล้ว ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยก็คงปรับประมาณการตัวเลขลงเหมือนกัน ซึ่งตัวเลขส่งออกคาดการณ์ทั้งปีน่าจะประมาณลบ 1% ถึงลบ 2% ซึ่งจะมีผลต่อจีดีพีด้วย

นอกจากนี้ เรื่องเศรษฐกิจโลกก็ยังไม่ชัดเจนว่าประเด็นข้อพิพาททางการค้าจะได้ข้อยุติหรือไม่ และจะยุติเมื่อไร เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้นำสหรัฐก็ระบุยังไม่พร้อมเจรจากับฝ่ายจีน ขณะที่สหภาพยุโรปกับอังกฤษก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้เรื่องเบร็กซิต ซึ่งทั้ง 2 เรื่องก็มีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

และเมื่อวันพุธที่ผ่านมา รัฐบาลเยอรมนีได้เปิดประมูลขายพันธบัตรอายุ 30 ปี ปรากฏว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรประเภทดังกล่าวอยู่ที่ระดับติดลบเป็นครั้งแรก ขณะที่พันธบัตรสหรัฐ อายุ 10 ปี ดอกเบี้ยต่ำกว่าพันธบัตรอายุ 2 ปี ทำให้คนไปตีความกันว่าจะนำมาซึ่งความถดถอยของเศรษฐกิจ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม แต่อย่าไปให้น้ำหนักเยอะเกินไป เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมาก แต่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นเครื่องชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่าภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอยู่ และตลาดยังมีความกังวลอยู่ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ย้ำว่า

ปัจจัยภายนอกมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัว แต่ยังไม่หดตัว เป็นการขยายตัวในอัตราที่ต่ำลง และไม่ใช่เศรษฐกิจไทยประเทศเดียว สหรัฐ จีน สหภาพยุโรป ก็คงจะเติบโตในอัตราที่ต่ำและอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง ยกเว้นกรณีอังกฤษ ถ้าออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อตกลงกับสหภาพยุโรป บางไตรมาสอาจจะหดตัว

สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในขณะนี้เป็นมาตรการที่แก้ปัญหาระยะสั้น หรือช่วยเยียวยาปัญหาหลังจากที่เกิดขึ้นไปแล้ว เช่น เรื่องช่วยเหลือเกษตรกร การผ่อนชำระหนี้ คนที่มีรายได้น้อย เป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน

รัฐบาลจึงเอาเฉพาะมาตรการที่หวังว่าจะมีเงินเข้าสู่ระบบได้เร็ว แต่ต้นเหตุของปัญหาหรือสาเหตุของความอ่อนแอเหล่านั้น จะเป็นเรื่องระยะกลางและระยะยาว ซึ่งถ้าดูในแผนของรัฐบาลก็เป็นสิ่งที่เขาตั้งใจจะดำเนินการแต่ต้องใช้เวลา

“รัฐบาลก็คงเหมือนคุณหมอ ก็คงสั่งยาตามอาการ แล้วก็รอดูการตอบสนองของคนไข้ ถ้าในอีก 2-3 เดือน ประเมินสถานการณ์การส่งออก ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจต่างประเทศ ข้อพิพาททางการค้า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรยังต่ำมากอยู่ การส่งออกยังดูแย่ มาตรการจำเป็นอาจต้องทำเพิ่มอีก เขาน่าจะค่อยๆ ดู พิจารณาแล้วก็ทำ เพราะแต่ละรอบที่ทำมันต้องใช้เงินและมีผลทางการคลังตามมา เขาก็ค่อยๆ ดำเนินการตามความจำเป็นของสถานการณ์ในแต่ละช่วง” ดร.เชาวน์ กล่าว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าคงใกล้เคียงกับช่วงครึ่งปีแรก โดยมองว่าสถานการณ์การค้าไม่น่าจะยุติลงเร็ว และเห็นว่ามาตรการทางการค้าของสหรัฐจะสร้างผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐเอง แต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ คงจะไม่ยอมถอย แล้วไปกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดต้องลดดอกเบี้ยแทน ซึ่งในความเป็นจริงก็คงทำไม่ได้ เพราะอำนาจแบ่งกันชัดเจนทางกฎหมาย ฝ่ายบริหารไม่สามารถกดดันเฟดได้

ดังนั้น เศรษฐกิจในครึ่งปีหลังของไทยก็ไม่น่าจะดีขึ้นมากและคงลากยาวไปถึงปีหน้า เพราะภาวะเศรษฐกิจโลกน่าจะชะลอตัว เติบโตในอัตราที่ต่ำและยืดเยื้อ เราไม่คิดว่าทุกอย่างจะฟื้นในระยะเวลาอันใกล้ แม้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะมองภาวะการเติบโตในอัตราที่ต่ำ แต่เราไม่คิดว่าจะเป็นเหมือนวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ ในปี 2007 และ 2008 เราไม่คิดว่าสหรัฐจะถดถอยลงไปแรง หรือจะทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัว

ดังนั้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังพอมี แต่ไม่ใช่ในอัตราที่ปกติ แต่เป็นอัตราที่ต่ำกว่าปกติของประเทศ ซึ่งหมายความว่าบางส่วนที่กำลังการผลิตจะอยู่ในระดับต่ำ เช่น การส่งออก ก็จะมีผลเป็นลูกโซ่ไปที่กำลังซื้อของแรงงานที่เกี่ยวข้องกับภาคส่งออก ส่วนในแง่ของอัตราดอกเบี้ย จะเห็นว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรก็ลงไปแล้ว ก็เป็นที่คาดการณ์โดยตลาดว่า ธนาคารกลางคงดำเนินการนโยบายการเงินผ่อนคลายมากขึ้น ดังนั้นเราก็มองทิศทางดอกเบี้ยว่ามีความเป็นไปได้ว่าจะค่อยๆ ขยับลง

ดร.เชาวน์ กล่าวว่า จากวันนี้ไปอีกอย่างน้อย 1 ปี ถึง 1 ปีครึ่ง เราคิดว่ายังเห็นความผันผวนของตลาดเงิน ตลาดทุน และอัตราแลกเปลี่ยนเป็นระยะ ซึ่งจะไม่ได้แข็งค่าหรืออ่อนค่าไปในทิศทางเดียว แต่จะแกว่งตัวสูงตามเหตุการณ์ตามข่าวที่เข้ามาในแต่ละช่วง เข้าใจว่ารอบนี้เป็นการแกว่งตัวหรือชะลอตัวจากมาตรการที่ฝ่ายการเมืองดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นทำเนียบขาว เรื่องเบร็กซิต อย่างน้อยในแง่ดีคือมันไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความอ่อนแอของเศรษฐกิจไทยเหมือนปี 2540 ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเรามีหนี้ หรือเราก่อหนี้เยอะมาก แต่ปัญหาก็อาจจะลากยาว เราจะยังเห็นความผันผวนอย่างนี้เป็นระลอกๆ ไป เพราะต้นเหตุของปัญหายังคาอยู่

สรุปว่าในมุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทย อัตราการขยายตัวของจีดีพีปีนี้ คงจะต่ำกว่า 3% โดยเรามองต่ำกว่า สศช.นิดหน่อย เราคงปรับประมาณการจากเดิมที่ตั้งไว้ 3.1% ขณะที่ สศช.อยู่ที่ 3.6% แต่ สศช.ปรับลดลงมาที่ 3% ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยก็อาจปรับลงมาต่ำกว่า 3% เล็กน้อย อาจอยู่ที่ประมาณ 2.8% และตัวเลขส่งออกคงเป็นตัวเลขติดลบ โดยเรามองว่าอาจต้องเตรียมตัวรับมือสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโตต่ำเป็นเวลายาวนานกว่า 1 ปี ซึ่งจะเห็นภาวะอย่างนี้ต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง และไม่ใช่ไทยเจอภาวะแบบนี้ประเทศเดียว แต่ภาวะเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างนี้ ประเทศที่พึ่งการส่งออกส่วนใหญ่ก็จะเจอเหมือนกัน บางประเทศติดลบมากกว่าเรา ดังนั้นตัวเลขติดลบของเรา 2% ถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น