กลยุทธ์ท่องเที่ยวครึ่งปีหลังช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้แค่ไหน

ผู้ว่า ททท. เผย ไตรมาส 3 ปีนี้ นักท่องเที่ยวน่าจะเป็นบวกเพิ่ม ปลายปีตัวเลขนักท่องเที่ยวน่าจะเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ทำการตลาดไม่เน้นแมส เน้นกลุ่มที่มีศักยภาพใช้จ่ายสูง เพื่อให้รายได้ตามเป้า

ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว และการส่งออกตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาติดลบ การท่องเที่ยวดูจะเป็นความหวังสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ “ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. กล่าวในรายการ “ลับคมธุรกิจ” ทางคลื่นมิติข่าว 90.5 ว่า ปีที่แล้วมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าในประเทศไทยประมาณ 38.5 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 2 ล้านล้านบาท และสถานการณ์ท่องเที่ยวในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยประมาณ 19.9 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2% สร้างรายได้ 1.04 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 3% จากที่ปีนี้ตั้งเป้าไว้ว่านักท่องเที่ยวจะมาประมาณ 40 ล้านคน ตอนนี้เกือบครึ่งทางมีนักท่องเที่ยว 20 ล้านคน ดังนั้น 6 เดือนที่เหลือก็คิดว่าทำได้ เพราะช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีตั้งแต่เดือนตุลาคมไปจนถึงธันวาคมเป็นช่วงไฮซีซั่น คงจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเยอะ และปีที่แล้วช่วงนี้ มีเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ต ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนชะลอตัวลงไปมาก แต่ปีนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้น

ดังนั้นไตรมาส 3 ของปีนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวน่าจะเป็นบวกเพิ่มขึ้นแน่นอน มองในแง่ดีว่าปลายปีนี้ตัวเลขน่าจะเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ แต่ในส่วนของรายได้คงต้องมาดูกันว่าจะเป็นไปตามเป้าหรือไม่ ซึ่งปีที่แล้วอยู่ที่ 3.3 ล้านล้านบาท ปีนี้เราต้องการประมาณ 3.4 ล้านล้านบาท ขณะที่ปัจจัยทั้งภายในและภายนอกที่รุมเร้า เศรษฐกิจโลกไม่ดีนัก เงินบาทแข็งค่าทำให้คนเดินทางออกนอกประเทศมากขึ้น ขณะเดียวกันต้นทุนเดินทางเข้าไทยก็สูงขึ้น ทำให้ต้องระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น แต่การที่เราทำให้เป็นบวกได้ ส่วนตัวก็ค่อนข้างพอใจ และยังมีกำลังใจที่จะสู้ต่อไปในช่วง 6 เดือนที่เหลือ

ททท.ทำการตลาดไม่เน้นแมส แต่เน้นกลุ่มที่มีศักยภาพใช้จ่ายสูง

ส่วนการที่สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ปรับคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ จาก 40.64 ล้านคน เหลือ 40.06 ล้านคน หรือลดลงเกือบ 6 แสนคนนั้น ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า ททท.จะตั้งเป้าการท่องเที่ยวในเรื่องของรายได้ ส่วนเอกชนอาจตั้งเป้าเรื่องจำนวนคน แต่สิ่งที่เราพูดตรงกันคือทำอย่างไรจะได้นักท่องเที่ยวคุณภาพเข้ามาและมีการใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น

ถ้าเราสามารถทำการตลาด ได้กลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพใช้จ่ายสูง เช่น กลุ่มคนที่เข้ามาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เชิงกีฬา แต่งงาน หรือฮันนี่มูน แม้จำนวนนักท่องเที่ยวอาจลดลง แต่เชื่อว่ารายได้ก็เพิ่มขึ้น เพราะศักยภาพการใช้จ่ายต่อคนน่าจะเพิ่มขึ้น ก็เป็นสิ่งที่ ททท.พยายามทำมาตลอด คือทำการตลาดที่ไม่ได้มองกลุ่มแมส แต่เริ่มทำกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนว่าต้องการกลุ่มไหนเข้ามาเพื่อให้มีการใช้จ่าย

และที่สำคัญโจทย์ที่รัฐบาลให้ ททท.ก็คือไม่ใช่แค่เอาเข้ามาอย่างเดียว แต่ต้องให้มีการกระจายตัวไปในพื้นที่ที่มีความเสียเปรียบอยู่ เช่น พื้นที่เมืองรองต่างๆ ดังนั้นอาจทำให้เห็นว่านักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเยอะเป็นบวก แต่ถ้าใครทำธุรกิจอยู่ในภูเก็ต เชียงใหม่ อาจมองว่านักท่องเที่ยวน้อยลง ส่วนหนึ่งสาเหตุอาจมาจากมีการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นไปยังพื้นที่เมืองรอง

และการที่การท่องเที่ยวบูมในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการสร้างจำนวนโรงแรม ที่พัก เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นนักท่องเที่ยวก็อาจไม่ได้ไปนอนโรงแรม แต่ไปนอนโฮมสเตย์ แอร์บีเอ็นบี ซึ่งเป็นไปตามพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่

กลยุทธ์ช่วง 6 เดือนที่เหลือ กระตุ้นตลาดในประเทศ ทำตลาดต่างประเทศระยะใกล้

ยุทธศักดิ์ สุภสร

ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า กลยุทธ์ที่จะใช้ในช่วง 6 เดือนที่เหลือคือ 1.กระตุ้นตลาดในประเทศให้เกิดความถี่ในการเดินทางเพิ่มมากขึ้น กระจายนักท่องเที่ยวไปในพื้นที่และตามช่วงเวลาที่นักท่องเที่ยวยังไม่เพิ่มมากนัก โดยจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องและให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว

2.ตลาดต่างประเทศ สิ่งสำคัญที่สุด คือทำตลาดระยะใกล้ นำนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและศักยภาพในการใช้จ่ายเข้ามา โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ประเทศในเอเชียตะวันออกไม่ว่าจีน ญี่ปุ่น เกาหลี รวมทั้งเอเชียใต้ โดยเฉพาะอินเดียเป็นตลาดที่น่าสนใจ ตั้งแต่ต้นปีมีอัตราการเติบโตที่เด่นมาก โตประมาณ 17-20% ซึ่งมีทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยว และพวกที่เดินทางเข้ามาแต่งงาน ซึ่งก็ได้อานิสงส์จากการที่รัฐบาลยกเว้นค่าธรรมเนียม Visa on Arrival ให้หลายประเทศรวมทั้งอินเดีย

ทำให้ ททท.ปรับเป้าจากเดิมที่เราคิดว่าในส่วนของอินเดียจะได้ 2 ล้านคนในปี 2020 แต่ตอนนี้คิดว่าอินเดียน่าจะมาในปีนี้ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน ส่วนจีนขณะนี้สถานการณ์ทุกอย่างคลี่คลายไปแล้ว ตอนนี้มีปรากฏการณ์ใหม่ นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไม่ได้มาจากเมืองหลัก แต่มาจากเมืองรอง ขณะที่อาเซียน เราก็จะไปจัดงานในพื้นที่ตามแนวตะเข็บ เช่น แม่สอด สุรินทร์ สระแก้ว เพื่อให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวและมีการใช้จ่าย เพื่อที่จะสามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ตั้งแต่ต้นปี

สงครามการค้าสหรัฐ-จีน น่าจะส่งผลดีให้นักท่องเที่ยวจีนมาไทยมากขึ้น

ส่วนเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนนั้น ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า หลายคนพูดว่าสงครามการค้าน่าจะส่งผลตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป ซึ่งก็อาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวด้วย จากการหารือของ ททท.กับสำนักงานทั้ง 5 แห่งในจีน ก็ยังมองโลกในแง่ดีว่าสงครามการค้าน่าจะส่งผลดีทำให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยมากขึ้น

โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวกลุ่มบน ซึ่งในอดีตเขาเคยพาลูกไปซัมเมอร์ในสหรัฐ หรือประเทศในยุโรป แต่เนื่องจากข้อจำกัดหรือความยุ่งยากที่จะเกิดจากสงครามการค้า เขาอาจต้องมองหาที่ที่ตอบโจทย์เขาได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรักษาพยาบาล หรือการศึกษา ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่ในใจสำหรับคนที่ต้องการจะเลือกเดินทางอยู่แล้ว ดังนั้นก็เลยคิดว่าตรงนี้น่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนกลับมาเติบโตอย่างมั่นคง ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปีนี้เป็นต้นไปจนถึงปลายปี

 

เชื่อมโยงอาเซียนให้เป็นหนึ่งภูมิภาคในการท่องเที่ยว

สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียนที่เพิ่งผ่านพ้นไป ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว คือ 1.การจะทำให้การท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียนเป็นภูมิภาคเดียว คือ ให้หลายๆ ประเทศมองอาเซียนเป็นหนึ่งภูมิภาคในการที่จะเดินทางท่องเที่ยวและเชื่อมโยงกัน 2.ปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทางทะเล ซึ่งเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมที่น่าจะมีผลต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย

เพราะดูจากข้อมูลสากลเราเป็นประเทศที่มีขยะในทะเลมากเป็นอันดับ 6 ในขณะที่เราขายท้องทะเล ชายหาดที่สวยงาม เป็นสินค้าทางการท่องเที่ยว ดังนั้นถ้าเราสามารถบริหารจัดการตามปฏิญญากรุงเทพฯ ได้ ก็จะช่วยสร้างความน่าสนใจได้และเกิดความยั่งยืนในส่วนนี้ต่อไป

3.นโยบายที่เรียกว่า Single Aviation Market การเปิดน่านฟ้าเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน ก็น่าจะเป็นผลดี ทำให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น ซึ่งในอดีตจะเป็นลักษณะการบินจากเมืองหลวงสู่เมืองหลวง แต่ต่อไปนี้จะเป็นการบินลักษณะเมืองสู่เมืองมากขึ้น

ชี้ ความต่อเนื่องของนโยบายท่องเที่ยว จะเป็นหัวใจที่ทำให้ประสบความสำเร็จ

ผู้ว่าการ ททท. กล่าวด้วยว่า พร้อมที่จะทำงานกับรัฐบาลใหม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาคนใหม่ในการขับเคลื่อนตามนโยบายตามที่รัฐมนตรีกำหนด แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความต่อเนื่องของนโยบาย ซึ่งน่าจะเป็นหัวใจที่ทำให้ประสบความสำเร็จในการดำเนินตามนโยบายต่อไป โดยต้องดูปัญหาเชิงโครงสร้างเรื่องการท่องเที่ยวของประเทศไทยก่อน

เพราะในประเทศเรายังมีความไม่สมดุลในเรื่องมิติของเวลา มิติเรื่องการกระจายเชิงพื้นที่ เช่น การกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวในบางเมืองหรือบางจังหวัด นักท่องเที่ยวยังนิยมเดินทางท่องเที่ยวเฉพาะวันหยุดหรือวันหยุดยาว ควรจะกระจายในวันธรรมดามากขึ้น ดังนั้นนโยบายในการลดความไม่สมดุลต่างๆ ควรดำเนินต่อไปในส่วนของตลาดในประเทศ

ส่วนตลาดต่างประเทศคิดว่าคงเป็นนโยบายการทำการตลาดแบบ Segmentation มุ่งเน้นกลุ่มคุณภาพ พยายามลดการบริหารความเสี่ยงในการพัฒนาตลาดใดตลาดหนึ่ง เพราะถ้าเกิดตลาดใดมีปัญหาขึ้นมา มันจะส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว และต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง Supply-Side ด้วย เพราะ Demand-side เราทำได้ดี จำนวนนักท่องเที่ยวเราเติบโต รายได้เราเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่อาจเป็นผลกระทบระยะยาว เช่น ปัญหาเรื่องความปลอดภัย ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมต่างๆ ควรได้รับการบูรณาการในการทำงานแก้ปัญหาอย่างจริงจัง @

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น