ปรับช่องทางการขาย ทางรอดที่ทำได้ “ไม่ต้องรอ”

 

 

อดีต CEO SME D Bank แนะคนค้าขายปรับตัว ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ต้องใช้ “เฟซบุ๊ก-กูเกิลแมป” ให้เป็น เพื่อปักหมุดธุรกิจตัวเองบนถนนดิจิทัล

นายมงคล ลีลาธรรม อดีต CEO SME Development Bank พูดถึงหนังสือที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แนะนำให้คนไทยและคณะรัฐมนตรีใหม่อ่าน คือ “ทางรอดในโลกใบใหม่ แห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4” เขียนโดย ศ.เคลาส์ ชวาบ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้มาก เป็นผู้ที่มีอิทธิพล และเป็นผู้ก่อตั้ง World Economic Forum

โดยเล่าว่ามนุษย์เรามีมาเป็นหมื่นปี แต่จะอยู่ในยุคล่าสัตว์เป็นอาหาร เพิ่งขยายเป็นเมืองเมื่อ 300 กว่าปี หลังการปฏิวัติที่เรียกว่าปฏิวัติเกษตร ทำให้เรียนรู้การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ การขยายพันธุ์ ทำให้มนุษยชาติขยายพันธุ์เป็นล้านๆ คน เนื่องมาจากอาหาร

หลังจากนั้นก็เป็นการเปลี่ยนแปลงโลกที่เรียกว่าการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 คือ การสามารถผลิตเครื่องจักรที่เรียกว่าไอน้ำ แล้วมาทำรถไฟ ยานพาหนะ ทำให้โลกแคบลง สามารถผลิตอุตสาหกรรมเสื้อผ้าอย่างมโหฬาร และราคาถูกลง หลังจากนั้นก็ผลิตรถยนต์ ส่วนการเปลี่ยนโลกครั้งที่ 2 คือ การผลิตไฟฟ้า และผลิตน้ำมัน ทำให้มีเครื่องจักรน้ำมันแทนไอน้ำ ทำให้โลกเปลี่ยนไปมาก

การเปลี่ยนครั้งที่ 3 ก็คือมีเครื่องบิน ระบบการสื่อสารทางไกล เช่น โทรศัพท์ โทรเลข และในปี ค.ศ.1960 มีการคิดเรื่องคอมพิวเตอร์ จะสังเกตได้ว่าการเปลี่ยนแปลงจากครั้งที่ 1-3 ใช้เวลากว่า 300 ปี แต่จากครั้งที่ 3 ประมาณปี 1960 มาถึงครั้งที่ 4 จะใช้เวลาเร็วขึ้น เพียงแค่ 40 ปี มาเป็นโลกของดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และที่สำคัญมาก คือการที่มนุษย์ค้นคว้าเรื่องดาวเคราะห์บนท้องฟ้าเอามาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น วันนี้มีการยิงดาวเทียม เอาพลังงานหลายๆ อย่างมาจากอวกาศได้

ปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 อีก 6 ปีข้างหน้า คนมีโอกาสตกงาน 47%

มงคล ลีลาธรรม

อดีต CEO SME Development Bank กล่าวว่า ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 นี้ ผลที่จะเกิดขึ้นมีคนคาดการณ์ว่า “คนจะจนลง และจะรวยขึ้น” ความหมายคือคนที่รวยจะรวยมากขึ้น คนที่จนก็จะจนลงอีก เพราะมาจากเรื่องที่คนปรับตัวไม่ได้ และมีเรื่องเทคโนโลยีเข้ามา ทำให้คนปรับเปลี่ยนไม่ทัน

“มีคน 10% ที่สามารถปรับตัวได้ ใช้ประโยชน์ได้ จะเป็นเจ้าของความมั่งคั่งร่ำรวยเกือบครึ่งหนึ่งของทั้งโลก และอยู่บนยอดของปิรามิด ส่วนอีกอันหนึ่งคือคนจะจนลง คือ คน 10% หลัง จะเป็นเจ้าของแค่ 1% เพราะฉะนั้นระหว่างคนจนคนรวยจะห่างกันประมาณ 9 เท่า และคาดการณ์ว่าใน ปี 2025 หรืออีก 6 ปีข้างหน้า คนมีโอกาสตกงานกัน 47%”

ตอนนี้บางธนาคารก็เอาเอไอมาตอบคำถามตลอด 24 ชั่วโมงแล้ว เพราะฉะนั้น คอลเซนเตอร์ และพนักงานเคาน์เตอร์ธนาคารก็จะตกงาน และสมัยนี้ไม่ค่อยมีคนเข้าไปใช้บริการในสาขาของธนาคารแล้ว จึงไม่แปลกใจที่มีการปิดสาขากัน คนก็มีโอกาสตกงานเยอะ

นายมงคล กล่าวว่า ทุกวันนี้ธนาคารจะเข้มงวดกับเอสเอ็มอีมาก เพราะมีหนี้เสีย 8-9% หมายความว่าลูกค้า 100 คนวันนี้ ในอีก 10 ปีข้างหน้า อยู่รอดแค่ 20% ซึ่งสมัยก่อนเอ็นพีแอล 1%กว่า ก็หมายความว่าลูกค้า 100 ราย จะอยู่รอด 85-90% แนมโน้มคือคนค้าขาย คนเป็นลูกจ้าง จะไม่สามารถชำระหนี้ให้ธนาคารได้ถึง 80%

ดังนั้น วันนี้ จะค้าขายอย่างเดียวไม่ได้ ต้องหาความรู้ด้วย เพราะอยู่เฉยๆ มีโอกาสตาย 80% ที่เคยคิดว่าทำงานบริษัทแข็งแรง มั่นคง อีก 6 ปีข้างหน้า มีโอกาสตกงาน 47% ถ้าไม่ปรับตัว ก็อยู่ไม่รอด

“เราต้องปรับตัวให้ได้เหมือนแมลงสาบ อย่าอยู่เหมือนกบ ตามทฤษฎีกบต้ม อย่านิ่งเฉย ต้องเริ่มต้นที่สมอง ที่ความคิด มายด์เซ็ตต้องปรับหมด”

ใช้”เฟซบุ๊ก-กูเกิลแมป” ให้เป็น เพื่อปักหมุดธุรกิจตัวเองบนถนนดิจิทัล

นายมงคล กล่าวว่า เมื่อก่อนมองตลาดเป็นประเทศ เช่น ประเทศไทย ภาคเหนือ จ.ภูเก็ต กรุงเทพฯ แต่วันนี้เมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามา มันเปลี่ยนแปลงหมด วันนี้ประเทศที่ใหญ่ที่สุดคือเฟซบุ๊ก มีคนใช้เฟซบุ๊กทั่วโลก 1,400 ล้านคน เท่ากับประเทศจีนและอินเดีย

ส่วนทวิตเตอร์ ประธานาธิบดีสหรัฐก็ใช้ทวิตเตอร์เป็นเครื่องมือ ทำงาน 3 ปี ทวีตไป 3 แสนกว่าครั้ง ซึ่งเห็นรัฐมนตรีของไทยตอนนี้ก็ใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวทำงาน ใช้พูดถึงงานของตัวเอง หรือพูดถึงนโยบาย ส่วนอินสตาแกรมก็มีคนใช้ 300 กว่าล้านคน

ถ้าเราจะค้าขายก็ต้องรู้ก่อนว่าเราค้าขายบนแพลตฟอร์มอะไร ถ้ารู้จักแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก ก็ค้าขายได้ง่าย พร้อมยกตัวอย่างเด็กวัยรุ่นอายุ 21 ปี ที่ขายของในเฟซบุ๊กตั้งแต่อายุ 18 ปี โดยซื้อเสื้อจากโรงงานในราคา 70 บาท ไปขาย 120 บาท เคยขายสูงสุด 5,000 ตัว ซึ่งจะต้องรู้จักใช้การโพสต์ภาพ การเขียน และจูงใจให้คนมาซื้อ วิธีการที่จะชักจูง และจัดส่ง ก็ถือเป็นมิติใหม่ ที่ไม่ต้องมีของ ไม่มีโรงงาน เป็นธุรกิจซื้อมาขายไป ใช้แพลตฟอร์มต่างๆ ที่เขาสร้างให้ เช่น เฟซบุ๊ก

“ทุกวันนี้ ต้องใช้กูเกิลแมปให้เป็น รู้จักการปักหมุดธุรกิจตัวเองให้อยู่บนถนนดิจิทัลให้ได้ ถ้าคุณรู้จักเฟซบุ๊ก เข้าไปลงทะเบียนแบบธุรกิจ แล้วปักหมุดตัวเองเข้าไป พยายามทำให้ชัดเจนว่ากลุ่มลูกค้าตัวเองอยู่ที่ไหน เช่น ถ้าเป็นร้านซ่อมรถยนต์ ก็เขียนว่าร้านอยู่ถนน กม.เท่าไร เมื่อมีคนขับรถไปเสียใกล้ที่ปักหมุด กูเกิลแมป ก็จะบอกว่าห่างจากจุดที่รถเสียอยู่ จะมีร้านนี้พร้อมทั้งมีเบอร์โทรศัพท์ให้ คุณจะมีลูกค้า 24 ชม. คุณจะเจอลูกค้าแบบนี้มากกว่าลูกค้าประจำ และทำให้มีรายได้ดีกว่าเดิม”

ปรับเปลี่ยนช่องทางขาย ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์

อดีต CEO SME Development Bank ยังพูดถึงเด็กหนุ่มที่เพชรบุรี จบวิศวะ แต่มาขายขนมหวานขายส่งทั่วประเทศโดยใช้ บขส. เขาลงทุนในเฟซบุ๊ก ทำหีบห่อออกแบบต่างๆให้น่าเชื่อถือ และเป็นเจ้าแรกที่ทำขนมหม้อแกงในถ้วยสุญญากาศ ทำให้เก็บได้นานขึ้น รสชาติทำแบบหวานน้อยตามเทรนด์ยุคใหม่ ทุกวันนี้ เขาไม่ได้ทำเจ้าเดียว แต่มีเครือข่ายรอบชุมชนประมาณ 15 บ้านมาช่วยขาย โดยที่เขาไม่ต้องมีลูกจ้าง และเขาก็ไปพัฒนาทำสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น

ส่วนที่ชุมพร มีคุณป้าอายุ 80 ปี ที่สามารถปรับตัวได้ แต่ก่อนคุณป้าขายของที่ตลาดแต่ขายไม่ได้ จึงเดินจากบ้านมาที่ปั๊ม ปตท. ซึ่งอยู่ห่าง 3 กม. เก็บใบเหลียงมาขายมัดละ 20 ที่ปั๊ม วันธรรมดาขายได้ 40 มัด วันเสาร์-อาทิตย์ขายได้ 100 มัด มีรายได้ 800-2,000 บาท

เรียกว่าช่องทางการจำหน่ายเปลี่ยนไปจากตลาดเป็นปั๊ม เหมือนกับตอนนี้ต้องไปขายที่เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ต้องรู้จักปรับตัว ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ เพราะโลกเปลี่ยนไปหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการสื่อสาร การติดต่อ วันนี้เราใกล้ชิดกันมากขึ้น ต้องเอาความใกล้ชิดมาใช้ให้เกิดประโยชน์

ในหนังสือ”ทางรอดในโลกใบใหม่ แห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4″ ยังมีตารางหนึ่งที่น่าสนใจ คือในปี 2025 วิชาชีพที่มีแนวโน้มจะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติสูงสุดและต่ำสุด โดยพบว่าพนักงานขายทางโทรศัพท์สูงสุด จะถูกเอไอทดแทนมากที่สุด ส่วนแพทย์ จะใช้เทคโนโลยีใหม่ทดแทนได้ยาก

นอกจากนี้ นายมงคล ยังกล่าวว่า ที่น่าสนใจมากอีกอย่างก็คือ ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ จะเป็นตัวที่ทำให้หลายคนน้อยเนื้อต่ำใจรัฐบาล แต่ความจริงสาเหตุที่ตัวเองขายของไม่ได้นั้น มาจากการไม่ปรับตัวด้วย @


 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น