ทำไม 7-11 ต้องออกแบบร้าน “อัตลักษณ์ สะดุดตา” ในหลายเมือง

เซเว่น อีเลฟเว่น สร้างร้านสาขาให้กลมกลืนสถาปัตยกรรมท้องถิ่น สอดคล้องวิถีชุมชน พร้อมเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอี และเกษตรกร นำสินค้าท้องถิ่นเข้ามาขายในร้านได้

หลายคนอาจสะดุดตากับร้านเซเว่น อีเลฟเว่น บางสาขา ที่มีรูปลักษณ์แปลกตาไปจากหลายๆ สาขาที่เห็นกันทั่วไป นายบัญญัติ คำนูณวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ. ซีพี ออลล์ กล่าวว่า แนวคิดร้านสาขาที่มีการปรับเปลี่ยนไป เกิดจากสิ่งที่เป็นหนึ่งในพันธกิจของซีพี ออลล์ คือ การที่เราจะเข้าไปให้บริการแก่สังคมและชุมชน นอกจากจะเป็นหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าทั้งด้านสินค้าและบริการของพนักงานแล้ว

บัญญัติ คำนูณวัฒน์

ผู้บริหารก็คิดกันว่าตัวร้านก็น่าจะพัฒนาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้กลมกลืน สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนนั้นๆ ด้วย จึงเป็นที่มาของแนวคิดที่ว่าเวลาจะไปเปิดร้านในพื้นที่ไหนที่เรื่องของสถาปัตยกรรมท้องถิ่น มีความโดดเด่น หรือเป็นที่ต้องการของชุมชน เราก็พยายามที่จะทำร้านให้กลืนไปกับชุมชน เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของชุมชน

 

“เราก็พยายามที่จะทำร้านของเราให้กลืนไปกับชุมชนด้วย เพราะไม่อยากให้เป็นเหมือนอยู่ๆ ก็มีตึกประหลาดๆ มาตั้ง เราไม่อยากเป็นสิ่งแปลกปลอม ถ้าชุมชนเข้าใจและตอบรับเรา เราก็อยู่ได้ เราก็พยายามทำตัวให้เป็นที่รักของชุมชนให้ได้ด้วยรูปแบบต่างๆ ในวิถีต่างๆ”

7-Eleven สาขา ธาราพัทยา

นายบัญญัติ ยังกล่าวถึงแฟล็กชิพสโตร์ที่พัทยา จ.ชลบุรี ที่เนรมิตรพื้นที่ผนังขนาดใหญ่ของร้านให้เป็นจอแอลอีดี และขอความอนุเคราะห์จากมหาวิทยาลัยบูรพาที่ได้บันทึกภาพใต้ท้องทะเลไทย แถว จ.ชลบุรี พัทยา ในการนำภาพเหล่านั้นมาฉายขึ้นจอใหญ่ เพื่อให้คนที่เข้าไปจับจ่ายใช้สอย หรือไปนั่งดื่มชากาแฟที่ชั้น 2 มีโอกาสได้เห็นความสวยงามของท้องทะเลไทย เห็นปลา เห็นปะการังที่มีความอุดมสมบูรณ์

 

 

 

โซนชั้น 2 ที่ตกแต่งด้วยเรือยอร์ช

ส่วนตัวตึกชั้นบน ก็ดีไซน์ให้เป็นรูปเรือยอร์ชเล็กๆ ซึ่งเป็นเรือที่นั่งได้จริง ทำให้ได้รับความนิยมจากพี่น้องชาวพัทยารวมถึงนักท่องเที่ยวค่อนข้างมาก และเนื่องจากร้านที่พัทยาตั้งอยู่ใกล้สถานศึกษา ภายในร้านจึงไม่ขายเหล้า บุหรี่ ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

ส่วนสาขาที่ จ.น่าน ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีความเป็นไทย เป็นล้านนา มีวัดที่ชาวพุทธนับถือเยอะมาก เมื่อเราไปตั้งร้านในพื้นที่โดดเด่นแบบนั้น เราก็เลยนำศิลปสถาปัตยกรรมล้านนาเข้ามาผสมสาน มีกาแล มีหลังคา มีไม้ มีส่วนประกอบของไม้ค่อนข้างมาก

ขณะที่สาขาที่เชียงคาน จ.เลย ก็จะทำออกมาเป็นแนวที่ใช้ไม้เป็นส่วนใหญ่ และสีสันหน้าร้านที่เคยมีสีส้ม สีแดง สีเขียว ที่ฉูดฉาด ก็จะไม่เห็นอย่างนั้น จะเห็นแค่โลโก้และเห็นสีสันนิดเดียว ที่เหลือจะออกแนวเอิร์ธโทน ถือเป็นนโยบายหลักของซีพีออลล์ที่จะออกแบบการก่อสร้างสถาปัตยกรรมของร้านให้กลมกลืนกับพื้นถิ่น

ซึ่งมีหลายจังหวัดทำแล้ว และอีกหลายจังหวัดที่กำลังจะทำ ทั้งที่พิษณุโลก เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร เชียงราย น่าน ตาก เลย ประจวบ นครราชสีมา นครพนม โดยที่นครพนมจะเป็นอาคารไม้ 3 ชั้น สามารถขึ้นไปชมทิวทัศน์ริมแม่น้ำโขงที่สวยงามของนครพนมได้

นายบัญญัติ กล่าวว่า นอกจากตัวอาคารซึ่งเป็นรูปแบบภายนอกแล้ว ภายในร้านหลายสาขาของเซเว่น อีเลฟเว่น ยังทยอยนำเอาสินค้าพื้นถิ่นเข้ามาจำหน่ายด้วย ทำให้ลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวสามารถหาซื้อสินค้าพื้นถิ่นได้ง่าย ขณะเดียวกันธุรกิจเอสเอ็มอีในแต่ละท้องถิ่นก็มีโอกาสนำเสนอสินค้าของเขาผ่านร้านเซเว่นได้

เพราะแม้เอสเอ็มอีจะผลิตสินค้าได้ดี แต่ถ้าไม่มีร้านวางขายก็น่าเสียดาย โดยเซเว่นจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางนำผลงานของเขามาสู่ตลาด ซึ่งแบ่งผลงานเป็น 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือผลงานที่เป็นสินค้าสำเร็จรูปก็คือธุรกิจเอสเอ็มอี กับอีกผลงานก็คือสินค้าเกษตร พวกพืชผัก ผลไม้ต่างๆ แต่ก็ไม่ได้มีทุกสาขา ดูเป็นจังหวัดๆ ไป ดูความเป็นไปได้ ทั้งตัวเรา ลูกค้า และเกษตรกรว่าเขาสามารถผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคหรือไม่ ควบคุมคุณภาพได้หรือไม่ ซึ่งการเอาสินค้ามาขายตามหลักการตลาดทั่วไปอันดับแรกคือเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคหรือไม่ จากนั้นก็ดูเรื่องของคุณภาพ และความปลอดภัย ถ้าสามารถขายได้ผ่านเกณฑ์ ก็จะขยายไปยังสาขาอื่นด้วย แต่ก็ขึ้นกับตัวเอสเอ็มอีที่จะต้องพัฒนากำลังผลิตให้เพียงพอด้วย

สำหรับการช่วยเหลือสังคมตามปณิธานขององค์กรที่ระบุว่า “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสให้ทุกคน” นั้น ล่าสุด ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ. ซีพี ออลล์ กล่าวว่า เราได้เพิ่มโอกาสในการสนับสนุนเกษตรกรที่เป็นชาวนา เพราะทุกวันนี้เซเว่นขายข้าวเยอะทั้งข้าวถุง และข้าวสำเร็จรูป

โดยซีพีออลล์ได้สนับสนุนโครงการโรงเรียนชาวนา ของพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือ ว.วชิรเมธี ที่ จ.เชียงราย เพราะชาวนามีความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องการผลิต แต่อาจไม่รู้เรื่องการตลาด การทำให้สินค้าขายได้ราคาดีขึ้น หรือเรื่องโลกยุคใหม่ที่ขายในตลาดออนไลน์ได้ ซึ่งท่าน ว.วชิรเมธี ก็มาเพิ่มเติมองค์ความรู้เรื่องพวกนี้ให้ชาวนา โดยจัดมา 6-7 รุ่นแล้วที่เชียงราย แต่ในอนาคตก็จะขยายองค์ความรู้เหล่านี้ไปยังชาวนาต่างถิ่นมากขึ้นเรื่อยๆ @


ภาพ : www.facebook.com/711FanClubTH

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น