มาตรฐานความเป็นมืออาชีพสื่อมวลชนยุคดิจิทัลควรเป็นอย่างไร?

สื่อมวลชนยุคดิจิทัล

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมดูแลจริยธรรมวิชาชีพสื่อ จะครบรอบ 22 ปี ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2562 “ชาย ปถะคามินทร์” เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งสภาการหนังสือในการพิมพ์แห่งชาติ ในรายการ “ลับคมธุรกิจ” ทางคลื่นมิติข่าว 90.5 ว่า ในปี 2540 ที่มีการร่างรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 40 กำหนดให้มีองค์กรอิสระควบคุมดูแลสื่อมวลชน แต่สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ประชุมหารือกัน และขอให้สภาร่างรัฐธรรมนูญตัดมาตรานี้ออก

เพราะสื่อมวลชนตามหลักสากลทั่วโลกจะต้องมีความเป็นอิสระ และขณะนั้นก็มีแนวคิดที่จะก่อตั้งองค์กรขึ้นมาควบคุมดูแลสื่อด้วยกันเอง ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2540 เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฉบับภาษาไทย และภาษา 32 ฉบับ รวมทั้งองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสื่อ 10 องค์กร ได้ร่วมกันลงนามในบันทึกเจตนารมณ์จัดตั้ง “สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ” วัตถุประสงค์หลักคือ ควบคุมดูแลกันเองทางจริยธรรมวิชาชีพ เรื่องเสรีภาพ ความรับผิดชอบทั้งหลาย

ตั้ง”ombudsman” รับเรื่องร้องเรียนภายในองค์กร เพื่อร่นเวลาในการทำงานลง

“ชาย” กล่าวว่า ปัจจุบันองค์กรสมาชิกของเราก็ยังเป็นหนังสือพิมพ์อยู่ แต่เกือบทั้งหมดจะมีเว็บไซต์และฉบับออนไลน์ด้วย ซึ่งจะมีสมาคมผู้สื่อข่าวออนไลน์ดูอีกชั้นหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่องค์กรสมาชิกของเราที่เป็นตัวหนังสือพิมพ์ก็ยอมรับในธรรมนูญที่เราร่างขึ้น คือเราจะกำกับดูแลหนังสือพิมพ์ทั้งที่เป็นกระดาษและเว็บไซต์ โดยสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้ปรับปรุงธรรมนูญค่อนข้างเยอะ ช่วงปี 2558-2559 จนถึงปัจจุบัน

ล่าสุด ได้ตั้งองค์กรที่เรียกว่า “ombudsman” หรือคณะกรรมการพิจารณารับเรื่องร้องเรียนภายในองค์กร จากเดิมประชาชนผู้บริโภคสื่อ หรือประชาชนผู้ได้รับความเสียหายและผลกระทบจากการเสนอข่าว ที่ผ่านมาก็จะมาร้องเรียนที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จากนั้นสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติก็จะส่งเรื่องไปให้องค์กรสมาชิกที่เกี่ยวข้องพิจารณาชี้แจง แก้ไข เช่น ถ้าร้องเรียนเดลินิวส์ ก็จะส่งเรื่องไปที่เดลินิวส์ โดยมีกรอบระยะเวลากำหนดไว้

แต่ปัจจุบันแต่ละองค์กรก็จะมี ombudsman ของแต่ละองค์กร โดยมีบุคคลภายนอกเข้าร่วมพิจารณาด้วย เพื่อร่นเวลาในการทำงานลง ถ้าผู้เสียหายพอใจแนวทางการเยียวยาก็จบ แต่ถ้าผู้เสียหายยังไม่พอใจก็สามารถร้องเรียนต่อคณะกรรมการจริยธรรมของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้ ซึ่งจะมีบุคคลภายนอกมากกว่าคนใน และตัวประธานก็จะเป็นบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่คนในแวดวงสื่อ ถ้าคณะกรรมการจริยธรรมมีมติอย่างไร ก็จะส่งให้กรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติชุดใหญ่พิจารณา ก็จะถือเป็นจุดสิ้นสุด

บทลงโทษองค์กรสมาชิก ไม่ได้ใช้กฎหมาย แต่ใช้การรับผิดชอบทางจริยธรรม

สำหรับบทลงโทษองค์กรสมาชิกที่ละเมิดจริยธรรม “ชาย” บอกว่า เราไม่ได้ใช้กฎหมายกำกับดูแลกัน แต่เรียกว่าการรับผิดชอบทางจริยธรรม คือ 1.การตักเตือนผู้ละเมิดให้ทราบว่ามีการละเมิดจริยธรรม 2.ตีพิมพ์คำวินิจฉัยของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ 3.ตีพิมพ์คำวินิจฉัยพร้อมคำขอโทษ ที่ผ่านมายังไม่ถึงขั้นที่ 3 เคยมีถึงขั้นที่ 2

ส่วนที่มีการวิจารณ์ว่าการกำกับดูแลโดยสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติยังไม่ค่อยได้ผลนั้น “ชาย” ชี้แจงว่า ที่มาของเราคือการมารวมตัวของเจ้าของหนังสือพิมพ์ด้วยความสมัครใจที่จะกำกับดูแลกันเอง ไม่มีกฎหมายลงโทษ ไม่เหมือนวิชาชีพอื่น เช่น ทนายความ หรือ แพทย์ ที่เขาจะมีกฎหมายชัดเจน เพราะสื่อต้องมีเสรีภาพ อิสระ อยู่ในระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องอยู่บนความรับผิดชอบ ซึ่งก็มักจะมีคำถามว่าถ้าองค์กรสมาชิกไม่ทำตามจะทำอย่างไร

ที่ผ่านมา องค์กรสมาชิกยอมรับในสิ่งที่คณะกรรมการมีมติออกไปเกิน 80% มีบ้างบางรายที่ไม่ยอมรับ และกรณีที่ลาออกไปไม่ใช่เพราะไม่พอใจมติ แต่ไม่พอใจที่มีการนำมติมาเผยแพร่ก่อน ส่วนใหญ่ก็จะยอมรับ บอกให้แก้ไข ปฏิบัติอย่างไร ก็ทำตามเกือบจะทั้งหมด

สื่อมวลชนยุคดิจิทัล

“ความรับผิดชอบ-กรอบจริยธรรม” คือความแตกต่างระหว่างสื่อมืออาชีพกับสื่อสมัครเล่น

ในยุคที่ใครๆ ก็เป็นสื่อได้ เป็นนักข่าวได้ เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า ความแตกต่างของสื่อมืออาชีพกับสื่อสมัครเล่น เบื้องต้นก็คือเรื่องความรับผิดชอบ ถ้าจะก็อปปี้ข่าวใครมาก็ต้องมีการอ้างอิง บอกว่าเอามาจากไหน แต่ถ้าเป็นใครก็ไม่รู้ก็อปปี้ข่าวหลายๆ ข่าวมาตัดแปะ แล้วมาเพิ่มเติมเสริมความเห็นความรับผิดชอบเบื้องต้นก็ผิดกันแล้ว สิ่งที่มีมากกว่านั้นคือกรอบจริยธรรมวิชาชีพ จะระบุเลยว่าที่มาของข่าวต้องทำอย่างไร การนำเสนอต้องเป็นธรรม ถ้าฝ่ายหนึ่งได้พูดอีกฝ่ายก็ควรได้พูด

ถ้าเป็นสื่อมืออาชีพที่เป็นองค์กรจะมีเรื่องพวกนี้ แต่ถ้าเป็นใครก็ได้มาทำ เพื่อเรียกยอดไลค์ ยอดแชร์ ยอดวิว ถ้ามีความผิดพลาดเกิดขึ้น เขาก็จะปิดเว็บหนีเลย สำหรับมาตรฐานความเป็นมืออาชีพของสื่อยุคดิจิทัลนั้น ในช่วงที่แก้ไขธรรมนูญ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้เชิญอาจารย์จากหลายมหาวิทยาลัยมาคุยเรื่องข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ทั้งเรื่องจริยธรรมทั่วไป ความถูกต้อง ข้อเท็จจริง ประโยชน์สาธารณะ ความสมดุลและเป็นธรรม การเคารพสิทธิส่วนบุคคลและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การปกปิดและเคารพแหล่งข่าว ความรับผิดชอบในการนำเสนอข่าว การแยกแยะข้อเท็จจริงกับความคิดเห็น การละเว้นอามิสสินจ้าง ประโยชน์ทับซ้อน การได้มาซึ่งข้อมูลโดยไม่ละเมิด การโฆษณาแอบแฝงเรื่องงมงาย ทั้งหมดมี 30 ข้อ

ครบรอบ 22 ปี สภาการหนังสือพิมพ์ฯ 4 ก.ค.นี้ มีปาฐกถาพิเศษ อภิปรายกลุ่มย่อย

“ชาย” กล่าวว่า ในโอกาสครบรอบ 22 ปี สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ วันที่ 4 กรกฎาคมนี้ มีการจัดงานที่ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน โรงพยาบาลวชิระ จะมีการปาฐกถาพิเศษเรื่อง “มาตรฐานความเป็นมืออาชีพของสื่อมวลชนในยุคดิจิทัล” โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี มีการอภิปรายกลุ่มย่อยในหัวข้อ “สื่อ…การปรับตัว และมาตรฐานความเป็นสื่อมืออาชีพ” ผู้ร่วมอภิปราย ได้แก่ “ก้าวโรจน์ สุตาภักดี” นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์, “วโรรส โรจนะ” นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย, “ไตรลุจน์ นวะมะรัตน” นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย และ รศ.ดร.อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาเอก คณะนิเทศศาสตร์ นิด้า โดยมี ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ อดีตคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งการปาฐกถาพิเศษจะเริ่มเวลา 13.15 น. ขอเชิญชวนประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังมุมมองต่างๆ ในยุคที่สื่อต้องปรับตัวอย่างมโหฬาร โดยสามารถไปลงทะเบียนได้ที่หน้างาน @

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น