นักเศรษฐศาสตร์เตือน ระวัง!! ใช้จ่าย/ลงทุน เหตุเศรษฐกิจชะลอตัว ฟื้นยาก

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ภัทร เผย แนวโน้มเศรษฐกิจไทยชะลอตัว คาด ปีนี้โต 3.3% แนะ ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย การลงทุน ขณะที่บาทแข็ง เพราะทุนต่างประเทศไหลเข้า เพื่อหาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย

เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเป็นอย่างไร เมื่อได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก ทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ รวมทั้งปัจจัยภายในอย่างการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวในรายการ “ลับคมธุรกิจ” ทางคลื่นมิติข่าว 90.5 ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง อาจไม่ถึงขั้นแย่หรือหดตัว แต่การเจริญเติบโตมีแนวโน้มช้าลง จากปีที่แล้วเศรษฐกิจไทยโตช่วงครึ่งปีหลังประมาณ 4.8% แล้วชะลอตัวลงมาในช่วงครึ่งหลังของปี

ส่วนไตรมาสที่ 1 ของปีนี้เศรษฐกิจโตแค่ 3% ทั้งปีเรามองว่าน่าจะโตสัก 3.3% ชะลอลงมาจากปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจาก 2-3 เรื่องใหญ่ เพราะปีที่แล้วตัวที่ผลักดันเศรษฐกิจไทยให้โตเยอะมาจากเรื่องส่งออก การท่องเที่ยว และการบริโภคในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะยอดขายรถยนต์ และเราเริ่มเห็นสัญญาณว่าเครื่องจักรที่ขับดันเศรษฐกิจไทยหลายๆ ตัวเริ่มแผ่ว เช่น ส่งออกติดลบไปแล้วตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ติดลบไป 2% กว่าๆ

การท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องจักรที่แรงขึ้นมาค่อนข้างเยอะในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็เริ่มแผ่ว ถึงแม้หลายคนจะบอกว่าการท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นมาแล้ว แต่มันก็ไม่โต ซึ่งอาจจะถูกผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รวมทั้งสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐก็มีผล เพราะทำให้ความมั่นใจในแง่ของเศรษฐกิจลดลง ทำให้คนระมัดระวังการใช้เงินมากขึ้น

บาทแข็ง เพราะทุนต่างประเทศไหลเข้ามา เพื่อหาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย

การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าในขณะนี้ ดร.พิพัฒน์ กล่าวว่า มีผลกระทบต่อการส่งออกซึ่งเป็นเครื่องจักรสำคัญของเศรษฐกิจไทย และค่าเงินก็มีผลต่อราคาสินค้าในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเกษตร เพราะเวลาไปขายที่ตลาดโลก เราขายในเงินตราต่างประเทศ เมื่อแปลงเป็นเงินบาท เงินที่ได้ก็จะลดลง เนื่องจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ก็จะกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรโดยตรง ช่วงนี้เราจะเห็นแรงกดดันที่เข้ามาในประเทศค่อนข้างเยอะในแง่ของเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น

ซึ่งเป็นผลมาจากธนาคารกลางประเทศต่างๆ แสดงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอทั่วโลก ทั้งธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ธนาคารกลางยุโรป หรืออีซีบี รวมทั้งญี่ปุ่น ก็ออกมาแสดงท่าทีพร้อมจะกระตุ้นเศรษฐกิจถ้ามีความจำเป็น ที่เห็นคืออัตราดอกเบี้ยทั่วโลกปรับลดลงหมดเลย สิ่งที่เฟดสื่อสารออกมาคือปิดประตูขึ้นดอกเบี้ย และมีโอกาสที่จะลดด้วยถ้ามีความจำเป็น ทำให้ตลาดมองว่าถ้าแนวโน้มเศรษฐกิจกำลังจะชะลอ เฟดพร้อมเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดดอกเบี้ย เพราะฉะนั้นทุกคนก็เลยแห่ไปซื้อพันธบัตร ทำให้อัตราดอกเบี้ยลดลงมาค่อนข้างเยอะ

ขณะที่ดอกเบี้ยของไทยอยู่เฉยๆ เราก็เลยเห็นเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาในประเทศ เพื่อหาส่วนต่างเรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่มันน่าสนใจขึ้น ทั้งนี้ เงินบาทตอนนี้อยู่ต่ำกว่า 31 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งครั้งสุดท้ายที่เห็นต่ำขนาดนี้คือปี 2013 และเมื่อดูในอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย คือ เมื่อเทียบกับ ปอนด์ เยน หรืออื่นๆ วันนี้เงินบาทอยู่ในจุดที่แข็งที่สุดในรอบหลายปี แนวโน้มก็คือมีคนที่อยากจะเอาเงินเข้ามาในประเทศมากกว่าเอาเงินออกไป ทำให้มีดีมานด์เยอะ

ซึ่งก็มี 2 สาเหตุใหญ่คือ 1.เรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ข้างนอกทยอยลด แต่เราอยู่เฉยๆ เลยทำให้ค่าเงินเราน่าสนใจขึ้น 2.มาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของเราที่เกินอยู่ค่อนข้างเยอะ เราเกิน 6-7% ของจีดีพี ซึ่งถือว่าค่อนข้างมาก หลายคนมองว่าเวลามีความเสี่ยงต่อประเทศเกิดใหม่ เจออะไรก็ตาม เมืองไทยกลายเป็น Safe Haven ไปแล้ว เข้ามาปลอดภัยแน่นอน เพราะการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดส่วนใหญ่มาจากการท่องเที่ยวด้วย ซึ่งไม่ค่อย sensitive ต่อสภาพเศรษฐกิจหรือค่าเงิน ค่าเงินแข็งขนาดไหนก็ยังมีคนเข้ามาเที่ยวเมืองไทย ก็เป็นรายได้ต่างประเทศที่ค่อนข้างสม่ำเสมอเข้ามา ก็ยิ่งผลักดันให้ค่าเงินบาทเราน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

ธปท.อาจแทรกแซงค่าเงิน หรือลดดอกเบี้ย เพื่อแก้ปัญหาบาทแข็ง

ดร.พิพัฒน์ กล่าวว่า สถานการณ์เงินบาทแข็งค่านั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.คงดูแลอยู่ ถ้าเราเจอสถานการณ์ที่เป็นแรงกดดันจากภายนอกเข้ามา ก็อาจมีนโยบาย 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ 1.แทรกแซงค่าเงิน เพื่อที่จะลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เข้าใจว่า ธปท.กำลังทำอยู่ แต่ทำมากก็คงไม่ได้ 2.อาจมีคนเริ่มดูว่า ธปท.ต้องลดดอกเบี้ยหรือไม่ เพื่อลดความน่าสนใจของค่าเงินบาทในแง่ของการให้ผลตอบแทน หลายคนก็คงต้องกลับไปดูว่าเหมาะสมหรือไม่ในสถานการณ์ปัจจุบัน ถ้าเราเห็นเศรษฐกิจเริ่มแย่ลง เงินเฟ้อชะลอตัวลง ค่าเงินบาทแข็งขึ้น แต่ ธปท.อาจมองว่าอัตราดอกเบี้ยถ้าต่ำเกินไปและต่ำเป็นเวลานาน อาจมีผลต่อเสถียรภาพของระบบการเงินก็ได้ ซึ่งตรงนั้นก็เป็นต้นทุนของการลดดอกเบี้ย เพราะตอนนี้สิ่งที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. กำลังพิจารณา เข้าใจว่าคงต้องชั่งน้ำหนักผลดี ผลเสียอย่างไร และจะออกมาตรการอะไรออกมา เพื่อดูแลปัญหาเสถียรภาพทางการเงิน ถ้ามีความจำเป็นจะต้องลดดอกเบี้ยจริงๆ

สิ่งแรกที่รัฐบาลควรทำ คือสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน-ผู้บริโภคว่าแนวนโยบายจะมุ่งไปทางใด

สำหรับสิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือรัฐมนตรีเศรษฐกิจควรให้ความสำคัญนั้น ดร.พิพัฒน์ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องทำคือสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนและผู้บริโภค ซึ่งความมั่นใจของนักลงทุนและผู้บริโภค ก็มีปัจจัยเรื่องเสถียรภาพทางเมืองมาเกี่ยวพอสมควร เราเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่ตอนนี้ยังไม่ได้ตั้ง ครม. แม้จะเห็นภาพของรัฐมนตรีชัดขึ้นเรื่องๆ ทำให้มีการตั้งคำถามว่านโยบายที่ทำมาในอดีตจะสานต่อหรือไม่ จะเปลี่ยนทิศหรือไม่ งบประมาณจะมีแนวนโยบายอย่างไร จะตั้งเป้าหมายขาดดุลเท่าไร จะกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ จะเอาไปลงภาคส่วนไหน อย่างไร

เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำได้แรกๆ คือสร้างความมั่นใจตรงนี้ว่าแนวนโยบายรัฐบาลจะมุ่งไปในทางใด สร้างความมั่นใจความต่อเนื่องเชิงแนวนโยบายและตัวแนวนโยบาย ส่วนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เป็นโปรเจกต์ขนาดใหญ่ ต้องใช้เวลา 5-6 ปีกว่าจะก่อสร้างเสร็จและเห็นทุกโครงการ เมื่อมีรัฐบาลใหม่ก็คงมีการตั้งคำถามว่า EEC เป็นนโยบายรัฐบาลเก่า รัฐบาลใหม่จะให้ความสำคัญในระดับเดิมหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นโครงการที่ใช้ใน 3-4 จังหวัดซึ่งมีรายได้ต่อหัวสูงสุดในประเทศอยู่แล้ว ถ้ามีพรรคร่วมรัฐบาลเกี่ยวข้องด้วย งบประมาณจะถูกนำไปใช้ใน priority แบบเดิมหรือไม่ หรืออยากให้เอาไปใช้ในจังหวัดอื่นบ้างก็ต้องทำให้นักลงทุนเห้นชัดขึ้นว่าแนวนโยบายต่อไปควรมีหน้าตาอย่างไร

มาตรการกระตุ้นศก. “ช็อปช่วยชาติ” ควรประเมินมีผลต่อศก.อย่างไร และใครที่ได้ประโยชน์

ดร.พิพัฒน์ ยังกล่าวถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการปลุกกระแสการใช้จ่าย อย่าง “ช็อปช่วยชาติ” ว่า นโยบายแบบนี้จะมีปัญหาดังนี้ 1.พอใช้บ่อยๆ คนก็จะคาดหวังว่าจะเกิดขึ้นอีก ก็อาจมีเรื่องการขอยืมดีมานด์ในอนาคตมาใช้ในปัจจุบัน ใช้เสร็จแล้วก็ไม่ใช้ต่อ หรือเลื่อนดีมานด์ในปัจจุบันไปใช้ในอนาคต เช่น สิ้นปีรู้ว่ามีช็อปช่วยชาติ เพราะฉะนั้นช่วงนี้ก็รอ การกระตุ้นก็ไม่ได้กระตุ้นจริงๆ เพราะเป็นการยืมดีมานด์มาใช้ ใช้เสร็จก็ไม่ใช้แล้ว

2.บางอย่างเป็นการใช้จ่ายในสินค้านำเข้า แม้จะมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจริง แต่ผลต่อ value added ต่อเศรษฐกิจอาจมีไม่เยอะ เพราะ value added จริงๆ มันไหลออกไปกับสินค้านำเข้า เพราะฉะนั้นก็อาจไม่ได้ช่วยกระตุ้นจริง และเราก็จ่ายต้นทุนเป็นภาษีที่หายไปเยอะกว่า benefit ที่เราได้ในฐานะของเศรษฐกิจที่โตขึ้น

3.ประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เรื่องช็อปช่วยชาติ ปกติคนที่ได้ประโยชน์คือคนที่มีฐานภาษีสูงกว่า ถ้าใช้จ่ายเท่ากัน คนที่มีฐานภาษีสูงกว่าก็จะได้รับส่วนลดเยอะกว่า ต้นทุนต่อรัฐก็จะสูงขึ้นมากกว่า เมื่อเทียบกับคนที่มีรายได้น้อยกว่า ก็จะมีคำถามว่าคนกลุ่มนี้หรือไม่ที่ต้องการให้กระตุ้น หรือจะมีการใช้จ่ายแบบอื่นที่ตรงกว่า กระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีกว่า มีผลต่อการกระจายรายได้ที่ดีกว่านี้ และน่าจะมีการประเมินว่าการใช้มาตรการนี้ใครได้ประโยชน์บ้าง มีผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร มีคนใช้กี่คน คนเหล่านั้นเป็นใคร มีความคุ้มค่าเรื่องการใช้จ่ายขนาดไหน

แนะ ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย การลงทุน ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว

ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจชะลอตัว ประชาชนจะต้องปรับตัวอย่างไร ดร.พิพัฒน์ กล่าวว่า จะต้องระมัดระวังการใช้จ่ายในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะปัจจุบันที่มีความเสี่ยงที่อาจจะเห็นเศรษฐกิจชะลอตัวลงได้ การทำธุรกิจก็ต้องดูทิศทางแนวโน้ม ซึ่งในแต่ละธุรกิจก็อาจมีภาพที่ต่างกัน และบางธุรกิจอาจขยายตัวในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวได้ ดังนั้นต้องระมัดระวังมากขึ้นในการตัดสินใจลงทุน พิจารณาปัจจัยเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเราเชื่อว่า 2 ปีหลักๆ ที่เศรษฐกิจจะชะลอ และอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับต่ำสักระยะหนึ่ง @

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น