เตรียมปรับลดเป้าเศรษฐกิจ กสิกรไทยมองต่ำ 3.2%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เตรียมปรับลดจีดีพี ปี 62 จาก 3.7% เหลือ 3.2% หรือต่ำกว่า หลังส่งออกไม่ได้ตามเป้า 3% ขณะที่รัฐบาลไม่น่าผ่านงบฯ ปี 63 ออกมาทันใช้ในเดือน ต.ค.นี้

จากปัจจัยภายในเรื่องสถานการณ์การจัดตั้งรัฐบาล และปัจจัยภายนอก หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด มีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 2.25-2.50% ในการประชุมเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไรนั้น “ดร.เชาว์ เก่งชน” กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวในรายการ “ลับคมธุรกิจ” ทางคลื่นมิติข่าว 90.5 ว่า ปัจจัยภายนอกในช่วงที่ผ่านมาน่าจะตีความในเชิงบวกได้ โดยธนาคารกลางยุโรปก็ส่งสัญญาณว่าถ้าจำเป็นเขาก็สามารถดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายได้เพื่อผลักดันเศรษฐกิจ

ส่วนทางสหรัฐ แม้จะคงอัตราดอกเบี้ย แต่ก็ระบุชัดเจนว่าพร้อมที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ ซึ่งตลาดได้ให้น้ำหนักไปแล้ว 100% ว่าในรอบหน้าเดือนกรกฎาคม ตลาดเชื่อว่าเฟดจะลดดอกเบี้ย และในเดือนกันยายน ตลาดให้น้ำหนักไปถึง 80% ซึ่งตลาดมีมุมมองลดดอกเบี้ย 2 ครั้งไปแล้ว ซึ่งมุมมองเช่นนี้ก็ปรับตลาดหุ้นทั่วโลกขึ้น รวมถึงบ้านเราด้วย อีกประเด็นซึ่งถือว่าน่าจะเป็นเชิงบวกได้ คือการที่ผู้นำสหรัฐกับจีนสามารถตกลงกันได้ว่าจะพบปะเจรจากันในการประชุมจี 20 ที่ประเทศญี่ปุ่นช่วงปลายเดือนนี้ ก็ถือว่าเป็นข่าวดี

อย่างน้อยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าสหรัฐคงจะไม่ปรับขึ้นอัตราภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้าในส่วนที่เหลือของจีนอีกประมาณ 3 แสนล้านดอลลาร์ จากที่ขึ้นไปแล้วก่อนหน้านี้ประมาณ 2 แสนล้านดอลลาร์ ถึงแม้ว่าการพูดคุยในจี 20 จะไม่ได้นำมาสู่การยกเลิกมาตรการที่ดำเนินไปแล้ว

แต่ส่วนที่เพิ่มขึ้นมาใหม่คิดว่ายังจะรอไว้ก่อน ยังมีการพูดคุยกันต่อไป ซึ่งตลาดก็ตอบรับในมุมมองเชิงบวกรวมถึงเรื่องดอกเบี้ย เรื่องนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุน ต่อความเชื่อมั่นให้ดีขึ้น ดูได้จากดัชนีหุ้น ดูจากเรื่องของค่าเงิน ที่สะท้อนไปในมุมมองที่ดูดีขึ้นอย่างน้อยก็ในช่วงนี้

บาทแข็งกระทบเป้าส่งออกที่ตั้งไว้ 3% ขณะที่สงครามการค้าเป็นผลลบกับไทย

สำหรับค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นนั้น “ดร.เชาว์” กล่าวว่า ถึงแม้จะดูดี แต่ก็ทำให้เกิดความกังวลต่อผู้ส่งออก เพราะอัตราการแข็งค่าของเงินบาทสูงมาก น่าจะแข็งค่าที่สุดสกุลหนึ่งในภูมิภาค ตอนนี้ทะลุระดับ 31 บาท/ดอลลาร์ ลงไปอยู่ที่ 30.9 บาท ก็เป็นประเด็นต่อการส่งออก ซึ่งก็ติดลบไปแล้ว ในช่วง 4 เดือนแรก เกือบ 2% ก็ยังไม่แน่ใจว่าทั้งปีจะได้ตามเป้าที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ 3% หรือไม่ ขณะที่สงครามการค้าจีน-สหรัฐ คิดว่าโดยรวมประเทศไทยคงจะถูกกระทบในเชิงลบมากกว่า

เพราะในการโยกย้ายฐานการลงทุนของคู่กรณี เขาทำด้วยความระมัดระวัง เพราะเขาต้องประเมินสถานการณ์ว่ามาตรการทางการค้าจะเป็นมาตรการชั่วคราว หรือเป็นมาตรการลากยาว ถ้าเป็นมาตรการชั่วคราว มีผลกระทบไม่นานนัก การย้ายฐานการลงทุนก็ไม่จำเป็นต้องทำ ซึ่งเขาก็คงต้องดูหลายๆ ด้าน และยังมีประเทศอื่นซึ่งเป็นตัวเลือกเหมือนกัน ไม่ใช่ประเทศไทยประเทศเดียว

ฉะนั้นผู้ลงทุนก็สามารถที่จะมีทางเลือกตัดสินใจได้หลายกรณี คิดว่าผลโดยรวมโดยสุทธิแล้ว ผลของสงครามการค้าน่าจะเป็นลบกับเรา ซึ่งเราก็เห็นมาแล้ว อย่างตัวเลขส่งออก ที่เราส่งออกไปคู่ค้าหลักอย่างจีนช่วง 4 เดือนแรก ก้ติดลบไปแล้ว 8%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเตรียมปรับลดจีดีพี ปี 62 เหลือ 3.2% หรือต่ำกว่า

“ดร.เชาว์” กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้ที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณการเศรษฐกิจปี 2562 เหลือแค่ 3.7% จากเดิมประเมินว่าน่าจะโตได้ 4% โดยตัวเลข 3.7% อยู่บนสมมติฐานว่าส่งออกอยู่ที่ 3.2% ซึ่งใกล้กับเป้าของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเราคิดว่าตัวเลข 3.2 ค่อนข้างยาก คิดว่าท้าทายค่อนข้างมาก เพราะ 4 เดือนแรกก็ติดลบไปแล้ว เราก็คงต้องปรับลดตัวเลขส่งออกของเราลงมา ซึ่งมันก็คงจะมีผลต่อตัวเลข 3.7 ด้วย

และอีกประการ รัฐบาลอาจไม่สามารถผ่านตัวงบประมาณปี 2563 ได้ที่จะทันใช้เดือนตุลาคม อาจจะเลื่อนออกไป ก็อาจมีผลต่อการเบิกจ่ายงบประมาณบางส่วน แต่คงไม่มีผลต่อเรื่องเงินเดือนข้าราชการ แต่มีผลต่อเงินที่จะอัดฉีดลงไปในระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นจากประเด็นเหล่านี้ ทำให้จีดีพีที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณการอยู่ที่ 3.7% อาจต้องปรับลง ซึ่งตัวเลขจะออกปลายเดือนนี้ ซึ่งตัวเลข 3.7 นั้นเป็นค่ากลาง

จากกรอบ 3.2-3.9 ตอนนี้ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะปรับลดลงไปอยู่ที่กรอบล่าง คือ 3.2 หรืออาจต่ำกว่ากรอบล่างนิดหน่อย ขอรอดูตัวเลขส่งออกเดือนพฤษภาคมของกระทรวงพาณิชย์ ที่จะออกในอีก 1-2 วันข้างหน้าก่อน ก็น่าจะยืนยันตัวเลขสุดท้ายของเราได้ประมาณสัปดาห์หน้า

เสนอผลักดัน RCEP ให้สำเร็จ จะเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เรื่องการส่งออกนั้น “ดร.เชาว์” กล่าวว่า มีทั้งส่วนที่เป็นระยะสั้นกับระยะยาว ซึ่งระยะสั้นอาจเป็นเรื่องของการตลาด ที่หน่วยงานราชการคงช่วยภาคเอกชนในการจัดการหรือการเปิดตลาดใหม่ๆ หรือการประชาสัมพันธ์แนะนำต่างๆ อยู่แล้ว ส่วนระยะกลางและระยะยาว หนีไม่พ้นเรื่องความสามารถในการแข่งขัน อีกส่วนหนึ่งจะเป็นเรื่องโครงสร้างข้อตกลงการค้าเสรีต่างๆ ที่อาจมีส่วนช่วยในเรื่องความสามารถในการแข่งขัน

ซึ่งการที่เราจะมีการประชุมสุดยอดอาเซียน ประเด็นหนึ่งที่คิดว่าทางการไทยควรจะผลักดัน น่าจะเป็นเรื่องข้อตกลง RCEP ที่เคยมีข้อตกลงกันไว้ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป ถ้าได้ข้อสรุป จะเป็นตัวอาเซียน 10 ประเทศ + 6 คู่ค้า ซึ่งมีข้อตกลงการค้าเสรีกับอาเซียนอยู่แล้ว แต่เอามาอยู่ในกรอบใหญ่ เป็น RCEP 16 ประเทศ ที่มีทั้ง จีน ญี่ปุ่น อาเซียน ถ้าทำได้ก็น่าจะเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งน่าจะเป็นผลดีในยามที่มีความไม่แน่นอนจากเรื่องสงครามการค้า

ทั้งนี้ การที่ประเทศไทยเรามีข้อตกลงการค้าเสรียิ่งมีมากน่าจะยิ่งดี เพราะในระยะยาว มันจะช่วยทำให้สถานะความสามารถในการแข่งขันถูกรองรับด้วยข้อตกลงการค้าเหล่านี้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์เรื่องการดึงดูดการลงทุน

ภาคธุรกิจมองรัฐบาลใหม่ทีละช็อต “แถลงนโยบาย-มาตรการศก.-โครงสร้างงบฯปี 63”

ส่วนการเข้ามาทำงานของรัฐบาลชุดใหม่ท่ามกลางปัจจัยลบที่รุมเร้านั้น “ดร.เชาว์” กล่าวว่า นักลงทุนคงติดตามเป็นระยะตามขั้นตอนที่จะต้องผ่านกระบวนการ เมื่อมี ครม. ก็ต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา หลังการแถลงนโยบาย ก็คงต้องติดตามมาตรการทางเศรษฐกิจ การดำเนินการว่ารัฐบาลจะผลักดันเรื่องอะไรบ้าง เรียงลำดับความสำคัญทางเศรษฐกิจอย่างไร มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาหรือไม่ หน้าตางบประมาณปี 2563 เป็นอย่างไร

ขณะที่กระทรวงการคลังก็ได้ศึกษาเรื่องนโยบายที่พรรคการเมืองได้หาเสียงไว้ เพื่อจัดเตรียมรายได้หรืองบประมาณที่จะรองรับแนวนโยบายเหล่านั้น ฉะนั้นก็คาดหวังไว้ในเชิงบวกได้ว่าคงจะมีมาตรการออกมา สุดท้ายจะขนาดเท่าไร ก็ขึ้นอยู่กับการจัดอันดับความสำคัญของ ครม.ทีมเศรษฐกิจ ส่วนประเด็นที่มองว่ารัฐบาลอาจไม่ค่อยมีเสถียรภาพ ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามลักษณะของสถานการณ์การเมืองไทยในรูปแบบนี้ แต่ก่อนเราก็เป็นแบบนี้มาแล้ว

ดังนั้นเรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่อยู่กับเศรษฐกิจ การเมืองไทย มาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งมองในแง่ดีว่ากฎกติกาภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ยังมีกฎกติกาที่ระบุไว้ให้มีความต่อเนื่อง คำนึงถึงเรื่องนี้ และระบุกลไกที่จะพยายามให้มีความต่อเนื่องไว้ ซึ่งน่าจะเป็นผลดี ดังนั้นตนเองคิดว่านักลงทุนหรือภาคธุรกิจคงจะมองทีละช็อต อย่างแรกคงดูการแถลงนโยบายก่อน ดูมาตรการทางเศรษฐกิจที่ออกมา ดูโครงสร้างงบประมาณ ว่ากันไปทีละจุด

มาตรการกระตุ้นศก. ถ้าต้องการผลเร็วให้ลงไปที่ผู้บริโภค ถ้าเน้นประสิทธิภาพการแข่งขัน จะเห็นผลช้า

สิ่งแรกที่รัฐบาลต้องทำหลังเข้ามานั้น “ดร.เชาว์” กล่าวว่า อยู่ที่การเรียงลำดับความสำคัญของประเด็นที่รัฐบาลจะให้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ถ้ารัฐบาลต้องการให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ทันใจ ได้เยอะๆ มาตรการที่ใช้ส่วนใหญ่ก็เป็นมาตรการที่ลงไปที่การบริโภค โดยเฉพาะถ้าผู้รับเงินเป็นผู้ที่มีรายได้ระดับกลางหรือระดับรากหญ้า เมื่อเขาได้เงินมาแล้วส่วนใหญ่เขามักจะใช้ เงินก็จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ค่อนข้างเร็ว

ซึ่งมาตรการลักษณะนี้อาจเป็นมาตรการระยะสั้น แต่ภาคธุรกิจอาจมองในมุมของการสร้างประสิทธิภาพของการดำเนินธุรกิจ เช่น ถ้าเราต้องการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจไทย มาตรการที่เราอยากเห็นอาจเป็นมาตรการส่งเสริมเรื่องการลงทุน เรื่องการอัพเกรดความสามารถในการผลิต อัพเกรดความรู้ของแรงงาน

แต่ผลของมาตรการในชุดเหล่านี้จะไม่รวดเร็วต่อเศรษฐกิจมากเหมือนกับมาตรการที่ลงไปที่ผู้บริโภค แต่ผลนั้นเล็งไปที่ประสิทธิภาพระยะยาวมากกว่า ซึ่งในที่สุดรัฐบาลจะเป็นคนตัดสินว่าต้องการให้เกิดผลในระยะสั้น ระยะกลาง หรือระยะยาว และให้น้ำหนักในแต่ละเรื่องอย่างไร เพราะโจทย์ทางการคลังนั้นมองได้หลายแง่ แล้วแต่วัตถุประสงค์ของนโยบาย @

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น